เกษตรเพิ่ม3ทางเลือก รับมือแล้ง 65 น้ำน้อยงดทำนาปรังครั้งที่ 2

เกษตรเพิ่ม3ทางเลือก รับมือแล้ง 65 น้ำน้อยงดทำนาปรังครั้งที่ 2

กรมส่งเสริมการเกษตร เพิ่มทางเลือก 3 โครงการ ให้เกษตรกร เตรียมรับมือปริมาณน้ำน้อยในฤดูแล้งจำนวน ปลูกพืชได้ 11.65 ล้านไร่และงดทำนาปรังครั้งที่ 2

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและการแก้ไขปัญหาภาคเกษตร เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 ซึ่งมี ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมได้เห็นชอบแผนการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง และการเตรียมพร้อมรับมือปี 64/65 ซึ่งกำหนดให้การบริหารจัดการน้ำมีความสอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน ตามลำดับความสำคัญของกิจกรรมการใช้น้ำ ได้แก่

1. จัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคในช่วงฤดูแล้ง 2. จัดสรรน้ำเพื่อการรักษาระบบนิเวศในช่วงฤดูแล้ง 3. สำรองน้ำไว้สำหรับการใช้น้ำในช่วงต้นฤดูฝน เพื่ออุปโภค-บริโภคและรักษาระบบนิเวศ ช่วงเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2565

4. จัดสรรน้ำเพื่อการเกษตรกรรม และ 5. จัดสรรน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม โดยมีแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2564/65 เป็นส่วนหนึ่งของแผนการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งดังกล่าวด้วย 

สำหรับแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2564/65  คณะทำงานวางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2564/65 มีผู้แทนจากหน่วยงานด้านการบริหารจัดการน้ำ และการจัดการพื้นที่ได้ประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาและเห็นชอบแผนฯ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศใช้แผนฯ ดังกล่าวเรียบร้อยแล้วดังนี้

กำหนดแผนพื้นที่การเพาะปลูก ทั้งประเทศ จำนวน 11.65 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวรอบที่ 2 จำนวน 9.02 ล้านไร่ โดยเป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน 6.41 ล้านไร่ และนอกเขตชลประทาน 2.61 ล้านไร่ และพืชไร่พืชผัก จำนวน 2.63 ล้านไร่ โดยเป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน 5.4 แสนไร่ และ

นอกเขตชลประทาน 2.09 ล้านไร่ สำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด พื้นที่รวม 4.98 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวรอบที่ 2 จำนวน 4.26 ล้านไร่ โดยเป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน 2.81 ล้านไร่ และนอกเขตชลประทาน 1.45 ล้านไร่ และพืชไร่พืชผัก จำนวน 7.2 แสนไร่ เป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน 6 หมื่นไร่ และนอกเขตชลประทาน6.6 แสนไร่ และลุ่มน้ำแม่กลอง 7 จังหวัด พื้นที่รวม 1.10 ล้านไร่ แบ่งเป็น

ข้าวรอบที่ 2 จำนวน 8.6 แสนไร่ เป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน8.4 แสนไร่ และนอกเขตชลประทาน 2 หมื่นไร่ ล้านไร่ และพืชไร่พืชผัก จำนวน2.4 แสนไร่ เป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน1.7 แสนไร่ และนอกเขตชลประทาน 7 หมื่นไร่ 

โดยแผนดังกล่าวเป็นการวิเคราะห์จากปริมาณน้ำต้นทุนและความเหมาะสมของพื้นที่ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเพาะปลูกพืชได้เหมาะสมกับศักยภาพพื้นที่ และแผนการบริหารจัดการน้ำแบบยั่งยืน ซึ่งเป็นการจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่ และกำกับติดตามสถานการณ์การเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2564/65 ของเกษตรกรให้เป็นไปตามแผนควบคุมการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งที่กำหนดไว้

เนื่องจากในบางพื้นที่มีปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำค่อนข้างน้อย จึงมีความจำเป็นต้องงดจัดสรรน้ำสำหรับใช้ในการเพาะปลูกข้าวรอบที่ 2 ในช่วงฤดูแล้ง ปี 2564/65 ในบางพื้นที่ และสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชใช้น้ำน้อย หรือเข้าร่วมโครงการต่างๆ  ของภาครัฐต่อไป

เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่เกษตรกรในการปลูกพืชอื่นทดแทนการปลูกข้าวรอบที่ 2 และรองรับการทำการเกษตรในช่วงฤดูกาลเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้จัดทำแผนงาน/โครงการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ โครงการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในระดับไร่นา โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร กิจกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา และโครงการพัฒนาศักยภาพกระบวนการผลิต กิจกรรมส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลายฤดูนาปรัง ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

1.โครงการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในระดับไร่นา  เป็นโครงการที่ส่งเสริมให้เกษตรกรมีความตระหนักการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า และมีความรู้ในการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพด้วยระบบการให้น้ำแก่พืชที่ถูกต้อง รวมทั้งให้เจ้าหน้าที่ผู้ขับเคลื่อนโครงการจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการให้น้ำแก่พืชที่ถูกต้อง สามารถแนะนำถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกร

โดยมีการถ่ายทอดความรู้หลักสูตรการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าในพื้นที่ดำเนินการให้แก่เกษตรกรเป้าหมาย จำนวน 50 แห่งๆ ละ 50 ราย รวม 2,500 ราย และจัดทำแปลงเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในระดับไร่นาในชุมชน เพื่อเป็นตัวอย่างและจุดเรียนรู้ให้กับเกษตรกร และขยายผลสู่พื้นที่ดำเนินการ จำนวน 50 แห่ง (ประมาณ 200 ไร่) โดยการจัดทำแปลงเรียนรู้ จะให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโครงการที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรเข้มเป็นพี่เลี้ยงและให้คำแนะนำตลอดโครงการ รวมทั้งจะมีการติดตามนิเทศงานและการประเมินผลการดำเนินงาน

2.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร กิจกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา จะเน้นส่งเสริมองค์ความรู้ให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา จำนวน 2,000 ราย ผ่านการอบรมโดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรรายใหม่ และจัดทำแปลงเรียนรู้ 194 แปลง พื้นที่ 582 ไร่ ใน 36 จังหวัด ประกอบด้วย ภาคตะวันออก 1 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดปราจีนบุรี ภาคกลาง 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชัยนาท และจังหวัดสระบุรี

ภาคเหนือ 15 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร เชียงราย ตาก นครสวรรค์ น่าน พะเยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ ลำปาง ลำพูน สุโขทัยอุตรดิตถ์ และจังหวัดอุทัยธานี และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 18 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา นครพนม บุรีรัมย์ มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี อุบลราชธานี และจังหวัดอำนาจเจริญ

โดยในทุกระยะการผลิต จะมีนักส่งเสริมการเกษตรคอยเป็นพี่เลี้ยงและให้คำแนะนำตลอดโครงการ รวมทั้งจะมีการจัดประชุมเชื่อมโยงเครือข่ายผู้รับซื้อผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา ทั้ง 3 ภูมิภาค ที่เป็นแหล่งผลิตที่สำคัญของข้าวโพด คือ เขตภาคเหนือ เขตภาคอีสาน และเขตภาคกลาง ร่วมกับสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย และสมาคมการค้าพืชไร่

3.โครงการพัฒนาศักยภาพกระบวนการผลิต กิจกรรมส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลายฤดูนาปรัง มีเป้าหมายพื้นที่ดำเนินการ เกษตรกร 6,572 ราย พื้นที่ 6,572 ไร่ 18 จังหวัด ประกอบด้วย ภาคเหนือ 11 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร  เชียงราย นครสวรรค์ พะเยา พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ อุทัยธานี แพร่ และจังหวัดตาก ภาคกลาง 3  จังหวัด

ได้แก่ จังหวัดชัยนาท สระบุรี และกรุงเทพมหานคร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดศรีสะเกษ สกลนคร และจังหวัดอุบลราชธานี และภาคตะวันออก 1 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยจะดำเนินการจัดเวทีเรียนรู้การปลูกพืชหลากหลาย ประชุมเชื่อมโยงตลาดระหว่างเกษตรกรกับผู้ประกอบการรับซื้อผลผลิต และสนับสนุนการจัดทำแปลงเรียนรู้การปลูกพืชหลากหลายทดแทนการทำนาปรัง ตั้งแต่กระบวนผลิตจนถึงการจำหน่าย ในช่วงเดือนพฤศจิกายน – เดือนเมษายน

ตลอดจนสนับสนุนให้เกษตรกรเกิดการรวมกลุ่มจัดทำแปลงเรียนรู้ ปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรพื้นที่การเพาะปลูกพืชหลากหลายในฤดูนาปรัง ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้จากจุดทำแปลงเรียนรู้ เพื่อให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชหลากหลายในพื้นที่นาปรัง