'ภาษี' กับการลงทุนใน 'สินทรัพย์ดิจิทัล'

'ภาษี' กับการลงทุนใน 'สินทรัพย์ดิจิทัล'

ทำความเข้าใจ หากลงทุนใน "สินทรัพย์ดิจิทัล" หรือครอบครองโทเคนดิจิทัล ซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนคริปโตเคอเรนซี จะต้องเสียภาษีหรือไม่ อย่างไร?

ช่วงนี้กระแสการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น Cryptocurrency นั้นมาแรงมาก สำหรับในประเทศไทยเองก็มีผู้ที่ให้ความสนใจเป็นจำนวนมากที่ได้เข้าถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัล รวมถึงการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนคริปโตเคอเรนซีหรือโทเคนดิจิทัล

สำหรับการจัดเก็บภาษีที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนประเภทนี้ ประเทศไทยได้ออกกฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ในการเสียภาษีของนักลงทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ภายใต้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ฉบับที่ 19 พ.ศ.2561 ซึ่งมีผลใช้บังคับมาตั้งแต่ 14 พฤษภาคม 2561 แล้ว ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน แนวทางปฏิบัติเพื่อการจัดเก็บภาษีจากเงินได้ประเภทดังกล่าวอาจจะยังมีคำอธิบายหรือตัวอย่างในการจัดเก็บภาษีไม่มากนักก็ตาม

โดยสรุปสาระสำคัญของกฎหมายภาษีดังกล่าวก็คือ กำหนดให้ทรัพย์สินดิจิทัลที่อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีตามกฎหมายฉบับนี้ ได้แก่ คริปโตเคอเรนซี เช่น Bitcoin และโทเคนดิจิทัลซึ่งมีการซื้อขายในประเทศไทย ซึ่งกฎหมายได้กำหนดประเภทเงินได้ดังกล่าวเพิ่มเติมขึ้นมาโดยจัดเอาไว้ในกลุ่มเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 4 (ข้อ 4 (ซ) และ (ฌ) ในมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร) ซึ่งตัวอย่างเงินได้ประเภทที่ 4 นี้จะเป็นในหมวดหมู่เดียวกันกับกลุ่มเงินได้ดอกเบี้ยเงินปันผล

โดยกฎหมายได้กําหนดให้เพิ่มประเภทของเงินได้ (ซ) และ (ฌ) ของ (4) ในมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่

“(ซ) เงินส่วนแบ่งของกําไร หรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกันที่ได้จากการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัล

(ฌ) ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโตเคอเรนซีหรือโทเคนดิจิทัล ทั้งนี้ เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน”

และเพิ่มเรื่องการคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย ของเงินได้ดังกล่าวไว้ใน (ฉ) ของ (2) ในมาตรา 50 แห่งประมวลรัษฎากร

“(ฉ) ในกรณีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ซ) และ (ฌ) ให้คํานวณหักในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้”

อธิบายเพิ่มเติม ถึงแนวทางการเสียภาษี โดยสรุปคือ

  • กรณีมีการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัล โดยนักลงทุนผู้ถือหรือผู้ครอบครองมีสิทธิ์ได้รับส่วนแบ่งกำไรหรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกัน เงินได้ดังกล่าวจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 15% จากผลประโยชน์นั้นก่อนที่จะมีการจ่ายให้กับนักลงทุนที่เป็นผู้ถือหรือผู้ครอบครอง

  • กรณีมีกำไรจากการขาย (Capital Gain) เช่น หากมีการขายสินทรัพย์ดิจิทัล แล้วมีกำไรจากการขาย พูดง่ายๆคือ ราคาขายมากกว่าราคาต้นทุนที่ได้มา ทางผู้ขาย (ตัวแทน) มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% จากกำไรที่เกิดขึ้นก่อนมีการจ่ายเงินให้นักลงทุน (กรณีเป็นการซื้อขายในประเทศไทย)

แม้ว่าจะถูกหัก ณ ที่จ่ายไปแล้ว 15% นั้น แต่ยังคงต้องนำเงินได้ดังกล่าวมารวมคำนวณเงินได้ฯ เพื่อยื่นแบบเสียภาษีบุคคลธรรมดาตอนปลายปีด้วย

ประเด็นที่อยากให้ผู้อ่านสังเกตว่า แม้เงินได้นี้จะถูกจัดประเภทไว้ในเงินได้ประเภทที่ 4 ซึ่งเป็นหมวดหมู่ของกลุ่มเงินได้ดอกเบี้ย เงินปันผลในหุ้น โดยปกติเงินได้กลุ่มนี้หากเราถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้ว จะมีสิทธิเลือกที่จะไม่นำเงินได้ส่วนนี้มารวมคำนวณเงินได้ฯ เพื่อยื่นแบบเสียภาษีบุคคลธรรมดาตอนปลายปีได้ หรือที่เรียกว่า วิธี Final Tax แต่สำหรับเงินได้จากทรัพย์สินดิจิทัลจะไม่สามารถเลือกเสียภาษีแบบวิธี Final Tax ได้

นอกจากนี้ เงินได้ดังกล่าวซึ่งถูกจัดอยู่ในกลุ่มเงินได้ประเภทที่ 4 กลุ่มเดียวกันกับเงินได้ดอกเบี้ย เงินปันผล จะไม่สามารถหักต้นทุนและค่าใช้จ่ายใดๆ ได้เลย ทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายอื่นๆ แม้จะเกิดขึ้นจริงและเกี่ยวข้อง ก็จะไม่สามารถหักต้นทุนค่าใช้จ่ายได้เช่นกัน