การชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน ความเสี่ยงกดดันเงินเฟ้อและเศรษฐกิจ

การชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน ความเสี่ยงกดดันเงินเฟ้อและเศรษฐกิจ

ในแง่ผู้บริโภคการชะงักของ "ห่วงโซ่อุปทาน" ส่งผลโดยตรงต่อเงินเฟ้อ และความสามารถในการบริโภคที่แท้จริงของประชาชน โดยเฉพาะหากเศรษฐกิจไทยโตต่ำ "เงินเฟ้อ" จะยิ่งกระทบต่อคุณภาพชีวิตคนจำนวนมาก โดยเฉพาะครัวเรือนรายได้ต่ำ หรือครัวเรือนที่มีหนี้มาก

ขณะนี้นักเศรษฐศาสตร์ รัฐบาลนานาประเทศต่างพูดถึงความท้าทายของเศรษฐกิจในปีหน้า หนึ่งในความท้าทายสำคัญที่ทุกประเทศจับตาและเตรียมรับมือ คือการชะงักงันหรือสะดุดของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Disruption) ซึ่งกำลังส่งผลกระทบทั่วโลก

การชะงักงันหรือสะดุดของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Disruption) คืออะไร

การชะงักงันหรือสะดุดของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Disruption) เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดเกือบ 2 ปีนับแต่มีโควิด ทำให้การผลิตของสินค้าหลากหลายประเภททั่วโลกหยุดชะงัก 

หลายโรงงานต้องหยุดดำเนินการจากผลกระทบของโควิด และมาตรการควบคุมการระบาดของรัฐ แรงงานไม่สามารถออกจากบ้านไปทำงาน บางโรงงานต้องปิดชั่วคราว ผู้ให้บริการขนส่งต้องหยุดส่งสินค้าเพราะมีผู้ติดเชื้อ การขนส่งข้ามพรมแดนโดยเฉพาะระหว่างประเทศมีข้อจำกัดขึ้นกับมาตรการควบคุมโรคและนโยบายเรื่องวัคซีน กระทบต่อการผลิตหรือห่วงโซ่อุปทานสินค้าทั่วโลก เนื่องจากที่ผ่านมา ในยุคก่อนโควิด การผลิตสินค้าในประเทศหนึ่งพึ่งพาชิ้นส่วน วัตถุดิบจากหลายโรงงานในต่างประเทศ

ตั้งแต่มีโควิด การผลิตสินค้าหลายชนิดจึงไม่สามารถดำเนินการได้ตามปกติ ตัวอย่างเช่น การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์หลายประเภททั่วโลกต้องหยุดชะงัก เพราะโรงงานผลิตแผ่นวงจรขนาดเล็ก (ชิปอิเล็กทรอนิกส์) หลายโรงงานตั้งในพื้นที่ที่โควิดระบาดรุนแรง ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่า การขาดแคลนชิปอิเล็กทรอนิกส์จะยังเป็นปัญหาต่อไปจนถึงปีหน้า กำลังการผลิตรวมทั่วโลกยังน้อยกว่าความต้องการ กระทบห่วงโซ่การผลิตสินค้าจำนวนมาก

การชะงักงันหรือสะดุดของห่วงโซ่อุปทาน ส่งผลกระทบอย่างน้อย 3 ประการ

1. การชะงักงันหรือสะดุดของห่วงโซ่อุปทาน ส่งผลให้ภาคการผลิตทั่วโลกปรับตัว ย้ายฐานการผลิต เพื่อพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศน้อยลง ลดความเสี่ยงในระยะยาวจากการขาดแคลนวัตถุดิบ การย้ายหรือเปลี่ยนแปลงฐานการผลิตเช่นนี้ ส่งผลให้การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศลดลง ส่งผลลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก

2. การชะงักงันหรือสะดุดของห่วงโซ่อุปทาน ยังส่งผลต่อเงินเฟ้อ เพราะการขาดแคลนวัตถุดิบ ขาดแคลนแรงงาน ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น ยังไม่นับผลจากการปรับตัวของผู้ผลิตจำนวนมาก ที่เลียงความเสี่ยงจากการสะดุดของห่วงโซ่อุปทาน หันมาพึ่งพาเฉพาะวัตถุดิบจากในประเทศ ซึ่งแพงกว่าวัตถุดิบนำเข้าแต่เดิม ทำให้ต้นทุนแพงขึ้น กดดันให้ราคาสินค้าสูงขึ้น 

3. นอกจากสถานการณ์เงินเฟ้อข้างต้น ที่เกิดจากการย้ายฐานการผลิต ปัจจุบันทั่วโลกยังเผชิญการขาดแคลนแรงงานจากโรคระบาด ต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น ราคาน้ำมันและแร่โลหะที่สูงขึ้น การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ทั้งหมดล้วนกดดันให้ราคาสินค้าแพงขึ้น เร่งปัญหาเงินเฟ้อให้หนักขึ้น

