ชื่อเสียง-ผลประโยชน์-ต้นทุน “กาตาร์” ได้หรือเสียอะไรจากการเป็นเจ้าภาพ “ฟุตบอลโลก” ? 

ชื่อเสียง-ผลประโยชน์-ต้นทุน “กาตาร์” ได้หรือเสียอะไรจากการเป็นเจ้าภาพ “ฟุตบอลโลก” ? 

"กาตาร์" ได้เดินหน้าพัฒนาประเทศเพื่อความพร้อมสำหรับการเป็นเจ้าภาพศึกฟุตบอลโลกครั้งที่ 22 อย่างไรก็ตาม แม้คาดว่าจะได้รับ "ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ" ที่มาก แต่การลงทุนในครั้งนี้ก็ใช้เม็ดเงินจำนวนมหาศาลเช่นเดียวกัน

ใกล้เข้ามากับศึก “ฟุตบอลโลก” รอบสุดท้ายที่จะจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 22 ในช่วงปลายปี 2022  (21 พ.ย. - 18 ธ.ค. 65) ณ ประเทศกาตาร์ โดยศึกการแข่งขันดังกล่าวนี้เป็นที่ได้รับความสนใจและตั้งตารอจากแฟนบอลทั่วโลก 

การได้รับความสนใจที่มากมายดังกล่าว ทำให้หลายประเทศต่างต้องการเสนอชื่อตนเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก เพื่อหวัง “ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ” ให้กับประเทศตน เพราะในช่วงการแข่งขันจะมีแฟนบอลที่ให้ความสนใจเดินทางเข้ามาชมการแข่งขัน มีการใช้จ่ายในสินค้าและบริการ ดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนเพื่อรับประโยชน์จากช่วงของการแข่งขัน 

นอกจากนี้ ประเทศเจ้าภาพเองก็ต้องลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้มีมาตรฐาน พร้อมสำหรับการจัดแข่งขันฟุตบอลโลก อย่างไรก็ตาม แม้จะได้รับประโยชน์ แต่ “ต้นทุน” ที่ต้องใช้ก็มีมูลค่าสูง 

สำหรับเจ้าภาพในครั้งนี้อย่าง “กาตาร์” ก็ได้ใช้เงินลงทุนไปในจำนวนไม่น้อยเช่นกัน ถึงการลงทุนจะมีมูลค่าสูง แต่ทั้งหมดที่เกิดขึ้นก็เพื่อผลประโยชน์ที่จะได้รับ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านเศรษฐกิจ ด้านชื่อเสียง หรืออื่นๆ ซึ่งไม่ต่างอะไรกับเจ้าภาพในทุกครั้งที่ผ่านมา 

  “เศรษฐกิจกาตาร์” จะได้อะไรจากการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก?  

มีผลคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจกาตาร์จะได้รับประโยชน์ราว 2 หมื่นล้านดอลลาร์ ภายในระยะเวลาเดือนกว่าของศึกฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายในปลายปีนี้ โดยประโยชน์ดังกล่าวมาจาก “กำลังซื้อ” ที่จะเพิ่มมากขึ้นจากนักกีฬาและทีมงานของชาติต่างๆ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการแข่งขัน และนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเพื่อชมการแข่งขัน เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม ผลทางเศรษฐกิจดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่กาตาร์จะได้รับเท่านั้น เพราะการเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกนี้ ทำให้รัฐบาลต้องลงทุนปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในด้านต่างๆ การใช้จ่ายของรัฐบาลเช่นนี้ได้นำมาซึ่งกระจายเม็ดเงินสู่ระบบเศรษฐกิจ และเพิ่มระดับการจ้างงาน ซึ่งการลงทุนของภาคเอกชนก็ให้ผลในทางเดียวกัน 

จากข้อมูลทางสถิติพบว่า อัตราการว่างงานของกาตาร์ลดลงจากระดับ 0.56% ในปี 2011 เหลือ 0.14% ในปี 2018  สอดคล้องกับการใช้จ่ายของภาครัฐที่เพิ่มสูงขึ้นจาก 1.53 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2009 สู่ระดับ 2.84 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2018 เฉลี่ยเพิ่มขึ้นราว 85.62%  

