กรมฝนหลวงฯ ปิดหน่วยฯ เร่งซ่อมบำรุงอากาศยาน เตรียมความพร้อมสู้ภัยแล้งปี 65

กรมฝนหลวงฯ ปิดหน่วยฯ เร่งซ่อมบำรุงอากาศยาน เตรียมความพร้อมสู้ภัยแล้งปี 65

กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทั่วประเทศ พร้อมเร่งซ่อมบำรุงอากาศยานให้ได้มาตรฐาน รวมไปถึงการเตรียมฝึกบินทบทวนประจำปี เพื่อให้พร้อมปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้งในเดือนมีนาคม 2565

นายสำเริง แสงภู่วงค์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 13 หน่วยทั่วประเทศแล้ว เนื่องจากประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูหนาวตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ตามประกาศของ กรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งสภาพอากาศในช่วงฤดูหนาวจะมีความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศที่มีปริมาณต่ำและสภาพอากาศ
มีความเสถียรภาพมากขึ้น ทำให้ปฏิบัติการฝนหลวงได้ยาก

อีกทั้งในช่วงเดือนพฤศจิกายน – กุมภาพันธ์ เป็นระยะเวลาของการตรวจซ่อมอากาศยานประจำปีของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร หลังจากที่อากาศยานได้บินปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานถึง 8 เดือน เพื่อเป็นการบำรุงรักษาอากาศยานให้พร้อมสมบูรณ์

ซึ่งในขณะนี้ได้มีการเริ่มซ่อมบำรุงอากาศยานแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นมา โดยกำหนดการดำเนินงานจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วงเวลา คือ ช่วงที่ 1 วันที่ 1 พฤศจิกายน – 17 ธันวาคม 2564 และช่วงที่ 2วันที่ 17 ธันวาคม 2564 – มกราคม 2565

โดยหลังจากการซ่อมบำรุงอากาศยานแล้วเสร็จ ทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะมีการฝึกบินทบทวนประจำปีของนักบิน เพื่อเตรียมความพร้อมปฏิบัติการฝนหลวงในช่วงเดือนมีนาคม 2565 ต่อไป

 ด้านผลการปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่เปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง สู้ภัยแล้ง ประจำปี 2564 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา มีการขึ้นปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 227 วัน 4,243 เที่ยวบิน มีวันฝนตกจากการปฏิบัติการฝนหลวงคิดเป็นร้อยละ 95.0 มีจังหวัด ที่มีรายงานฝนตกรวม จำนวน 64 จังหวัด และมีพื้นที่การเกษตรที่ได้รับประโยชน์ จำนวน 188.4 ล้านไร่

รวมถึงมีฝนตกในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ รวม 127 แห่ง แบ่งเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ 30 แห่ง และขนาดกลาง 105 แห่ง และสามารถเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ รวม 221.2 ล้าน ลบ.ม. ครอบคลุมทั่วประเทศ ทั้งนี้ ในส่วนของการปฏิบัติการฝนหลวงในปี 2565 คาดว่าจะเริ่มดาเนินการในช่วงเดือนมีนาคมเป็นต้นไป 

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน  กล่าวว่า   อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 59,329 ล้าน ลบ. สามารถรับน้ำได้รวมกันอีกประมาณ 17,086 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 14,821 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้รวมกันอีกประมาณ 10,092 ล้าน ลบ.ม.

อนึ่ง เนื่องจากได้สิ้นสุดฤดูฝนของทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางแล้ว จึงได้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ ที่ระดับน้ำกลับเข้าตลิ่งแล้ว ให้พิจารณาเก็บกักน้ำเพื่อสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้าให้ได้มากที่สุด ตามข้อสั่งการของรัฐบาล พร้อมปรับแผนการเพาะปลูกให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์

สำหรับพื้นที่ภาคใต้ ที่เริ่มเข้าสู่ฤดูน้ำฝน ให้ดำเนินการตามมาตรการรับมือน้ำหลากที่กรมกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด บริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ โดยใช้ระบบชลประทานให้เกิดประโยชน์สูงสุด พิจารณาปรับการระบายน้ำให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำให้น้อยที่สุด

พร้อมกับเน้นย้ำให้แจ้งเตือนก่อนการระบายน้ำทุกครั้ง เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดกับประชาชน นอกจากนี้ ยังได้เตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่ เครื่องจักร เครื่องมือ ให้สามารถปฏิบัติงานได้ทันที และร่วมบูรณาการกับหน่วยงานในท้องถิ่น ประชาสัมพันธ์ถึงสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง ขอให้ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด