“ญี่ปุ่น” ปรับแผนรุกอาเซียน ดันความริเริ่มลงทุนเพื่ออนาคต

“ญี่ปุ่น” ปรับแผนรุกอาเซียน ดันความริเริ่มลงทุนเพื่ออนาคต

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยอันดับ 1 ต่อเนื่องมานาน และญี่ปุ่นกระจายซัพพลายเชนไปทั่วโลก โดยเฉพาะในอาเซียนที่เป็นฐานการลงทุนสำคัญ

ขณะนี้ญี่ปุ่นได้ประกาศนโยบาย Asia-Japan Investing for the Future Initiative หรือ AJIF ในเดือน ม.ค.2565 เพิ่มเติมจากนโยบาย Asia Energy Transition Initiative หรือ AETI ที่ประกาศไปเมื่อเดือน พ.ค.2564

กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม ประเทศญี่ปุ่น (เมติ) กำลังผลักดันแผน AJIF กับหลายชาติในเอเชียรวมถึงไทย ซึ่งทำให้ “ฮากิอูดะ โคอิจิ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเมติ เดินทางมาเยือนไทยเมื่อวันที่ 12 ม.ค.2565 พร้อมประกาศความร่วมมือกับหน่วยงานด้านการลงทุนของไทย ซึ่งเป็นการเดินทางมาเยือนไทยครั้งแรกของ “ฮากิอูดะ โคอิจิ” และเป็นการมาเยือนโดยรัฐมนตรีกระทรวงเมติในรอบ 5 ปี เพื่อกระชับความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างญี่ปุ่นและไทย
 

การผลักดันแผน AJIF และแผน AETI มีการให้เงินสนับสนุนเพื่อการเปลี่ยนผ่านพลังงานแก่กลุ่มประเทศในเอเชีย ที่เคยประกาศไปเมื่อต้นปี 2564 ซึ่งเป็นแนวทางหลักในการกำหนดทิศทางอนาคตการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน

แผนยุทธศาสตร์ AJIF มุ่งเน้นการลงทุนเพื่ออนาคตร่วมกับหุ้นส่วนเศรษฐกิจและเอกชนในกลุ่มประเทศ “อาเซียน” ภายหลังการระบาดของ “โควิด-19” ให้เติบโตด้วยเศรษฐกิจนวัตกรรมอย่างยั่งยืน รวมทั้งพัฒนาให้อาเซียนเป็นห่วงโซ่อุปทานระดับโลก รวมทั้งสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง และการพัฒนานวัตกรรมรวมทั้งการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านโครงสร้างพลังงานใหม่เพื่อมุ่งสู่การปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์

“ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผน AJIF ของรัฐบาลญี่ปุ่น ให้เกิดการลงทุนมุ่งสู่โลกอนาคต รวมทั้งการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างไทยและญี่ปุ่นให้แข็งแกร่ง” ฮากิอูดะ กล่าว

“คาซูยะ นาชิดะ” เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย กล่าวว่า การสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างญี่ปุ่นและไทยในมิติใหม่จะอยู่ใน 2 รูปแบบ ดังนี้ 

1.การเป็นพันธมิตรแบบการร่วมคิดร่วมสร้าง (Co-creation) เน้นการสร้างสรรค์นวัตกรรม การใช้ IoT และปัญญาประดิษฐ์เพื่อการแก้ปัญหา 

2.การเสริมสร้างความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับความยั่งยืน เพื่อให้เกิดสังคมความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจของ 2 ประเทศ คือ โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Model ของไทยมีความเชื่อมโยงที่ใกล้ชิดกับกลยุทธ์การเติบโตสีเขียว (Green Growth Strategy) ของญี่ปุ่น ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนโอกาสทางธุรกิจที่กำลังขยายตัวได้ดี

