เกษตรฯเร่งเคาะแผนรับมือภัยแล้งปี 2565

กระทรวงเกษตรฯประเมินสถานการณ์แล้งปี 64/65 มีแนวโน้มขาดแคลนน้ำหากใช้เกินและเพาะปลูกนอกแผนเพิ่ม เร่งทำแผนรับมือและป้องกันเตรียมพร้อม

รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำราญ สาราบรรณ์ ระบุ ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านเกษตรได้คาดการณ์สถานการณ์ภัยแล้งในปี 2564/65 จะมีแนวโน้มเกิดการขาดแคลนน้ำ หากมีการใช้น้ำในแต่ละส่วนไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ หรือมีการเพาะปลูกนอกแผนเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและลดผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นต่อภาคการเกษตร จึงได้จัดทำร่างแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้านการเกษตร ในช่วงฤดูแล้งปี 2564/65 และจะเสนอเข้าคณะอนุกรรมการวางแผน และติดตามการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรพิจารณาให้ความเห็นชอบในวันที่ 30 พ.ย.นี้ 

ส่วนสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศจำนวน 447 แห่ง มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 59,361 ล้าน ลบ.ม. (หรือ 76% ของความจุอ่างฯ) ปริมาณน้ำใช้การได้ 35,430 ล้าน ลบ.ม. (หรือ 68% ของความจุน้ำใช้การ) และสามารถรับน้ำได้อีก 16,983 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งนั้น มีการวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน โดยจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำ เพื่อสนับสนุนการอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศ์ การสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝน ด้านเกษตร และอุตสาหกรรม

“ขอเน้นย้ำให้เกษตรกรดำเนินการขึ้นทะเบียนเกษตรกร และปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนด เนื่องจากหากไม่ได้ขึ้นทะเบียนตามที่กำหนดนั้น หากเกิดสถานการณ์อุทกภัยหรือภัยพิบัติต่างๆต่อภาคการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นข้าว พืชไร่ ประมง ปศุสัตว์ หม่อนไหม และสวนยาง เกษตรกรจะไม่สามารถรับการเยียวยาตามหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือด้านเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 ได้

สำหรับ พื้นที่ประสบสถานการณ์อุทกภัยปี 2564 มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ รวม 53 จังหวัด สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติแล้ว 42 จังหวัด และยังมีพื้นที่ประสบอุทกภัยอยู่อีก 11 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดพิศณุโลก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดนครปฐม จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดสตูล โดยสถานการณ์ในทุกพื้นที่สามารถควบคุมได้แล้ว