ภาษีหุ้น – ภาษีคริปโทฯ แรงกระตุกตลาดทุนไทย

ภาษีหุ้น – ภาษีคริปโทฯ  แรงกระตุกตลาดทุนไทย

ถกเถียงกันมาก “รีดภาษี” จากภาครัฐในการลงทุนทั้งตลาดหุ้นไทยและตลาดคริปโทเคอร์เรนซี่ ท่ามกลางเสียงวิพาษ์วิจารณ์ ทั้งหลักการจัดเก็บภาษี ความเหมาะสมของช่วงเวลา และที่สำคัญการสกัดการเติบโตของตลาดทุนในประเทศ จนกลายเป็นเรื่องใหญ่ถึงภาคเศรษฐกิจในอนาคต

ด้วยกฎเกณฑ์ด้านภาษีที่ออกมา เบื้องต้นย่อมมีผลต่อนักลงทุนทันทีเพราะเป็นการเพิ่มภาระและต้นทุนที่สูงขึ้น  ซึ่งย่อมไม่มีนักลงทุนรายไหนอยากจะจ่ายต้นทุนสูง   ทุกรายมีแต่หาหนทางทำกำไรให้ได้มากที่สุดในตลาดทุน เพราะเป็นตลาดที่มีความผันผวน คือ เสี่ยงสูงแต่มีโอกาสได้ผลตอบแทนสูงตามไปด้วย

สูตรที่ออกมาเบื้องต้นในฝั่งของ “ภาษีหุ้น”  จากกระทรวงการคลังเอาจริงเองจังกับการเก็บภาษีหุ้นปี 2565 เพื่อเพิ่มรายได้ หลังจากไม่มีการเก็บมานานถึง 30 ปี  โดยพิจาณาจากรายการขายระดับ 1 ล้านบาทขึ้นไปถูกหักภาษีที่ 0.1 % 

ภาษีดังกล่าว มองว่าไม่กระทบรายย่อยแต่จะมีผลต่อรายใหญ่ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ระบบการซื้อขายปัจจุบันไม่ได้มีเพียงแค่การส่งคำสั่งซื้อขายผ่านตัวบุคคล  คือมาร์เก็ตติ้ง หรือ ผ่านระบบอินเตอร์เน็ตเท่านั้น  แต่ยังมีระบบการซื้อขายด้วย AI  หรือ Robot Trade ที่สามารถส่งคำสั่งซื้อขายได้เป็นรายวินาทีจึงทำให้มีรายการซื้อขายต่อชั่วโมงได้มากกว่าหมื่นรายการด้วยซ้ำ

ดังนั้นวอลลุ่มในส่วนนี้ย่อมหายไปอย่างแน่นอนเพราะส่วนใหญ่มาจากนักลงทุนรายใหญ่ สถาบัน และต่างชาติ จนทำให้มีการคาดการณ์จากสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กลุ่มนักลงทุนที่จะกระทบมากที่สุดคือ ฟันด์โฟลว์ต่างชาติ เนื่องจากต้นทุนในการซื้อขายหุ้น ของนักลงทุนต่างชาติก็สูงกว่า 1 เท่าตัวอยู่แล้ว ซึ่งหากมีการจัดเก็บภาษีเข้ามาจะทำให้ต้นทุนของนักลงทุนกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นมากกว่า 1 เท่าตัว และจะทำให้ยอดการเทรดของ        นักลงทุนต่างชาติลดลง

ภาษีหุ้น – ภาษีคริปโทฯ  แรงกระตุกตลาดทุนไทย

จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนกว่า 40% ของวอลุ่มตลาดรวม และกลุ่มถัดไปที่โดนผลกระทบคือกลุ่มเทรดเดอร์และ Prop Trade ซึ่งทำให้ต้นทุนการเทรดเพิ่มขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นประเมินว่าผลกระทบโดยรวมจะส่งผลให้วอลุ่มฯตลาดหายไปราว 20-30%