เช่นเดียวกับภาคธุรกิจที่อัตราการลงทุนที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเพิ่มขึ้นจากขนาด 4.2 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2009 สู่ราว 7.45 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2017  คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้นราว 77.38%  แนวโน้มของเพิ่มขึ้นในขนาดมูลการลงทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชนเช่นนี้ ส่งผลให้นับตั้งแต่ปี 2012 ถึง 2019 ภาคการก่อสร้างมีการเติบโตเฉลี่ยที่ 18% ต่อไตรมาส 

ทั้งหมดนี้ได้ส่งผลให้เศรษฐกิจกาตาร์ขยายตัวจากขนาด 9.78 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2009 เป็น 1.4 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2018 โดยการลงทุนที่กล่าวไปในข้างต้นคิดเป็นสัดส่วน 38% ของการขยายตัว และในปี 2019 เศรษฐกิจกาตาร์มีอัตราการเติบโตสูงขึ้นที่ 11% ต่อปี (YoY) 

  เมกะอีเวนท์กับ “ชื่อเสียง” ในระดับนานาชาติ  

นอกจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นแล้ว สิ่งหนึ่งที่กาตาร์จะได้รับคือ “ชื่อเสียง” ในระดับนานาชาติ โดยศักยภาพที่แสดงออกมาผ่านการพัฒนาประเทศเพื่อจัดอีเวนท์ในระดับนานาชาติ จะเปิดโอกาสให้กาตาร์เป็นตัวเลือกสำหรับเมกะอีเว้นท์ของโลกอย่างอื่นอีก 

นอกจากนั้น โครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่ถูกปรับปรุงและพัฒนาขึ้นนี้จะกลายเป็นระบบนิเวศที่ดีต่อการดำเนินธุรกิจและการท่องเที่ยว สร้างโอกาสการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ นับเป็นตัวช่วยในการจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ ที่พึ่งพิงเพียงการส่งออกสินค้าพลังงานอย่างที่ผ่านมา

ท้ายที่สุดแล้วชื่อเสียงที่เพิ่มขึ้นในระดับนานาชาตินี้ อาจจะเป็นตัวสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับกาตาร์อีกนับไม่ถ้วนในอนาคต 
 

  “ต้นทุน” ที่อาจเกิดขึ้นสำหรับการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก  

แม้การลงทุนเพื่อเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่ได้มีประมาณการณ์ออกมาแล้วว่า เงินลงทุนในทุกโครงการที่มีขึ้นสำหรับฟุตบอลโลกที่กาตาร์จะสูงเกินกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์ ในขณะที่ขนาดเศรษฐกิจของกาตาร์ในปี 2020 มีมูลค่าที่ 1.46 แสนล้านดอลลาร์ โดยส่วนใหญ่ต้นทุนส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายในงานโครงสร้างพื้นฐาน 

ตัวเลขต้นทุนที่สูงลิ่วดังกล่าวได้ทำสถิติสูงสุดในตลอด 22 ครั้งทั้งหมดที่ผ่านมา โค่นตำแหน่งเจ้าภาพในปี 2014 อย่าง “บราซิล” ที่เคยเป็นเจ้าของสถิติสูงสุดด้วยต้นทุนราว 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกันระหว่างบราซิลและกาตาร์ เห็นได้ว่าต้นทุนของกาตาร์สูงมากกว่าถึง 1233% 

อย่างไรก็ตาม โครงสร้างพื้นฐานหลายอย่างที่เกิดขึ้น เช่น สเตเดียมขนาดใหญ่ อาจไม่ได้มีการใช้งานที่บ่อยครั้งจนคุ้มกับค่าดูแลรักษา และไม่ได้เป็นประโยชน์กับประชาชนโดยทั่วไป ซึ่งจะทำให้การลงทุนดังกล่าวนั้นไม่ได้สร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจที่ยั่งยืน สร้างต้นทุนค่าเสียโอกาสในการนำเงินไปลงทุนในสิ่งที่จะให้ผลในระยะยาวมากกว่า 

