"โอมิครอน" ยังมีวันแผ่ว "หมูแพง" ต้องรอ "คนละครึ่ง"

"โอมิครอน" ยังมีวันแผ่ว "หมูแพง" ต้องรอ "คนละครึ่ง"

อาจกำลังใกล้ถึงเวลาของ "นายกฯ ทางเลือก" เมื่อเศรษฐกิจไทยต้องเผชิญทั้งสภาวะเงินเฟ้อ และสินค้า "แพงทั้งแผ่นดิน" จนประชาชนต้องมองหา "ทางเลือก" ด้วยตัวเอง

เข้าปีใหม่ไม่ทันถึงครึ่งเดือนเสียงโอดครวญ “แพงทั้งแผ่นดิน” ระงมไปทั่ว นำขบวนโดยเนื้อหมู ลากไปถึงเนื้อไก่ ไข่ไก่ และอีกสารพัดจนชาวเน็ตต้องออกมาโพสต์ชวนกินเนื้อจระเข้  กิโลกรัมละ 70 บาทเท่านั้น ว่ากันว่ารสชาติอร่อย โปรตีนสูง ไขมันน้อย เข้าสูตรเนื้อสัตว์ทางเลือกทุกประการ (ถ้าไม่จินตนาการถึงหน้าตา) ด้าน สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน กล่าวว่า 

ทางรัฐบาลเองมีนโยบายและได้หารือกับทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อ โดยตัวเลขจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และการพยากรณ์จากหลายสถาบัน เชื่อได้ว่าอัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยจะอยู่ในระดับ 1-3% ตามกรอบเงินเฟ้อที่มีการกำหนดไว้ 

รมช.คลังย้ำ ไม่อยากให้ประชาชนไปเฝ้ามองเพียงแค่การขาดสินค้าตัวใดตัวหนึ่ง เพราะอยากให้ดูในภาพรวมดีกว่า แต่เราอยากบอกว่าประชาชนมองในภาพรวมแล้วถึงได้คร่ำครวญ 

รายงานอีกด้านจากปาก สันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ระบุ กระทรวงอาจจะเลื่อนระยะเวลาการนำมาตรการคนละครึ่งเฟส 4 ออกมาใช้ก่อนกำหนด เนื่องจากเห็นว่า สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนอาจจะกระทบภาพรวมเศรษฐกิจไทย ดังนั้น การนำมาตรการดังกล่าวมาใช้ก่อนก็เชื่อว่า น่าจะช่วยกระตุ้นให้การใช้จ่ายในประเทศดีขึ้นและช่วยหนุนเศรษฐกิจในภาพรวม 

นโยบายนี้ฟังแล้วดูดีเหมือนประชาชนมีตัวช่วย ซื้อเนื้อหมูกิโลละ 200 จ่ายคนละครึ่งก็แค่ 100 แต่ต้องถามว่าเป็นการแก้ปัญหาที่แท้จริงหรือแค่บริหารความรู้สึก! หันไปมองสาเหตุใหญ่ที่ไม่ใช่สาเหตุเดียวของวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ โควิด-19 ที่เริ่มแผ่วๆ ลงเมื่อปีก่อน จนกระทั่งกลายพันธุ์เป็นโอมิครอนเมื่อเดือน พ.ย.2564

ด้วยคุณสมบัติติดต่อกันได้ง่าย เศรษฐกิจโลกที่ทำท่าจะฟื้นเริ่มสะดุดลงอีกครั้ง ฤทธิ์เดชโอมิครอนจะมากมายแค่ไหนทั่วโลกจับตาองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ฟันธงซึ่งก็ไม่แถลงอย่างเป็นทางการเสียที จนกระทั่งเมื่อวันพุธ (12 ม.ค.) ตามเวลาเจนีวา จับสัญญาณคล้ายกับว่าดับเบิลยูเอชโอกำลังบอกว่า โอมิครอน “ดูเหมือน” เบากว่าเดลตา กระนั้นก็ยังทำให้ประชาชนเข้าโรงพยาบาลจนระบบสาธารณสุขแทบรับไม่ไหว

การติดโอมิครอน ดูเหมือนจะหลีกเลี่ยงไม่ได้แต่โลกยังมีเครื่องมือที่ควบคุมได้ ได้แก่ สวมหน้ากาก เว้นระยะ ระบบระบายอากาศที่ดี และหลีกเลี่ยงการรวมตัวกันมากๆ เจ้าหน้าที่ระดับสูงดับเบิลยูเอชโอย้ำว่า “โควิดกำลังจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น แต่เรายังไม่อยู่ในจุดนั้น” 

แม้ไม่พูดตรงๆ แต่ฟังดูยังพอมีความหวังให้เห็นรำไรว่าวิกฤติย่อมมีวันแผ่ว เทียบกับวิกฤติข้าวของแพงที่คนไทยเผชิญเหมือนเคราะห์ซ้ำกับซัดจากโควิดกลับยังไม่เห็นความหวัง ระวังอย่าให้ยืดเยื้อนาน เพราะถ้าคนไทยต้องรับประทานเนื้อสัตว์ทางเลือกกันมากเข้า อาจถึงเวลาเรียกร้อง “นายกฯ ทางเลือก” เข้าสักวัน