โครงการ EECi เพื่อ EEC “ต้องครบ”และ“ต้องเร็ว”

โครงการ EECi เพื่อ EEC    “ต้องครบ”และ“ต้องเร็ว”

ตั้งแต่คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2559 จัดตั้งโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development: EECi) เพื่อเป็นศูนย์พัฒนานวัตกรรมในทุกมิติเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุน

ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อให้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) ในพื้นที่ EEC นั้น

 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผู้เป็นเจ้าภาพงานนี้ได้ร่วมมือกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เลือกพื้นที่ “วังจันทร์วัลเล่ย์” เนื้อที่ 3,500 ไร่ จังหวัดระยอง โดยกำหนดพื้นที่ออกเป็น 3 โซน คือ โซนศึกษา โซนวิจัย และโซนชุมชน ซึ่งจนถึงวันนี้ 5 ปีเข้ามาแล้ว ดูงานแล้ว จะว่าเร็วก็เร็ว จะว่าช้าก็ช้า

ที่ว่าช้าก็เพราะว่าพื้นที่ไม่ใช่เป็นพื้นที่ ที่ไม่มีอะไรมาก่อน แต่เป็นที่ตั้งสถาบันการศึกษาระดับโลกที่มีนักเรียนระดับหัวกะทิของประเทศทางด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ 2 แห่ง คือโรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) และสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC)เป็นมหาวิทยาลัยระดับปริญญาโท-เอก รวมทั้งศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ ที่เปิดดำเนินการไปแล้ว ทำให้โซนสถานที่ศึกษาดูเหมือนจะเป็นไปตามแผนแล้ว เพราะมีอยู่แล้ว แต่ก็เติมเต็มให้ทันสมัยและครบมากขึ้น แต่งานทั้งหมดในโซนนี้มาจากทุนของกลุ่ม ปตท. และพันธมิตร หากมาจากงบประมาณ ยังนึกภาพไม่ออก

ปัจจุบันพอเห็นโครงการต่างๆ ที่ผุดขึ้นมาตามแผนงานที่ค่อนข้างรวดเร็วมากในโครงการที่เป็นของเอกชน ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นของกลุ่ม ปตท. และพันธมิตร ส่วนที่ใช้งบประมาณของรัฐนั้น ก็เดินไปตามระบบงบประมาณที่ก็พอรู้ว่ายาก ทั้งขอและยากทั้งการใช้ อาทิ อาคารศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะซึ่งเป็นอาคารกลางของโซนนวัตกรรม ที่การก่อสร้างน่าจะเสร็จเร็วๆ นี้ แต่จะสามารถเปิดดำเนินการได้กลางปีหน้าถ้างบประมาณได้ครบ ถึงอย่างนั้นก็ยังถือว่าช้ากว่าแผนเดิมกว่า 2 ปี หรือโรงงานต้นแบบ Biorefinery แห่งแรกของอาเซียน

ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท Bio Base Europe กับ สวทช. ที่คาดว่าจะเปิดในอีก 2 ปีข้างหน้า ส่วนโครงการสนามทดสอบการบินของโครน UAV ขนาด 9,000 ตารางเมตร รวมทั้งสนามทดสอบยานพาหนะไร้คนขับที่เพิ่งได้งบประมาณในการศึกษา ออกแบบ รวมทั้ง ศูนย์วิจัยแสงซินโครตรอน ที่คาดว่าจะเปิดในปี 2570 ถ้ามีงบประมาณต่อเนื่อง ซึ่งก็คงอีกนานพอสมควรกว่าจะเห็นเป็นรูปร่าง ซึ่งโครงการเหล่านี้ทั้งหมดเป็นหัวใจของความสำเร็จของ EECi ดังนั้นต้องภาวนาให้คนจัดสรรงบประมาณของรัฐเข้าใจในเรื่องนี้ และต้องเร่งให้เร็ว ประเภทปีนี้ให้งบประมาณสร้างอาคาร อีกปีให้งบตกแต่ง อีกปีให้งบซื้อเครื่องมือ ถ้าเป็นแบบนี้ แทนที่ปีเดียวจะเสร็จกลายเป็นสามปี ซึ่งในโลกที่นวัตกรรมไปเร็วเช่นทุกวันนี้ รับประกันว่าไม่มีทางทันเห็นท้ายทอยคู่แข่งแน่ๆ

ดังนั้น การจัดลำดับความสำคัญของงบประมาณนั้น ก็ขึ้นอยู่กับกระทรวง อว. และสำนักงบประมาณที่จะคุยกันให้เข้าใจตรงกันว่า นี่คือโครงการพิเศษ ไม่งั้นหากใช้ระบบงบประมาณแบบเดิม ๆ ที่กำหนดกรอบงบประมาณให้ อว. และให้ อว. จัดลำดับความสำคัญของงานตนเองแล้ว ผมก็ยังเชื่อว่า งานเดิม งานประจำ ที่เป็นภารกิจหลักอยู่แล้วก็ได้รับงบไปก่อน และถ้าจะเกี่ยวข้องกับโครงการ EECi ก็เป็นการพัฒนานั้น พัฒนานี้ที่เป็นงานปกติที่ลงไปช่วยชุมชนบ้าง แต่ก็ไม่ใช่การสร้าง EECi เพื่อเป้าหมายหลัก ส่วนงานใหม่ในโครงการคงเกิดขึ้นยาก หากรัฐไม่เห็นว่า EECi คือ ตัวจุดประกายในการลงทุนในอนาคตของ EEC

เพราะวันนี้ นักลงทุนไม่ได้มองแค่ที่ตั้งสำนักงาน สิทธิประโยชน์พิเศษจากการลงทุนเท่านั้น แต่รวมถึงคุณภาพชีวิตของบุคลากรที่มีคุณภาพของพวกเขา และครอบครัวด้วย และสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จของโครงการ EECi อย่างยิ่ง แต่ก็พอเข้าใจได้ว่า ในเรื่องนี้มองได้แบบนักลงทุนว่า ไก่กับไข่ อะไรควรมาก่อนกัน

แม้ว่าโครงการนี้จะวางเวลาไว้ 20 ปี แต่วันนี้ ทั้งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี นวัตกรรม ธุรกิจ และคู่แข่งไม่รอนานถึงขนาดนั้น ดังนั้นสิ่งที่ EECi ต้องเร่งทำสิ่งที่ค้าง และเลื่อนมาตลอดนั้นให้เสร็จตามเป้าหมาย (ใหม่) ให้ได้ และเติมเต็มที่ต้องมีให้ครบ และที่สำคัญต้องทำให้เสร็จ เร็ว ด้วย การจัดทำงบประมาณที่ให้ความสำคัญสำหรับโครงการนี้จำเป็นอย่างยิ่ง เพราะที่นี้คือเมืองนวัตกรรม ที่ถูกวางไว้เพื่อเป็นหัวใจของ EEC ทั้งหมด

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์