วิธี "ยื่นภาษี" เมื่อมีรายได้จาก "คริปโทเคอร์เรนซี"

วิธี "ยื่นภาษี" เมื่อมีรายได้จาก "คริปโทเคอร์เรนซี"

สรุปวิธี "ยื่นภาษี" ปี 2565 ให้ถูกต้อง สำหรับผู้มีเงินได้เข้าเกณฑ์ และมีรายได้หรือมีกำไรจากการลงทุน "คริปโทเคอร์เรนซี"

"คริปโทเคอร์เรนซี" สินทรัพย์ดิจิทัลที่กำลังได้รับความนิยมในกลุ่มนักลงทุนไทย ซึ่งนับเป็นอีกสินทรัพย์ที่สามารถทำ "กำไร" เป็นตัวเงินได้ ซึ่งรายได้จาก "คริปโทฯ" ในรูปแบบต่างๆ นั้นก็ถือว่าเป็น "รายได้" ที่ผู้มีเงินได้จำเป็นต้องแสดงแก่ "กรมสรรพากร" ตอนที่ "ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา" ด้วย 

สำหรับ "ปีภาษี 2564" ผู้มีเงินได้จะต้อง "ยื่นภาษี" เงินได้บุคคลธรรมดาในช่วง 1 ม.ค.-8 เม.ย. 2565 (หรือตามที่มีประกาศเปลี่ยนแปลง) "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" พาไปดูวิธีการยื่นภาษีสำหรับคนที่มีรายได้จากการลงทุนคริปโทฯ เพื่อเตรียมตัวยื่นภาษีให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังนี้ 

  •  มีรายได้จาก "คริปโทเคอร์เรนซี" ต้องยื่นภาษีอย่างไร ? 

นักลงทุนที่มีกำไรจากการซื้อขายเหรียญคริปโทฯ หรือลงทุนใน "สินทรัพย์ดิจิทัล" ตามประมวลกฎหมายรัษฎากร จะถือเป็น "เงินได้ตามมาตรา 40(4)(ฌ)" คือ เงินได้จากผลประโยชน์/กำไร ที่ได้รับจากการโอนคริปโทฯ หรือโทเคนดิจิทัล ซึ่งนักลงทุนมีหน้าที่ต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายในอัตรา 15%   

ทั้งนี้ หลายคนเข้าใจผิดว่าเมื่อเสียภาษีหัก​ ณ ที่จ่ายแล้วจะไม่ต้องนำรายได้เหล่านี้มายื่นภาษีอีก แต่ในความเป็นจริง แม้ว่าจะถูกหัก ณ ที่จ่ายไปแล้ว 15% แต่ยังคงต้องนำเงินได้ดังกล่าวมาคำนวณรวมกับเงินได้อื่นๆ เพื่อยื่นแบบเสียภาษีบุคคลธรรมดาประจำปีตามปีที่ได้กำไรด้วย

อัตราภาษีดังกล่าว มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายเกี่ยวกับภาษีทรัพย์สินดิจิทัล อ้างอิงจากพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2561 ไม่ได้เพิ่งมาเรียกเก็บในปี 2564 เป็นครั้งแรกแต่อย่างใด 

 

  •  คำนวณอย่างไร ? 

ปัจจุบัน การคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ที่ชัดเจนสำหรับคริปโทฯ หลายฝ่ายยังถูกมองว่าเป็นไปได้ยาก

iTAX ได้อธิบายในบทความ "Bitcoin เสียภาษียังไง ได้ข้อสรุปแล้ว" ไว้ว่า การคำนวณภาษีจากกำไรทำได้ยากมากๆ ในปฏิบัติ และยังมีโอกาสเกิดช่องว่างได้ เช่น การซื้อคอยน์มาจาก Cryptocurrency Exchange จากต่างประเทศแล้วโอนเข้ามาในกระดานที่อยู่ในประเทศไทย หากถอนออกมาเป็นเงินบาทจะหักภาษี 15% อย่างไร เมื่อไม่ทราบว่าต้นทุนตอนซื้อที่แท้จริงเป็นเท่าใด

หรือหากมีการโอนย้ายไปอยู่ในบัตรเครดิตที่แปลง Cryptocurrency หรือดิจิทัลโทเคนมาใช้จ่ายเลย ก็อาจจะไม่เข้าเกณฑ์ในการหักภาษีเนื่องจากไม่ใช่ผู้ให้บริการในไทยไปด้วย 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ข้อสังเกตนี้เป็นไปในทางเดียวกับ Inflow Accounting ที่ระบุว่า การหักภาษี ณ ที่จ่ายคริปโทฯ จะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าต้นทุนตอนซื้อที่แท้จริงเท่าไรบ้าง เช่น นักลงทุนประเภทที่ได้รับคริปโทฯ มาจากการ "ขุด" ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะนำกำไรมาคำนวณภาษี หรือไม่หักค่าใช้จ่ายจากต้นทุนได้ อาทิ การซื้อคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ที่จำเป็นในการขุด ค่าไฟฟ้า ฯลฯ 

ทำให้ปัจจุบันผู้ให้บริการซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีเองก็ยังไม่สามารถหักภาษี ณ ที่จ่ายในส่วนของกำไรที่ได้จากการขายคริปโตฯ ได้อย่างชัดเจน (ยกเว้นกรณีที่มีรายได้จากการแนะนำเพื่อนเกิน 1,000 บาท/เดือน สามารถหักภาษี ณ ที่จ่ายได้ และมีเอกสารการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้กับนักลงทุน)

ดังนั้น นักลงทุนจึงต้องอาศัยการคำนวณภาพรวมการซื้อขายด้วยตัวเองว่าได้กำไรหรือขาดทุน ที่สำคัญเมื่อได้กำไรก็ต้อง ยื่นภาษีและเสียภาษีอย่างถูกต้องเพื่อป้องกันการถูกเรียกตรวจสอบย้อนหลังด้วย

 

  •  รายได้จาก "คริปโทฯ" ยื่นภาษีตรงไหน ? 

การแสดงรายได้ที่มาจากคริปโทเคอร์เรนซีในการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สามารถทำได้ผ่านระบบ E-Filing ในเว็บไซต์ของกรมสรรพากร โดยรายได้จากคริปโทฯ จะอยู่ในเงินได้ประเภทที่ 4 หรือ "เงินได้ตามมาตรา 40(4)" ซึ่งเป็นส่วนของ "รายได้จากการลงทุน" ซึ่งครอบคลุม ดอกเบี้ย เงินปันผลจากบริษัทต่างประเทศ ประโยชน์ใดๆ จากคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล เงินเพิ่มทุน เงินลดทุน ด้วย

 

วิธี \"ยื่นภาษี\" เมื่อมีรายได้จาก \"คริปโทเคอร์เรนซี\"

วิธี \"ยื่นภาษี\" เมื่อมีรายได้จาก \"คริปโทเคอร์เรนซี\"

 

------------------------------------------------------------

อ้างอิง: E-Filing กรมสรรพากรกรุงเทพธุรกิจ