อีอีซีวิถีใหม่ 2565 … ส่งเสริม เร่ง ปรับ เครื่องยนต์เศรษฐกิจ

อีอีซีวิถีใหม่ 2565 …   ส่งเสริม เร่ง ปรับ เครื่องยนต์เศรษฐกิจ

นโยบายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19กระทรวงการคลังจะมุ่งเน้นการขับเคลื่อนด้วย “เครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวใหม่” และ “การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ”

 เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้ในระยะยาว ประกอบด้วย 3 เครื่องยนต์หลัก คือ การส่งเสริมเศรษฐกิจBCGการเร่งลงทุนทั้งโครงสร้างพื้นฐานและใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และการปรับเข้าสู่ความเป็นดิจิทัล

ส่งเสริมเศรษฐกิจ BCG (Bio Economy) หรือก็คือ เศรษฐกิจชีวภาพเศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) โดยนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ยกระดับความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับ 4 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ เกษตรและอาหาร พลังงานและวัสดุ สุขภาพและการแพทย์ และการท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผู้ผลิตที่เป็นฐานการผลิตเดิม เช่น เกษตรกรและชุมชน ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มหรือนวัตกรรม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ดูจะเหมาะกับโมเดลBCGซึ่งเป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจแบบใหม่เพื่อนำพาประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0โดยโมเดลนี้จะเข้ามาพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากส่งเสริมให้เศรษฐกิจเติบโตก้าวกระโดดและสร้างสิ่งแวดล้อมของไทยให้ดีขึ้น รวมถึงช่วยให้ไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(Sustainable Development Goals : SDG)ขององค์การสหประชาชาติด้วย

• เร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย อีอีซีถูกปลุกปั้นให้เป็นโครงการที่จะเข้ามาช่วยยกระดับประเทศไทยบนฐานของการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ดังนั้น “เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวใหม่” หรือ New Growth ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยแบ่งออกเป็น

การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน กระทรวงคมนาคมได้กำหนดแผนลงทุน 4 มิติ ครอบคลุมภาคขนส่งทางถนน –ราง - น้ำ - อากาศ รวม 40 โครงการ มูลค่าลงทุนกว่า 1.4 ล้านล้านบาท

การลงทุนใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอยู่แล้วในประเทศ (First s-curve) และในอุตสาหกรรมใหม่ (New S-curve)

การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งระหว่างปี 2565-2570 ในพื้นที่อีอีซี รวมทั้งสิ้น 131 โครงการ วงเงินลงทุน 386,565 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะเร่งด่วน ปี 2565-2566 อาทิ โครงการสนับสนุนการท่องเที่ยวเชื่อมโยง และระยะกลาง ปี2567-25670 อาทิ การก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงระยอง–จันทบุรี–ตราด, การก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงคลองสิบเก้า-กบินทร์บุรี-คลองเล็ก (จ.สระบุรี)–อรัญประเทศ เป็นต้น

• ปรับเข้าสู่ความเป็นดิจิทัล (Digitalization) เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิต การขนส่ง และภาคบริการ จึงต้องมีความพร้อมทั้งในด้านนวัตกรรม ข้อมูล ทุนมนุษย์ เพื่อร่วมขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

การเป็นดิจิทัลไทยแลนด์ก็เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างโอกาสทางสังคมเพื่อการเข้าถึงข้อมูล ข่าวสารและบริการต่าง ๆ เสริมทักษะความรู้ดิจิทัลให้ประชากรทุกกลุ่มในการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ดิจิทัลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันแล้ว ทั้งการทำงานจากที่บ้าน การสั่งอาหารและการใช้จ่ายเงินผ่านระบบออนไลน์ ตลอดจนการเติมเงินเข้าแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” เพื่อใช้จ่ายโครงการ “คนละครึ่ง”เป็นต้น

พื้นที่อีอีซีมีแนวโน้มดึงดูด FDI เข้ามามากเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่อาศัย 3 เครื่องยนต์ใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (New Growth) เป็นไปตามทิศทางโลก ที่มุ่งเน้นการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาใช้เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งขณะนี้ก็มีเม็ดเงินลงทุน BCG และใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายผ่านบีโอไอ รวมไปถึงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่และในอีอีซีมาระยะหนึ่งแล้ว เพียงแต่ต้องส่งเสริม เร่งและปรับให้มากขึ้น