กนอ.ผนึกนิคมฯ-โรงงานนำร่อง ดันเศรษฐกิจหมุนเวียน

กนอ.ผนึกนิคมฯ-โรงงานนำร่อง ดันเศรษฐกิจหมุนเวียน

กนอ.-กรอ.-ส.อ.ท. ผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียน ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เปลี่ยนกากอุตสาหกรรมเป็นสินค้าใหม่

การพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านมาในอดีตมีลักษณะเป็นระบบ เศรษฐกิจแบบเส้นตรง (Linear Economy) คือ การถลุง ผลิต และทิ้ง โดยกระบวนการผลิตดังกล่าวจะปล่อยให้ของที่ ‘ทิ้ง’ ไป ไม่มีการหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ซ้ำแต่อย่างใด และก่อให้เกิดขยะจำนวนมาก นอกจากนี้การจัดการขยะที่ด้อยประสิทธิภาพนี้ยังส่งผลให้เกิดก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ

ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (2560-2579) ได้กำหนดยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตด้วยคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 12 ขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องแผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกทั้งภาครัฐและภาคเอกชนรายใหญ่ ได้นำ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้เป็นกุญแจสำคัญในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว

ทั้งนี้ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กรมโรงงานอุตสาหกรรม และสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยแพร่โครงการสนับสนุนส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ยั่งยืน ปี 2564 โดยมีโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม 6 แห่ง นำร่อง ดังนี้ 

1.นิคมอุตสาหกรรมอาร์แอลไอ บริษัท อาร์ไอแอล 1996 จำกัด ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม

2.นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง บริษัท ซีพีแรม จำกัด ผู้ผลิตเบเกอรี

3.นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ (ชลบุรี) บริษัท เฮงเค็ล (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ (สารทำความสะอาดพื้นผิวโลหะ กาว และสารยึดแน่น)

4.นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ (ระยอง) บริษัท แบกซ์เตอร์ เมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตน้ำยาล้างไต

5.นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร บริษัท ซิกเวอร์ค (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตหมึกพิมพ์สาหรับบรรจุภัณฑ์

6.นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง บริษัท มอนเดลีซ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิต candy&Gum

กนอ.ผนึกนิคมฯ-โรงงานนำร่อง ดันเศรษฐกิจหมุนเวียน

กฤษฎาพร บุญอยู่ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ กนอ. กล่าวว่า ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญกับการจัดการของเสียหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ซึ่งจะทำให้โรงงานได้ประโยชน์เรื่องต้นทุนการกำจัดของเสีย ช่วยลดการฝังกลบและสร้างมลพิษ รวมถึงยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อชุมชนและสังคม ส่วนมาตรการอื่นๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการดำเนินธุรกิจหมุนเวียนจะพูดคุยกับฝ่ายบริหารในอนาคต

นิพนธ์ จันทร์ทองใบ ผู้จัดการนิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอล บริษัท อาร์ไอแอล 1996 จำกัด กล่าวว่า ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นแนวทางหนึ่งในการกำจัดส่วนเกินผู้บริโภคในกระบวนการผลิตหรือการใช้งาน ทำให้เกิดของเสียหรือกากอุตสาหกรรมน้อยลง ลดการปลดปล่อยคาร์บอน สู่การสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นมาได้

ธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิว อาไรวา จำกัด กล่าวถึงอุปสรรคหลังจากนี้ ว่า เมื่อนำผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการทำโครงการมาปฏิบัติจริง สินค้าใหม่ที่ผลิตได้จากกระบวนการหมุนเวียนนี้จะมีต้นทุนมากกว่าการกำจัดของเสียแบบเดิม นอกจากนี้สินค้าใหม่ที่ผลิต อาทิ กล่องดินสออัพไซเคิลจากพลาสติก หากต้องการผลิตเชิงพาณิชย์เพื่อการกำจัดพลาสติกที่เป็นของเสีย จะเกิดต้นทุนในการหาตลาดเพื่อขายสินค้า ในกรณีที่สินค้าใหม่ไม่ตรงกับธุรกิจเดิมก็จะต้องสร้างหน่วยธุรกิจใหม่ (new business unit) ขึ้นมาเพื่อดำเนินงานขายสินค้าดังกล่าวให้สมดุลกับที่โรงงานผลิตของเสียได้ปริมาณมาก ไม่อย่างนั้นของเสียก็คงค้างอยู่เป็นคอขวด 

“โครงการจะนำไปปฏิบัติได้จริงจะต้องเกิดการเชื่อมโยงกับผู้บริโภค ต้องมีการหาพาร์ทเนอร์ธุรกิจที่ต้องการของเสียของเราอย่างสมดุล จะได้เกิดการประสานผลประโยชน์ในการส่งต่อขยะของเราเป็นคุณค่าของเขา และจะทำให้ธุรกิจดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว”