รัฐ-ส.อ.ท.ดันอุตสาหกรรมเกษตร เร่งยกระดับรายได้ฐานราก

รัฐ-ส.อ.ท.ดันอุตสาหกรรมเกษตร เร่งยกระดับรายได้ฐานราก

กระทรวงเกษตรฯ จับมือ ส.อ.ท.วางนโยบายเกษตรปลอดภัย ตั้งเป้าผลิตได้แม่นยำ รุกผลิตสินค้าคุณภาพ เร่งปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเกษตร หวังยกระดับรายได้เกษตรกร

โครงการประกันรายได้ของรัฐบาลเป็นเพียง 1 ในเครื่องมือที่ช่วยบรรเทาปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ แต่ไม่สามารถจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน ดังนั้น เพื่อให้หลุดพ้นจากจุดอ่อนเดิม สิ่งแรกที่เกษตรกรต้องมองแนวโน้มความต้องการของตลาดให้เป็นด้วยคุณภาพของสินค้าที่เป็นปัจจัยลำดับต้นที่ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้า

 

ดังนั้นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงมุ่งเน้นการพัฒนาสินค้าเกษตรเพื่อรองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในการพัฒนาขีดความสามารถความร่วมมือเพื่อยกระดับโครงสร้างภาคอุตสาหกรรมการเกษตร ภายใต้5กรอบแผนงาน 4 เป้าหมายและ 1 นโยบาย

 

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับ ส.อ.ท. (กรกอ.) กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง ส.อ.ท.กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ภายใต้ กรกอ.นั้นแบ่งเป็น 5 กรอบ คือ การผลิต การแปรรูป การตลาด เทคโนโลยีและโลจิสติกส์

 

รวมทั้งมีเป้าหมายการดำเนินงาน 4 ด้าน คือ

1. เพื่อเพิ่มรายได้เกษตรกร

2. เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร

3. เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

4. เพิ่มสัดส่วนในผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)

 

สำหรับดำเนินการทั้งหมดให้อยู่ภายใต้ตามนโยบายและมาตรการภาคเกษตร คือ

1."เกษตรปลอดภัย" เป็นวาระแห่งชาติเพื่อสร้างรายได้และลดความเหลื่อมล้ำให้กับเกษตรกร

2."เกษตรแม่นยำ" นำร่องด้วยโครงการเกษตรแม่นยำสู่ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม 2 ล้านไร่

3.“ไม้เศรษฐกิจ” ด้วยการส่งเสริม “การปลูกไม้มีค่าเพิ่มป่าชุมชน”

 

ทั้งนี้ มีเครื่องมือขับเคลื่อน คือ

 - การใช้เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech & Innovation)

 - เกษตรกรทันสมัย (Smart & Young Smart Farmers) และศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพ การผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง

 - เกษตรอัจฉริยะและเกษตรแม่นยำ (Smart & Precision Agriculture)

 - การรับรองมาตรฐานเกษตร (Standardization)

 - ตลาดนำการผลิต (Online Offline Marketing )

 - โลจิสติกส์เกษตร (Logistic) การขนส่งสินค้าเกษตร

 

ผนึกรัฐ-เอกชนพัฒนาเกษตร

 

ในขณะที่นโยบายเกษตรปลอดภัย นั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ ส.อ.ท.ได้ผลักดันเกษตรอุตสาหกรรม (Agroindustry) ยุคใหม่ในการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรและสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่กระจายการลงทุนไปทั่วประเทศให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุดโดย ขับเคลื่อนโครงการใหม่ 4 โครงการ ได้แก่

1.โครงการ 1 กลุ่มจังหวัด 1 นิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร

2.โครงการซิลิคอนวัลเลย์เกษตรไฮเทค จังหวัดสระบุรี

3.โครงการนิคมอุตสาหกรรมอาหารโลก (Global Food Valley) จังหวัดอ่างทอง

4.โครงการอาหารแห่งอนาคต (Future Food) เช่น โปรตีนทางเลือกใหม่ เช่น โปรตีนจากแมลง (Edible insect) จิ้งหรีดและโปรตีนจากพืช (Plant base) อาหารอินทรีย์ (Organic Food) อาหารเสริมสุขภาพ (Functional Food) อาหารทางการแพทย์ (Medical Food) และอาหารนวัตกรรมใหม่ (Novel Food)

 

“ไทยมีศักยภาพด้านเกษตรและอาหารสูงมาก โดยในปี 2562 เป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับ 11 ของโลก และอันดับ 2 ของเอเชียรองจากจีนเท่านั้น ซึ่งส่งออกกว่า 1 ล้านล้านบาทต่อปี และหลังเกิดโควิด-19 การส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารยังขยายตัวต่อเนื่อง จะเป็นบ่งชี้ถึงศักยภาพด้านเกษตรและอาหารของประเทศไทยสูงมาก”

ปรับโครงสร้างอุตฯเกษตร

 

ส่วนการดำเนินงานจะต้องปรับโครงสร้างและระบบของอุตสาหกรรมเกษตรอาหารใหม่ ระบบการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพิ่มผลผลิตต่อไร่รวมทั้งแสวงหาสินค้าตัวใหม่ ซึ่ง กรกอ.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการ กรกอ. 5 ภาค คือ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ เพื่อ วางแผนขับเคลื่อนด้านเกษตรอุตสาหกรรม การเกษตรการแปรรูปสร้าง Value chain เพิ่มมูลค่า เกษตร-อุสาหกรรมอาหาร การสร้างความมั่นคงด้านอาหารด้วยเทคโนโลยีเกษตร

 

และกระตุ้นการทำงานแบบ SAND BOX การเชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลเทคโนโลยีข่าวสารระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เน้นการใช้ข้อมูลให้ได้ประโยชน์สูงสุด เพื่อการพัฒนาเกษตร-อุตสาหกรรม ให้เป็นรูปธรรม

 

ในขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะยกระดับระบบคุณภาพมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรอาหารปลอดภัย เป็นความร่วมมือภายใต้ MOU SPS กลุ่มประเทศอาเซียน-จีน

 

“อีอีซี” ดัน 5 คลัสเตอร์

 

สำหรับประเด็นที่น่าจับตามอง คือ แผนพัฒนาภาคการเกษตรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรีและระยอง โดยครอบคลุม 5 คลัสเตอร์ทางการเกษตร ได้แก่ คลัสเตอร์ผลไม้ คลัสเตอร์ประมง คลัสเตอร์พืชคลัสเตอร์พืชสมุนไพรและคลัสเตอร์พืช มูลค่าสูงสอดรับกับอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่และยุคโควิด

 

นอกจากนี้ จะมีการผลักดันใช้ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมหรือศูนย์ AIC เป็นศูนย์ประสานงานการขับเคลื่อนระดับพื้นที่พร้อมกัน 77 จังหวัดโดยให้เร่งนำเสนอแผนจัดตั้งฟู้ดอินโนโพลิส (Food Innopolis) นิคมอุตสาหกรรมเกษตร เขตเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเกษตรและระเบียงเศรษฐกิจเกษตรอุตสาหกรรมในจังหวัดหรือกลุ่มจังหวัดที่มีศักยภาพ

 

รวมทั้งจะมีการเร่งเชื่อมโยงข้อมูลของศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (National Agriculture Big Data Center : NABC) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับศูนย์บิ๊กดาต้าของศูนย์ AIC และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดทุกแห่งด้วย

 

ทางรอด“เกษตรแม่นยำ”

 

ในขณะที่นโยบายเกษตรแม่นยำที่จะสอดคล้องกับการทำเกษตรปลอดภัย และเชื่อมโยงกับโครงการแปลงใหญ่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มีอยู่เดิม แต่เพื่อให้เกิดความร่วมมือกับภาคเอกชนอย่างเป็นรูปธรรม การดำเนินโครงการเกษตรแม่นยำนี้กำหนดพื้นที่ไว้ 2 ล้านไร่ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ระยะ

 

สำหรับในระยะแรกดำเนินการสิ้นสุดไปแล้วเมื่อเดือน พ.ค.2564 ในสินค้าเกษตร 5 ชนิด ได้แก่ ยางพารา มะเขือเทศ อ้อยโรงงาน ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพดหวาน ปัจจุบัน อยู่ระหว่างการดำเนินงานในระยะที่ 2 กำหนดระยะเวลาดำเนินการปี 2564-2566 ซึ่งเบื้องต้นมีสินค้าเกษตรเป้าหมาย 10 ชนิด ประกอบด้วย เช่น ถั่วเหลือง น้ำยางสด เมล่อน ข้าว เป็นต้น

 

สำหรับนโยบายไม้เศรษฐกิจนั้นได้ผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนให้ความสำคัญกับการปลูกไม้มีค่าและให้มีการปลูกป่าในชุมชน ฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม รวมถึงเพิ่มพื้นที่ป่า 40% ของพื้นที่ประเทศ และมีการให้รับรองการจัดการสวนป่า (Forest Management) ด้วยมาตรฐาน มอก.14061 และให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ดำเนินการจัดการสวนยางด้วยมาตรฐานชาติ มอก.14061 จำนวน 13 ล้านไร่ ให้แล้วเสร็จใน 5 ปี