10 คำศัพท์ "การเงินดิจิทัล" น่ารู้ ปี 2022

10 คำศัพท์ "การเงินดิจิทัล" น่ารู้ ปี 2022

คนมีเงินต้องรู้! 10 คำศัพท์ เกี่ยวกับ "การเงินดิจิทัล" ที่กำลังจะเข้ามามีบทบาทในโลก "การเงินไทย" ยุคใหม่ ที่มีแนวโน้มใกล้ตัวคนใช้เงินมากขึ้นนับตั้งแต่ปี 2022

การพัฒนาของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทุกๆ มิติ โดยเฉพาะที่เห็นได้ชัดเจนคือ "ระบบการเงิน" ที่กลุ่ม "ธนาคาร" ผู้กุมอำนาจให้บริการทางการเงินไว้ในอดีต ต้องถูกท้าทายด้วยเทคโนโลยีต่างๆ ที่ทำให้สามารถทำธุรกรรมได้แบบไม่ต้องผ่านตัวกลางอย่างธนาคารและไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในหลายบริการ

เมื่อกำลังจะก้าวเข้าสู่ศักราชใหม่ 2022 ภาพเหล่านี้จะชัดเจนขึ้นตามเทคโนโลยีที่จะพัฒนาขึ้นไปอีกขั้น "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ชวนทำความรู้จักกับคำศัพท์ต่างๆ เกี่ยวกับ "การเงินดิจิทัล" ที่คนใช้เงินทั้งหลายควรรู้ และจะมีโอกาสได้เจอหรือได้ใช้มากขึ้น ดังนี้

 

 1. Blockchain (บล็อกเชน) 

"บล็อกเชน" คือเทคโนโลยีการเก็บข้อมูล ที่ไม่มีตัวกลาง ใช้รูปแบบการจัดเก็บเป็นสำเนาไว้ในเครื่องของทุกคนที่ใช้ฐานข้อมูลเดียวกัน ทำให้ทุกคนรู้ว่าใครเป็นเจ้าของและมีสิทธิในข้อมูลตัวจริง เมื่อมีการอัพเดทข้อมูลใดๆ สำเนาข้อมูลในฐานเดียวกันก็จะอัพเดทตามไปด้วยทันที ทำให้ปลอมแปลงข้อมูลได้ยาก

ระบบนี้ถูกนำมาใช้ในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึง "Bitcoin" อีกทั้งยังสามารถพัฒนาไปใช้ในระบบอื่นๆ ที่ต้องการความโปร่งใสได้ด้วย

 

 2. Cryptocurrency (คริปโทเคอร์เรนซี) 

"คริปโทเคอร์เรนซี" คือ "สินทรัพย์ดิจิทัล" ประเภทหนึ่งที่อยู่ในระบบบล็อกเชน เกิดขึ้นมาเพื่อใช้แลกเปลี่ยนคล้ายกับเงิน แต่ไม่มีรูปร่าง จับต้องไม่ได้ จึงจัดว่าเหรียญคริปโทฯ เหล่านี้ เป็นทรัพย์สินดิจิทัล ที่สามารถซื้อขาย แลกเปลี่ยน และสะสมได้ 

 

 3. NFT (Non-Fungible Token) 

"NFT" คือสินทรัพย์ดิจิทัลอีกประเภทหนึ่งในระบบบล็อกเชน ที่มีจุดเด่นคือสามารถใช้แสดงความเป็นเจ้าของบางสิ่งบางอย่างที่ไม่สามารถทำซ้ำหรือทดแทนกันได้ 

NFT ในต่างประเทศ เริ่มได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในแวดวงงานศิลปะและนักสะสมที่เข้ามาสร้างตัวตนแบบดิจิทัลกันมากขึ้น เช่น งานศิลปะ เกม และการลงทุน ฯลฯ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

 4. DeFi (Decentralized Finance) 

ระบบการเงินแบบ "ไม่มีศูนย์กลาง" หรือ ในการทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ผ่านระบบ Blockchain ไม่ต้องผ่านตัวกลางที่เป็นธนาคาร 

"DeFi" จะถูกสร้างบนระบบนิเวศน์ของ "Ethereum" ทุกธุรกรรมจะดำเนินการผ่าน "Smart Contract" หรือสัญญาซื้อขายเงินดิจิทัล ซึ่งข้อดีคือ ไม่ว่าใครก็จะไม่สามารถแก้ไข หรือปลอมแปลงข้อมูลในธุรกรรมที่เกิดขึ้นได้ ทำให้ระบบ DeFi มีความโปร่งใสเพราะไม่ว่าใครก็สามารถเข้าตรวจสอบผ่าน Smart Contract ได้ทุกเวลานั่นเอง

 

 5. CBDC (Central Bank Digital Currency) 

"สกุลเงินดิจิทัล" ที่ออกโดยธนาคารกลาง หรือธนบัตรในรูปแบบดิจิทัล มีมูลค่าคงที่สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ช่วยลดค่าธรรมเนียมที่ไม่จำเป็น ปลอดภัย และมีความน่าเชื่อถือสูง 

 

 6. Metaverse (เมตาเวิร์ส) 

"เมตาเวิร์ส" หรือ "เทคโนโลยีเสมือนจริง" คือเทคโนโลยีที่ผสมผสาน "โลกความจริง" และ "เทคโนโลยี" ที่เป็นเรื่องจินตนาการเข้าด้วยกัน ทำให้มนุษย์สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันได้ในโลกเสมือนที่สร้างขึ้น ที่เกิดเป็นการปฏิสัมพันธ์หรือมูลค่าต่างๆ ตามมา เช่น ไปทำธุรกรรมที่ธนาคารบนโลกเสมือนจริง แต่ตัวนั่งอยู่ที่บ้าน เป็นต้น

 

 7. BIN attack 

ภัยทางไซเบอร์อย่างหนึ่ง ที่เป็นลักษณะการ "หลอกขอข้อมูล" สุ่มเลขบัตร หรือใช้ข้อรั่วไหลจากแพลตฟอร์มเสี่ยง เพื่อตัดเงินผ่านบัตรเดบิต/เครดิตโดยที่เจ้าของบัตรไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

 8. e-KYC (Electronic Know Your Customer) 

ระบบการระบุตัวตนและพิสูจน์ตัวตนแบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่ผู้ให้บริการทางการเงินจะผู้ใช้บริการทำเพื่อป้องกันการสวมรอยแบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่นการทำ NDID การจดจำใบหน้า สแกนลายนิ้วมือ ฯลฯ 

 

 9. NDID (National Digital ID) 

"NDID" คือการบริการ "ยืนยันตัวตนรูปแบบดิจิทัล" เพื่อสมัครบริการทางการเงินต่างๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น การเปิดบัญชีเงินฝาก สะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องเดินทางไปแสดงตัวตนที่สาขา และปลอดภัยตามมาตรฐานสากล

 

 10. OTP (One Time Password) 

รหัสผ่าน ที่ใช้ครั้งเดียวในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อยืนยันตนก่อนทำธุรกรรมออนไลน์ 

 

การเงินดิจิทัล 2022

---------------

อ้างอิง: krungsriธนาคารแห่งประเทศไทยธนาคารกรุงศรี