กรณีศึกษาที่น่าสนใจคือ การเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกของบราซิลในปี 2014 โดยมีการลงทุนสร้างสเตเดียมที่แพงที่สุดในโลกในขณะนั้น แต่เมื่องานฟุตบอลโลกผ่านพ้นไป สเตเดียมดังกล่าวมีประโยชน์เพียงเป็นลานจอดรถขนาดมหึมา และเมื่อสรุปการใช้จ่ายทั้งหมดของรัฐบาล พบว่า สูงเทียบเท่ากับค่าใช้จ่ายในเบี้ยเลี้ยงครอบครัวยากจน (Bolsa Familia) ทั่วประเทศถึง 2 ปีงบประมาณ 

นอกจากนี้ ประโยชน์ของการเพิ่มขึ้นในระดับราคาสินค้าและบริการจากความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น อาจไม่ได้ส่งผลกระทบต่อคนทุกกลุ่มในสังคม โดยคาดว่ากลุ่มที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดในระหว่างการจัดงานฟุตบอลโลก คือ ภาคการท่องเที่ยวและบริการ 

อย่างไรก็ตาม แรงงานที่อยู่ในภาคดังกล่าวก็มักได้รับค่าจ้างเป็นจำนวนคงที่ หรือเพิ่มขึ้นน้อยกว่าระดับราคาสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจผ่านอำนาจซื้อที่น้อยลงของแรงงานในประเทศ ทำให้ในภาพรวมของเศรษฐกิจไม่ได้รับประโยชน์เท่าที่ควร ซ้ำร้ายยังเป็นการสร้างภาระด้านค่าครองชีพให้กับประชาชนอีกด้วย 

แม้ว่ากาตาร์จะเป็นหนึ่งในประเทศร่ำรวย ประชากรมีรายได้ต่อหัวสูงถึง 2.6 หมื่นดอลลาร์ มากกว่าบราซิลถึง 282% จึงสามารถแบกรับต้นทุนทั้งหมดอันมหาศาลได้อย่างไม่ยากเย็นนัก แต่ถึงกระนั้น การแบกรับต้นทุนที่มากเกินไป ก็อาจจะประโยชน์ที่ควรจะฟุตบอลโลกนั้นมีขนาดเล็กลง หรือแทบไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลยก็เป็นไป

ซึ่งจากงานฟุตบอลโลกที่ “รัสเซีย” ในปี 2018 มีการคาดว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนั้นอาจน้อยนิด จนเทียบเท่าได้กับตัวเลขความคาดเคลื่อนทางสถิติ (Statistical error) เลยก็เป็นได้ 

ดังนั้น หากจะถามว่า การเป็นประเทศเจ้าภาพฟุตบอลโลกนั้นดีหรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับผลประโยชน์สุทธิที่ได้รับ ซึ่งผลประโยชน์ดังกล่าวอาจไม่ใช่ผลทางเศรษฐกิจที่จะได้รับในขณะนั้นก็เป็นได้ แต่อาจเป็นชื่อเสียง หรืออื่นๆ ที่ประเทศเจ้าภาพต้องการได้รับ นอกจากนั้น ยังขึ้นอยู่กับมุมมองที่มีต่องานฟุตบอลโลกอีกด้วย 

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยังคงเร็วเกินไปที่จะสรุปได้ว่า กาตาร์ได้รับประโยชน์เท่าไหร่ หรือต้องแบกรับต้นทุนขนาดไหนจากการเป็นเจ้าภาพศึกฟุตบอลโลกครั้งที่ 22 ในปีนี้ เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งที่ยังคงต้องติดตามต่อไปอีกในอนาคต

 

อ้างอิง

Arab News

Around The Rings

inews 

John Long

Stefan Brambilla Hall