SMEs ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย บทเรียนจากปี 2564 ปรับตัวในปี 2565.....(1)

SMEs ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย บทเรียนจากปี 2564 ปรับตัวในปี 2565.....(1)

ผู้ประกอบการ SMEs ที่สามารถผ่านพ้นปีแห่งความระทมทุกข์ในปี 2564 มาได้จะต้อง "ปรับตัว" เตรียมพร้อมเพื่อเผชิญกับความท้าทายในปี 2565 ต่อไป !

เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2564 ผมได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคามหลักสูตรปริญญาเอก สาขาวิชาการจัดการภาครัฐและเอกชน บรรยายเรื่อง “เศรษฐกิจไทย หลัง COVID -19 : SME ตัวขับเคลื่อน” เนื้อหาที่บรรยายมีสาระสำคัญที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ที่ดำเนินธุรกิจอย่างยากลำบากในปี 2564 ที่ผ่านมา เป็นปีแห่งความมืดมนของผู้ประกอบการ SMEs ส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัส COVID-19 และเป็นแนวทางในการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในปี 2565 ที่คาดกันว่า COVID-19 ยังคงเป็นปัญหาที่ผู้ประกอบการจะต้องเผชิญอยู่ต่อไปอย่างแน่นอน

ประเด็นแรกคือเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ผมรวบรวมจากการวิเคราะห์ของนักเศรษฐศาสตร์หลายท่านที่มีความเห็นว่าจากการระบาดของโควิด-19 เศรษฐกิจไทยมีการการฟื้นตัวที่เรียกว่า K-shaped Recovery โดยมองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสองกลุ่มที่ไม่ไปด้วยกัน กลุ่มหนึ่งฟื้นตัวได้ดี ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งยังไม่ฟื้น หรือกระทั่งยังย่ำแย่ต่อเนื่องเหมือนกับเส้นทแยงมุมของอักษรรูปตัว K

ความเหลื่อมล้ำของระบบเศรษฐกิจไทย ทำให้คนที่มีรายได้หรือทรัพย์สินมากบริษัทขนาดใหญ่ที่มีสภาพคล่องสูงเป็นกลุ่มที่กระจุกตัวอยู่ในระดับบนเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์และฟื้นตัว เพราะมีความสามารถในการปรับตัว กำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ขยายตัวถึงร้อยละ 2.30 ในไตรมาสแรกของปี 2564 เหมือนขีดบนของตัว K 

ในขณะที่คนที่มีรายได้น้อย ผู้ประกอบการ SMEs ต้องลุ้นว่ากิจการจะไปต่อได้อีกกี่เดือน กิจการขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง ไม่สามารถเข้าถึงสถาบันการเงินเพื่อขอสินเชื่อได้จนต้องปิดกิจการลง กลุ่มนี้อยู่ในขีดล่างของตัว K เศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจสองความเร็ว

โดยกลุ่มที่อยู่ขีดบนของตัว K เปรียบได้เหมือนรถสปอร์ตที่วิ่งด้วยความเร็วสูง กลุ่มที่อยู่ขีดล่างของตัว K เปรียบได้กับสามล้อถีบโดยระยะหลังอาจปรับตัวเป็นสามล้อเครื่อง แต่ความเร็วยังต่ำกว่าระดับบนมาก และหากโควิด-19 ยังคงความรุนแรงอาจกลับไปเป็นสามล้อถีบอีกครั้ง หากจะเปรียบเทียบให้เห็นอย่างชัดเจนก็คือกลุ่มธุรกิจส่งออกกับธุรกิจการท่องเที่ยว

มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในเดือนเมษายน 2564 ขยายตัวร้อยละ 13.1 สูงสุดในรอบ 3 ปี และคาดว่าทั้งปีจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่าสองหลัก ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ในขณะที่ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวที่มีผู้ประกอบการ SMEs จำนวนมากอยู่ใน Supply Chain ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงและยืดเยื้อจากการระบาดของโควิด-19 และคาดว่าจะใช้เวลาหลายปีกว่ากิจกรรมท่องเที่ยวจะกลับไปเป็นปรกติ ทำให้มีคนตกงานเป็นจำนวนมาก คนที่ยังมีงานทำบางกลุ่มมีรายได้ลดลงมาก โดยเมื่อต้นปี 2564 ธนาคารโลกได้วิเคราะห์ไว้ว่า วิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ทำให้คนจนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นถึง 1.5 ล้านคน

ในปี 2565 แม้การระบาดของโควิด -19 มีแนวโน้มบรรเทาลงจาการเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ก็ยังไม่หมดไป ขณะนี้ได้มีการกลายพันธ์เป็นโอมิครอนที่มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ปี 2565 จึงเป็นปีที่ผู้ประกอบการ SMEs จะต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้านกลุ่มที่อยู่ในขีดบนของตัว K ได้แก่ ธุรกิจไอทีและเทเลคอม บริการซอฟต์แวร์ อิเล็กทรอนิกส์การจัดการคลังสินค้า ธุรกิจการแพทย์ และอาหารสำเร็จรูป เป็นกลุ่มทีสามารถปรับตัวและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อแสวงหาโอกาสให้ได้มากที่สุด กลุ่มนี้ไม่น่าห่วง

กลุ่มที่อยู่ในขีดล่างของตัว K ได้แก่ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร สปา บันเทิงและสันทนาการ การขนส่งผู้โดยสาร ออฟฟิศให้เช่า ที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียม จำเป็นต้องมีการปรับตัวมากที่สุด ภาครัฐต้องให้ความช่วยเหลือ คู่ค้าต้องช่วยกันประคับประคองให้อยู่รอด

ผู้ประกอบการ SMEs ที่สามารถผ่านพ้นปีแห่งความระทมทุกข์ในปี 2564 มาได้จะต้องปรับตัว เตรียมพร้อมเพื่อเผชิญกับความท้าทายในปี 2565 ซึ่งยังคงเป็นปีที่ยากลำบากไม่ต่างกัน ปีเสือดุเป็นปีที่น่ากลัว ผมจะนำเสนอรายละเอียดในตอนต่อไปครับ....