ภาษีหุ้นยังมีการเดินหน้าแสดงความไม่เห็นด้วย พร้อมกับระบุหลักการจัดเก็บว่าเป็นการมองเพียงด้านเดียวที่ไม่ได้มองถึงระยะยาวและการเพิ่มสภาพคล่องที่ถือว่าเป็นจุดเด่นของตลาดหุ้นไทยเมื่อเทียบกับตลาดอื่นๆในภูมิภาคเดียวกัน   

สุดท้ายเมื่อมีการเก็บภาษีจริงทำให้บีบกลุ่มนักลงทุนที่ได้รับผลกระทบไปยังตลาดอื่นและตลาดหุ้นไทยจะมีสภาพคล่องลดลงความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นไม่จูงใจนักลงทุนรายย่อยเท่าก่อนเก็บภาษี

ถัดมาที่ ภาษีคริปโทเคอเรนซี่ เมื่อกรมสรรพากรระบุการจัดเก็บเทรดสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ สินทรัพย์ดิจิทัลที่ถือไว้มีสิทธิได้รับผลประโยชน์ หรือส่วนแบ่งกำไรให้แก่ผู้ถือเงินได้ส่วนนี้ จะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% จากกำไรที่เกิดขึ้นก่อนมีการจ่ายเงินให้นักลงทุน จนกระหึ่มทั้งโซเซียลเกิดวลี “ กำไรแบ่งปัน” แต่ขาดทุน “เป็นความสามารถ”

นั้นหมายถึงการเก็บภาษีที่ 15 %  จะเกิดขึ้นเฉพาะรายการขายที่เกิดกำไรเท่านั้น และไม่สามารถนำรายการขายที่ขาดทุนมาหักกลบเพื่อยื่นภาษีได้  ซึ่งผู้ที่มีหน้าที่นำส่งภาษี15 % ณ. ที่จ่ายคือแพลตฟอร์มผู้ให้บริการซื้อขาย ส่วนนักลงทุนมีหน้าที่เช็คความถูกต้องการขอคืนภาษีส่วนเกินต่อกรมสรรพกร

ส่งผลทำให้เกิดการเรียกร้องและไม่เห็นด้วยกับหลักการจัดเก็บภาษี มีหลากหลายมุมมอง เช่น การคิดภาษีตามรายการกำไร หากมีการซื้อขายหลายไม้ใน 1 รอบลงทุน ซึ่งมีทั้งกำไรและขาดทุน จะคิดกำไรขาดทุนในจุดไหน

ประเด็นถัดมาถืออัตราการจัดเก็บที่สูง เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ เช่นในสหรัฐที่พึ่งประกาศเป็นกฎหมายให้โบรกเกอร์รายงานการถือครองคริปโทฯของลูกค้ามูลค่าเกิน 10,000 ดอลลาร์ต่อกรมสรรพากร  และนำไปจ่ายภาษีจากกำไรแต่สามารถหักกลบที่ขาดทุนได้

หรือประเทศเกาหลีใต้ที่เปิดกว้างคริปโทฯเนื่องจากรัฐบาลสนับสนุนเหรียญ LUNA ของแพลตฟอร์ม Terra ใช้เป็น Stablecoin  อิงมูลค่าเงินเฟียต และสกุลเงิน KRT   ที่หนุนสกุลเงินวอนของเกาหลีใต้ จนสร้างการเชื่อมต่อชำระเงิน กับธนาคารในเกาหลีใต้ได้  ประกาศเก็บภาษีที่ 20 % ภายใต้ว่ามีกำไรจากการซื้อขายเกิน 2.5  ล้านวอน  เป็นต้น

ปัจจุบันเริ่มมีเสียงสะท้อนว่าการดำเนินการเก็บภาษีที่เกิดข้อกังขาดังกล่าวทำให้หนุนมีการเข้าสู่ตลาดคริปโทฯมากขึ้นและยิ่งทำให้มีการแลกเปลี่ยนไม่ผ่านสกุลเงินดังกล่าว  แต่จะผ่านสกุลคริปโทฯกันเอง และรัฐจะไม่ได้จัดเก็บภาษีได้เต็มศักยภาพ ท่ามกลางเทคโนโลยีที่ก้าวไปไกล ภาคธุรกิจต้องการต้นทุนที่ถูก นักลงทุนต้องการเข้าถึงการลงทุนได้ง่ายขึ้น