แนวโน้มเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทยปี 2565-67

หากพิจารณาปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาคที่ส่งผลต่อกิจกรรมในภาคอุตสาหกรรมของไทย เราคงปฏิเสธไม่ได้ที่จะต้องคำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจโลกในช่วงปี 2565-2567 ที่มีแนวโน้มเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

โดยธุรกิจจะหันมาใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมมากขึ้น ภาคอุตสาหกรรมหันมาเน้นการบริการเพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างความแตกต่างให้ตัวสินค้า ขณะเดียวกัน ห่วงโซ่การผลิตของโลกจะสั้นลงจากการกีดกันทางการค้าและการหันมาพึ่งพาตนเอง โดยมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ในอุตสาหกรรมต้นน้ำและหันมาพึ่งพาแหล่งวัตถุดิบในภูมิภาคเดียวกันมากขึ้น

เมื่อมองเศรษฐกิจไทยในช่วง 3 ปีข้างหน้า วิจัยกรุงศรีคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 3.7% ต่อปี ปัจจัยหนุนไม่เพียงมาจากความก้าวหน้าในการฉีดวัคซีน แต่ยังมาจากการฟื้นตัวของภาคส่งออกผ่านการฟื้นตัวของอุปสงค์โลกและประเทศคู่ค้า การรวมกลุ่มระหว่างประเทศภายในภูมิภาคเดียวกัน โดยเฉพาะ RCEP และการเข้าสู่วัฎจักรการลงทุน โดยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวม

ทางด้านปัจจัยแวดล้อมในภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรม ปัญหาเชิงโครงสร้างยังคงบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย ดัชนีชี้วัดความสามารถในการแข่งขันของไทย ปี 2564 อยู่ที่อันดับ 28 ทรงตัวใกล้เคียงกับปี 2563 (อันดับ 29) แม้ว่าไทยจะมีพัฒนาการดีขึ้นในด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ และการจัดการทางธุรกิจ แต่การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 กระทบภาคท่องเที่ยวรุนแรง ขณะที่ปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐานมีความคืบหน้าน้อยมาก ส่วนด้านทักษะทางเทคโนโลยี/ดิจิทัล ไทยมีอันดับต่ำกว่าสิงคโปร์และมาเลเซียค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากไทยขาดแคลนบุคลากรที่มีคุณภาพซึ่งกระทบต่อเนื่องถึงการพัฒนาสิทธิบัตรและนวัตกรรมใหม่ ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาความพร้อมของกำลังแรงงานเพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบต่างๆ ก็มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมต่างๆ เช่นกัน ได้แก่ การปรับเกณฑ์ด้านอสังหาริมทรัพย์ การปรับแผนและเกณฑ์ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มาตราการด้านการท่องเที่ยว หรือมาตราการทางการเงิน เป็นต้น

วิจัยกรุงศรีมองว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมของไทยในช่วง 2565-2567 จะทยอยฟื้นตัวในอัตราที่แตกต่างกันในแต่ละอุตสาหกรรม โดยอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะฟื้นตัวได้เร็ว มีดังนี้
•    อุตสาหกรรมยานยนต์ จากความต้องการรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ของตลาดภายในประเทศเพิ่มขึ้น อีกทั้ง ตลาดส่งออกก็ได้รับแรงสนับสนุนจากการที่ญี่ปุ่นใช้ไทยเป็นฐานผลิตเพื่อส่งออกให้กับประเทศในกลุ่มอาเซียน 
•    อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ความต้องการฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่มีความจุสูงเพื่อรองรับการใช้งาน Cloud computing และ Data center ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และความต้องการแผงวงจรรวมเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของยอดขายเซมิคอนดักเตอร์โลก การลงทุนโครงข่าย 5G และรถยนต์ไฟฟ้า 
•    ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ความต้องการใช้บริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากเทรนด์ที่คนหันมาใส่ใจในสุขภาพ รวมทั้งกลุ่มผู้สูงอายุที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจึงต้องการบริการการแพทย์ที่ต่อเนื่องและซับซ้อน รวมทั้งกลุ่มผู้ป่วยต่างชาติน่าจะทะยอยกลับมาหลังเปิดประเทศ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการรายใหญ่ยังมีแผนขยายการให้บริการให้ครอบคลุมกลุ่มลูกค้ามากขึ้นผ่านการขยายสาขาและเพิ่มพันธมิตร
•    ธุรกิจบริการดิจิทัลและซอฟต์แวร์ จากการพัฒนาโครงข่ายเทคโนโลยี 5G ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ของภาครัฐ แนวโน้มการลงทุนด้านซอฟต์แวร์และระบบ Cloud IT ของภาคเอกชนที่จะเร่งตัวขึ้นในช่วงของการฟื้นฟูธุรกิจ และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่หันมาทำธุรกรรมผ่านออนไลน์มากขึ้น
ส่วนอุตสาหกรรมที่อาจจะฟื้นตัวได้ช้ากว่าอุตสาหกรรมอื่น เนื่องจากความต้องการแปรผันตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ได้แก่ อุตสาหกรรมโรงแรม ซึ่งคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะฟื้นกลับมาเท่ากับระดับก่อนเกิดการระบาดประมาณปี 2568 และอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งคาดว่ายอดขายจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากตลาดระดับกลางลงมายังฟื้นตัวได้จำกัดและสถาบันการเงินยังมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ
Reference: “แนวโน้มธุรกิจและอุตสาหกรรมไทยปี 2565-2567”
https://www.krungsri.com/th/research/industry/summary-outlook/outlook-2022-2024