“ธุรกิจพลิกเกมส์”สู้วิกฤติของแพง พาณิชย์กล่อมตรึงราคารักษากำลังซื้อ

“ธุรกิจพลิกเกมส์”สู้วิกฤติของแพง     พาณิชย์กล่อมตรึงราคารักษากำลังซื้อ

สถานการณ์ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นเกือบทุกรายการเหมือนอาการป่วยทางเศรษฐกิจขั้นโคม่าเรียกได้ว่าจับไปตรงไหนก็เจ็บก็ป่วยจากการสำรวจตลาดล่าสุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้รับร้องเรียนปัญหาราคาน้ำมันปาล์มบรรจุขวด ปรับขึ้นต่อเนื่อง หลังจากเมื่อปลายปี2564 ราคาปรับขึ้นมาอยู่ที่ขวดละ 50-52 บาท แต่ล่าสุดราคาจำหน่ายตามร้านสะดวกซื้อ หรือร้านโชห่วยขยับขึ้นเป็นขวดละ 55-57 บาทแล้วซึ่งเกินเพดานที่กระทรวงพาณิชย์ขอความร่วมมือไว้ที่ขวดละ 55 บาท และยังมีแนวโน้มขึ้นราคาอีกต่อเนื่องอาจถึงขวด 60 บาท 

สอดคล้องกับราคาปาล์มสด ที่เพิ่มขึ้นจากเดือนธ.ค.2564 ที่ กก.ละ 9 บาท เป็น กก.ละ 10-11 บาท ส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มดิบ(ซีพีโอ)เพิ่มขึ้นจากกก.ละ 46 บาท เป็น 55 บาท และหากนำมาสกัดและบรรจุขวดจะต้องมีราคามากกว่าขวดละ 60 บาท

ทั้งนี้ ผลจากราคาน้ำมันปาล์มขวดที่แพงขึ้น รวมกับต้นทุนสินค้าอื่น ที่แพงขึ้นก่อนหน้านี้ ทั้งเนื้อหมู เนื้อไก่ ไข่ไก่ ส่งผลให้ร้านอาหารปรับแพงขึ้นทุกประเภท ไม่ใช่แค่เมนูที่เกี่ยวข้องกับหมู หรือไก่เท่านั้น เช่น ร้านขายปลาทอด ย่านดอนเมืองก็แจ้งปรับขึ้นรายการละ 5 บาท เพราะต้นทุนน้ำมันทอดแพงขึ้น ขณะที่ข้าวหน้าเป็ด ย่านตลิ่งชันก็ขึ้นราคาอีก 10 บาท เป็นจานละ 50 บาท

“ธุรกิจพลิกเกมส์”สู้วิกฤติของแพง     พาณิชย์กล่อมตรึงราคารักษากำลังซื้อ

สมชาย พรรัตนเจริญนายกสมาคมค้าส่ง-ค้าปลีกไทย กล่าวว่า สถานการณ์การจับจ่ายสินค้าขณะนี้เงียบเหงามากต่างจากปีที่ผ่านๆมาทั้งที่เป็นช่วงใกล้เทศกาลตรุษจีน ที่โดยปกติจะมีคำสั่งซื้อสินค้าเข้ามาอย่างคึกคักแต่ปีนี้เป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม 

สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากราคาสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นซอสปรุงรส ซีอิ้ว และน้ำมันปาล์ม ส่วนปลากระป๋องได้ปรับขึ้นราคาไปก่อนหน้านี้แล้ว อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงจากนี้ไม่เพียงราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นเท่านั้นแต่ยังมีเรื่องของปริมาณสินค้าที่อาจหายไปจากตลาดในบางรายการ รวมถึงการลดขนาดสินค้าเพื่อหลีกเลี่ยงการขึ้นราคา 

“ผู้ผลิตก็ต้องปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดไปได้ ตอนนี้วัตถุดิบไม่เพียงขึ้นราคาแต่บางรายการยังหายากอยู่ เพราะผู้ผลิตสินค้าอย่างจีนยังปิดประเทศ  แต่การขึ้นราคาสินค้าไม่ใช่ทางออกเพราะหากผลิตแล้วแพงไปคนไม่ซื้อธุรกิจก็ไปไม่รอดอยู่ดี”

พันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักกรรมการผู้อำนวยการบริษัทไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์จำกัด(มหาชน)หรือ TFMAMA ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรุปมาม่า กล่าวว่า ยอมรับว่าต้นทุนการผลิตหลายรายการปรับขึ้นราคาแต่ยังเป็นระดับที่พอรับได้ แม้สัดส่วนต้นทุน

ดังกล่าวจะเฉลี่ยที่ 60-70% ทำให้การบริหารจัดการต้นทุนด้านอื่น เช่น การลดความสูญเสียต่างๆ การจัดการด้านโลจิสติกส์ หรือ สต็อกสินค้าและวัตถุดิบ มีสัดส่วนแต่พอจะลดต้นทุนได้บ้างแต่ไม่ได้ครอบคลุมทั้งหมด

“บริษัท ได้กระจายพอร์ตไปที่การส่งออก การลงทุนในต่างประเทศทำให้ภาพรวมธุรกิจพยุงอยู่ได้ เพราะมีรายได้จากทางอื่น แม้จะไม่มีใครอยากผลิตแล้วขายทุนแต่ตอนนี้เราไม่ขาดทุนการจริงแต่ก็ไม่ได้ดีเหมือนที่ผ่านๆมาเพราะวัตถุดิบหลายอย่างเพิ่มทั้งแป้งสาลี น้ำมันปาล์ม แต่ก็ยินดีที่จะตรึงราคาไว้และใช้การบริหารจัดการด้านต่างๆช่วยด้วย”

วัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ยังไม่ผู้ประกอบการขอปรับขึ้นราคาสินค้าเข้ามายังกรมแต่มีการขอเข้ามาปรึกษาเกี่ยวกับสถานการณ์ต่างๆที่กระทบต่อธุรกิจ ซึ่งกรมได้ให้คำแนะนำเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การบริหารจัดการต้นทุนส่วนอื่นๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการปรับราคาสินค้าเพราะอาจนำไปสู่การสูญเสียอำนาจการแข่งขันของผู้ผลิตรายนั้นๆเองด้วยและในท้ายที่สุดหากสินค้าแพงเกินไปกำลังซื้อประชาชนจะลดลงและจะกระทบต่อภาคธุรกิจเองในที่สุด 

อย่างไรก็ตาม กรมได้ติดตามสถานการณ์ราคาอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้เกิดการฉวยโอกาส ส่วนผู้ที่ได้ร้บผลกระทบจริงๆเบื้องต้นจะใช้แนวทางประชุมหารือเพื่อประเมินทางออกที่เหมาะสม โดยไม่ต้องปรับขึ้นราคา 

ส่วนกรณีราคาน้ำมันปาล์มขาดขึ้นราคานั้นกรมได้หารือกับผู้ผลิตน้ำมันปาล์มขวดให้ตรึงราคาขายไปก่อน ซึ่งผู้ประกอบการให้ความร่วมมือ โดยขณะนี้ ราคายังขายอยู่ที่ขวดละ 50-55 บาท แต่ยืนยันว่า น้ำมันปาล์มขวดในท้องตลาดยังมีเพียงพอ และเชื่อว่า เดือนก.พ.2565 เมื่อผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาด ราคาน่าจะอ่อนตัวลงได้ในที่สุดตามวงจรผลผลิตปาล์ม