กล่าวได้ว่า การชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก มีแนวโน้มกดดันเงินเฟ้อให้สูงขึ้น เป็นเงินเฟ้อที่เกิดจากฝั่งต้นทุน ไม่ใช่จากกำลังซื้อ ภาวะดังกล่าวสร้างความน่าเป็นห่วงต่อความสามารถในการดำรงชีพของประชาชน ซึ่งที่ผ่านมารายได้ลดลงอยู่แล้ว จากเศรษฐกิจที่หดตัว ถูกล็อกดาวน์ ออกไปทำงานไม่ได้ 

เงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจึงเสี่ยงกระทบกำลังซื้อและคุณภาพชีวิตของแรงงานหรือผู้มีรายได้น้อยในหลายประเทศอย่างมีนัยสำคัญ

ล่าสุด ต.ค. 2021 รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ก็ออกคำเตือนประชาชน ว่าคริสมาสต์ปีนี้ สินค้าบางอย่างอาจขาดแคลนหรือราคาปรับเพิ่มขึ้น โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อปี 2021 จะอยู่ที่ 4.2% สูงกว่าระดับ 2% ที่ตั้งไว้

ทั้งนี้จากผลสำรวจของ Accenture พบว่า 94% ของผู้บริหารในบริษัทฟอร์จูน 1000 เห็นถึงปรากฏการณ์ของการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานที่เกิดจากโควิด 19 โดยมีถึง 75% ของบริษัทเหล่านี้ได้รับผลกระทบทางลบ และมีมากถึง 55% เห็นว่าการชะงักงันหรือสะดุดของห่วงโซ่อุปทานที่เกิดขึ้น ทำให้บริษัทเติบโตลดลง

คำถามคือแล้ว สถานการณ์ชะงักงันหรือสะดุดของห่วงโซ่อุปทานจะมีถึงเมื่อไร หรือจบลงเมื่อไร 

จากการประเมินของผู้ประกอบการขนส่งทางเรือและผู้เชี่ยวชาญด้านคอนเทนเนอร์ วิเคราะห์ว่า ปัญหาชะงักงันหรือสะดุดของห่วงโซ่อุปทานจะดำเนินไปถึงอย่างน้อยคือสิ้นปี 2022 หรือตลอดปีหน้า (ดู Seatrade Maritime News, 20 ต.ค. 2021) ขณะที่ IMF ประเมินว่า ปรากฏการณ์เงินเฟ้อที่สูงขึ้นจากการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานร่วมกับราคาแร่วัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น กว่าจะกลับสู่ระดับเดิม คือกลางปี 2022 (ดู World Economic Forum, 18 ต.ค. 2021) 

ความท้าทายสำหรับประเทศไทย

สำหรับประเทศไทย การบริหารจัดการห่วงโช่การผลิตทั้งระดับอุตสาหกรรม และระดับประเทศ เป็นความท้าทายที่รออยู่ทั้งต่อผู้ประกอบการและรัฐบาล ความท้าทายดังกล่าวมีหลายมิติ เช่น 

ในแง่ผู้ผลิต ไทยในฐานะผู้ผลิตชิ้นส่วนวัตถุดิบ เพื่อส่งออกให้ผู้ผลิตสินค้าในประเทศอื่นจะทำอย่างไร ถ้าผู้ผลิตสินค้าเหล่านั้นมีแนวโน้มย้ายฐานการผลิตชิ้นส่วนไปสู่ประเทศตนเองเพื่อลดความเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคเทคโนโลยีทดแทนแรงงานมนุษย์ได้มีประสิทธิภาพ การใช้เทคโนโลยีช่วยประหยัดต้นทุนได้มากกว่าเดิม หรือกลับกัน ในฐานะที่ไทยพึ่งพาชิ้นส่วน วัตถุดิบจากต่างประเทศ เพื่อผลิตสินค้าหลายชนิด จะเตรียมรับมือทั้งการขาดแคลนวัตถุดิบ และต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างไร

ในแง่ผู้บริโภค การชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานส่งผลโดยตรงต่อเงินเฟ้อ และความสามารถในการบริโภคที่แท้จริงของประชาชน โดยเฉพาะหากเศรษฐกิจไทยโตต่ำ เช่นปีนี้ที่คาดว่าขยายตัวเพียง 1% (จากการประเมินของธนาคารโลกและกระทรวงการคลัง ณ ต.ค. 2564) เงินเฟ้อจะยิ่งกระทบต่อคุณภาพชีวิตคนจำนวนมาก โดยเฉพาะครัวเรือนรายได้ต่ำ หรือครัวเรือนที่มีหนี้มาก เราจะเตรียมการรับมืออย่างไร

การชะงักงันหรือสะดุดของห่วงโซ่อุปทาน จึงเป็นความท้าทายที่รออยู่นับจากนี้ รัฐบาลไทยและผู้ประกอบการต้องเตรียมรับมือให้ดี