ทุ่ม 8.2 หมื่นล้าน 10 ปี ฟื้นฟูคลองแสนแสบ แก้ปัญหาน้ำขังกทม.

ทุ่ม 8.2 หมื่นล้าน 10 ปี ฟื้นฟูคลองแสนแสบ แก้ปัญหาน้ำขังกทม.

เพื่อแก้ปัญหาน้ำรอการระบาย ในเขตกรุงเทพฯ คณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้เห็นชอบแผนฟื้นฟูคลองแสนแสบ 8.2 หมื่นล้านบาท ภายใต้ 84 โครงการ เริ่มปี 64 – 74 บูรณาการร่วม 8 หน่วยงาน หวังระบบนิเวศ คุณภาพชีวิต จะดีขึ้น

สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)  กล่าวว่า   ครม.ได้เห็นชอบแผนหลักการพัฒนา ฟื้นฟู สภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ ไปแล้วเมื่อวันที่ 14ธ.ค. 64  โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะเร่งด่วน (ปี 2564) ระยะกลาง (ปี 2565-2570) และระยะยาว (ปี 2571-2574)    มีโครงการที่จะดำเนินการจำนวน 84 โครงการ วงเงินรวมประมาณ 82,563 ล้านบาท  ซึ่งเป็นโครงการที่คุ้มค่า โดยมีหน่วยงานร่วมกันดำเนินการ 8 หน่วยงาน ได้แก่

กรุงเทพมหานคร กรมควบคุมมลพิษ องค์การจัดการน้ำเสีย กรมชลประทาน กรมเจ้าท่า จังหวัดฉะเชิงเทรา กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และกรมโรงงานอุตสาหกรรม มีเป้าหมายโครงการ 5 ด้านหลักด้วยกัน คือ

 

ทุ่ม 8.2 หมื่นล้าน 10 ปี ฟื้นฟูคลองแสนแสบ แก้ปัญหาน้ำขังกทม.

1.การเสริมสร้างความปลอดภัยในการสัญจรทางน้ำของประชาชน จำนวน 10 โครงการ 2.การปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์บริเวณคลองแสนแสบ จำนวน 14 โครงการ 3.การแก้ไขปัญหามลภาวะและคุณภาพน้ำในคลองแสนแสบ จำนวน 44 โครงการ 4.การป้องกันปราบปราม การบุกรุกทำลายทรัพยากรในคลองแสนแสบ จำนวน 1 โครงการ และ 5.การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในคลองแสนแสบ จำนวน 15 โครงการ

 

            ทั้งนี้ การพิจารณาโครงการดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ซึ่งมี   พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เน้นย้ำถึงผลประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ โดยเฉพาะในเรื่องการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในคลองแสนแสบ ซึ่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีอุโมงค์ระบายน้ำสามารถเร่งการระบายน้ำได้ 30 ลบ.ม./วินาที และเขื่อนป้องกันตลิ่ง 33.32 กม.

ช่วยเพิ่มพื้นที่ที่ได้รับการป้องกันน้ำท่วม 96,875 ไร่ และในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา มีสถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำ เครื่องสูบน้ำ และปรับปรุงคลอง ช่วยให้คลองระบายน้ำได้ 60 ลบ.ม./วินาที ช่วยเพิ่มพื้นที่ที่ได้รับการป้องกันน้ำท่วม 15,625 ไร่ และที่สำคัญคลองแสนแสบจะกลับมาเป็นคลองสวย น้ำใส ตามวิสัยทัศน์ของแผนหลักการพัฒนา ฟื้นฟู สภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ คือ “เพื่อให้คลองแสนแสบกลับมามีระบบนิเวศอยู่ในเกณฑ์ดี โดยมีการบูรณาการการแก้ไขปัญหาน้ำเสียและการระบายน้ำอย่างยั่งยืน” อย่างแน่นอน

 

            ขณะเดียวกัน เมื่อแผนหลักการพัฒนา ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบแล้วเสร็จ จะทำให้มีการพัฒนาระบบขนส่งทางน้ำที่ทันสมัยและความปลอดภัย โดยมีท่าเทียบเรือเพิ่มขึ้นครอบคลุมคลองแสนแสบในกรุงเทพมหานครทั้งสาย และใช้เรือไฟฟ้าในการสัญจรรองรับการใช้บริการของประชาชนได้สูงถึง 1,000 คน/วัน

พร้อมติดตั้งกล้องวงจรปิดในท่าเรือคลองแสนแสบ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยของผู้โดยสาร มีการแก้ไขปัญหามลภาวะและคุณภาพน้ำในคลองแสนแสบอย่างครบวงจร ทั้งด้านการบังคับใช้กฎหมายกับโรงงาน และอาคารประเภทต่างๆ พร้อมมีระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียรวม 39 แห่ง รองรับการบำบัดน้ำเสียในคลองแสนแสบได้ 1,364,525 ลบ.ม./วัน ทั้งนี้น้ำในคลองสามารถเก็บกักไว้ใช้ในฤดูแล้ง ส่งให้พื้นที่การเกษตรได้ 6,000 ไร่ อีกด้วย

เนื่องจากวงเงินของแผนฯ มีจำนวนสูง ซึ่งวงเงินส่วนใหญ่ 88% เป็นของกรุงเทพมหานคร เรื่องการก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย อุโมงค์ระบายน้ำ คณะรัฐมนตรี ได้มอบให้ สทนช. ร่วมกับหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องพิจารณาจัดลำดับความสำคัญของโครงการ ความจำเป็นเร่งด่วน วิธีการดำเนินงาน และการมีส่วนร่วมของประชาชน

โดยคำนึงถึงความประหยัด ความคุ้มค่า ผลสัมฤทธิ์ และประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการดำเนินโครงการ รวมทั้งจัดเตรียมความพร้อมในทุกมิติ ตลอดจนความครอบคลุมของทุกแหล่งเงิน การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ และจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอน

สำหรับการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว สทนช. จะขับเคลื่อนภายใต้คณะอนุกรรมการบริหาร พัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูคลองแสนแสบ ซึ่งมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมายเมื่อ 14 ธ.ค.  2564 ต่อไป