“อาคม” ย้ำ การดำเนินธุรกิจคริปโทฯ ต้องไม่กระทบระบบการเงินประเทศ

“อาคม” ย้ำ การดำเนินธุรกิจคริปโทฯ ต้องไม่กระทบระบบการเงินประเทศ

“อาคม”ย้ำนโยบายรัฐบาลต้องการส่งเสริมธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลหรือคริปโทเคอร์เรนซี แต่ต้องไม่กระทบระบบการเงินในประเทศ ยันแนวทางจัดเก็บภาษีจะแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนนี้ โดยรูปแบบการยื่นแบบจะต้องสะดวกต่อผู้เสียภาษี

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานสัมมนาหัวข้อ The big issue 2022:อนาคต Crypto Thailand ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ว่า เรื่องการจัดเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัลเริ่มมาตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งรัฐบาล ได้เล็งเห็นความสำคัญเรื่องของฟินเทค โดยเฉพาะพัฒนาการสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ไม่ว่า เทคโนโลยีหรือธุรกรรม ทำให้เกิดความท้าทายในการกำกับดูแลเพื่อดูแลในเรื่องของแนวทางปฏิบัติของธุรกิจด้านนี้ และดูแลเรื่องของผู้บริโภคด้วย

ทั้งนี้ เรื่องของสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น ในหลายประเทศมีแนวนโยบายของตัวเองในการกำกับดูแล กรณีของเราไม่ได้นิ่งนอนใจในกฎหมายที่กำหนด โดยให้สำนักงานก.ล.ต.เป็นผู้กำหนดบทบาทในการกำกับดูแล ซึ่งก.ล.ต.และคลังก็มีการติดตามพัฒนาการสินทรัพย์ดิจิทัลและหารือต่อเนื่องเกี่ยวกับแนวนโยบายเพื่อรองรับธุรกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่ รวมทั้ง การส่งเสริมพัฒนาด้านเทคโนโลยีและการประกอบธุรกิจ ที่สำคัญคือ การคุ้มครองผู้ลงทุน ซึ่งยึดแนวทางส่งเสริมแบบสมดุล

ส่วนประเด็นการจัดเก็บภาษีนั้น ที่จริงแล้วไม่ได้ริเริ่มในปีนี้ แต่เริ่มจากการออกกฎหมายในปี 2561 ซึ่งเริ่มให้มีการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและเงินได้นิติบุคคลมาโดยตลอด เพียงแต่ว่า ธุรกรรมที่มีมากขึ้น ทั้งการซื้อขาย เอ็กเชง หรือ โบรกเกอร์ต่างๆ และการระดมทุนผ่านไอพีโอ ซึ่งกระทรวงการคลังก็ได้ระดมความคิดเห็นจากหน่วยงานเกี่ยวข้องเพื่อรวบรวมประเด็นปัญหาที่เกี่ยวกับการชำระภาษีในการยื่นแบบ รวมทั้ง ข้อเสนอแนะต่างๆ จากภาคเอกชน ซึ่งจะเป็นแนวทางการคำนวณภาษีเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมาย ซึ่งจะสร้างความเป็นธรรม โดยไม่สร้างความยุ่งยากให้กับประชาชนและผู้มีเงินได้

“จริงๆ แล้วตามกฎหมายปี 2561 ได้กำหนดเรื่องของภาระภาษีและจัดเก็บมาเรื่อยๆ แต่ปีที่แล้วอาจจะเป็นไปได้ว่า การประชาสัมพันธ์กฎหมายฉบับนี้ไม่ทั่วถึงเท่าไหร่ อาจทำให้คลาดเคลื่อนว่าเป็นภาษีตัวใหม่ ฉะนั้น เป็นประเด็นหารือตลอดระยะเวลา 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อวานก็มีการหารือ ก็มีข้อเสนอแนะดีๆ ส่วนใหญ่อยากให้เป็นการส่งเสริม ซึ่งแนวนโยบายภาษีก็มีทั้งส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรม และไม่ส่งเสริมให้มีการใช้ อยากเรียนว่า จะได้ข้อสรุปภายในสิ้นเดือนนี้”

กระทรวงการคลัง ให้ความสำคัญกับการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับการสร้างระบบเศรษฐกิจ โดยที่ไม่กระทบต่อระบบการเงินในปัจจุบัน นี่คือ สิ่งสำคัญ ซึ่งที่ผ่านมา ก็ได้มีการติดตามการเติบโตในการลงทุน และการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลมาโดยตลอด เนื่องจากเป็นธุรกรรมที่มีศักยภาพในการเติบโตและเป็นรากฐานเทคโนโลยีที่สำคัญในการทำธุรกรรมที่ไม่ผ่านตัวกลาง ซึ่งทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีในระดับสูงในอนาคต ดังนั้น แนวทางการส่งเสริมได้พิจารณาแนวทางและแนวปฏิบัติของประเทศต่างๆ ที่ได้ดำเนินการมาปรับใช้กับบริบทของประเทศไทยที่เกี่ยวกับการดำเนินนโยบาย การกำกับดูแลธุรกิจ ซึ่งต้องดูแลคุ้มครองผู้ลงทุนและมาตรฐานการทำธุรกิจ

ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีดิจิทัล ยังคงยึดแนวทางของการถือเอาผู้เสียภาษีเป็นศูนย์กลาง เพื่อสร้างความเป็นธรรมกับผู้เกี่ยวข้องและนักลงทุน เพื่อส่งเสริมการลงทุนและสร้างแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจจากนวัตกรรมทางการเงินดังกล่าว และจะทำอย่างไรให้การซื้อขายและการระดมทุนผ่านไปสู่เรื่องของธุรกิจกับอุตสาหกรรม ซึ่งรัฐบาลมีเป้าหมายส่งเสริมอุตสาหกรรม 12 เป้า ซึ่งดิจิทัลก็เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย

“เราได้กำชับในหลักการของการเสียภาษีนั้น เรายึดให้เกิดความสะดวก ไม่ยุ่งยากกับผู้เสียภาษี ประเด็นสำคัญ คือ การประเมินรายได้ ที่เกิดจากการเทรด ก็ได้รับฟังความเห็นและกำหนดเป็นแนวทางประเมินตรงนี้ ซึ่งจะมีรายละเอียดภายในเดือนนี้”

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์