สำหรับความร่วมมือกับไทยวางกรอบความร่วมมือกับไทยภายใต้ 3 แนวทาง ได้แก่ การพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะและองค์ความรู้สำหรับวิศวกรในโรงงานอัจฉริยะ การสนับสนุนเอสเอ็มอีด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำธุรกิจ และการร่วมสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่นและสามารถแข่งขันได้ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

รวมทั้งปัจจุบันกระทรวงเมติ มีโครงการความร่วมมือกับไทยผ่านกระทรวงอุตสาหกรรมหลายโครงการ เช่น โครงการจัดตั้งศูนย์ต้นแบบการจัดการซากยานยนต์แบบครบวงจรในประเทศไทยการกำจัดขยะรถยนต์ไทยกำลังประสบปัญหาอย่างมาก โครงการศึกษาเพื่อการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่จะช่วยตอบโจทย์นโยบาย BCG ของรัฐบาลได้อย่างดี

โครงการ Lean Automation System Integrator LASI (ลาซี่), โครงการ Lean IoT Plant Management and Execution LIPE (หลีเป๊ะ) และโครงการ Smart Monosukuri (สมาร์ท โมโนซูกุริ) ที่พัฒนาศักยภาพบุคลากรยกระดับภาคอุตสาหกรรมเป็น SI (System Integrator) เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่โรงงานอัจฉริยะที่ทันสมัยด้วยการใช้ระบบอัตโนมัติ AI IoT ซึ่งเป็นกลไกในการเพิ่มศักยภาพการผลิต

นอกจากนี้ องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) ได้ลงนามความร่วมมือกับ 3 หน่วยงานของไทย เมื่อวันที่ 12 ม.ค.2565 ดังนี้ 

1.บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOC) กับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อส่งเสริมการลงทุนของบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยแบบภาคี ให้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ในการส่งเสริมให้บริษัทญี่ปุ่นที่ประกอบกิจการในประเทศไทยขยายการลงทุนเพิ่มเติม โดยเฉพาะการลงทุนด้านเทคโนโลยีขั้นสูง การวิจัยและพัฒนาเพื่อต่อยอดอุตสาหกรรมในประเทศไทย

2.บันทึกแสดงเจตจำนงกับ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เพื่อผลักดันให้ภาคเอกชนญี่ปุ่นลงทุนในพื้นที่อีอีซีที่เน้นด้านเทคโนโลยีขั้นสูง การต่อยอดด้านการวิจัยและพัฒนาร่วมกันชักจูงการลงทุนใหม่จากภาคเอกชนญี่ปุ่นในพื้นที่อีอีซี ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มสุขภาพ กลุ่มดิจิทัล กลุ่มการลงทุนคาร์บอนต่ำ และกลุ่มโลจิสติกส์

3.การจัดทำความร่วมมือภายใต้อนุสัญญาภาคี (Letter of Intent : LOI) กับสถาบันยานยนต์ (สยย.) กรอบระยะเวลา 1 ปี (2565-2566) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือพัฒนายานยนต์สมัยใหม่ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์สมัยใหม่ รวมถึงเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับเทคโนโลยีพื้นฐานด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อส่งเสริมการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในไทย

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ลงทุนโดยตรง (FDI) ในไทยสูงสุดเป็นอันดับ 1 โดยปี 2564 ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน 178 โครงการ คิดเป็น 22.7% จากโครงการลงทุนต่างประเทศทั้งหมด มูลค่าเงินลงทุน 80,733 ล้านบาท คิดเป็น 17.7% ของมูลค่าเงินลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด

ด้านสิทธิประโยชน์ด้านภาษีศุลกากรจากความตกลงการค้าเสรีหรือเอฟทีเอ (FTA) ที่ประเทศญี่ปุ่นทำร่วมกับไทย 3 ฉบับ คือ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) และ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่จะขยายการค้าระหว่างกันโดยการปรับลดภาษีให้ต่ำลงและเป็นศูนย์ เพื่อเกิดการค้าอย่างเสรี เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ไทยน่าสนใจในสายตาของนักลงทุนญี่ปุ่น