‘เงินบาท’ วันนี้เปิด’อ่อนค่า’ ที่33.28บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’ วันนี้เปิด’อ่อนค่า’ ที่33.28บาทต่อดอลลาร์

“กรุงไทย” ชี้เงินบาทอาจผันผวนหนักทั้งช่วงก่อนและหลังการประชุมเฟดในวันพฤหัสนี้ เหตุตลาดคาดเฟดอาจกังวลปัญหาเงินเฟ้อและขึ้นดอกเบี้ยได้เร็ว แต่หากไม่เป็นเช่นนั้นเงินบาทยังพลิกกลับแข็งค่าตามกระแสฟันด์โฟลว์ไหลเข้า มองกรอบเงินบาทวันนี้33.20-33.40 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุนธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันนี้(3พ.ย.) ที่ระดับ 33.28 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.24 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.20-33.40 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทมีแนวโน้มผันผวนและอาจอ่อนค่าลงได้ ตามการกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ และส่วนหนึ่งอาจมาจากโฟลว์ซื้อราคาทองคำที่มีการย่อตัวลงมา 

อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า เงินบาทอาจผันผวนหนักทั้งช่วงก่อนและหลังการประชุมเฟด เนื่องจากผู้เล่นในตลาดก็มีมุมมองว่า เฟดอาจกังวลปัญหาเงินเฟ้อและอาจขึ้นดอกเบี้ยได้เร็ว (ตลาดมองเฟดขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีหน้า) 

หากในการประชุมเฟดครั้งนี้ เฟดไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนต่อแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ย รวมถึงไม่ได้แสดงความกังวลปัญหาเงินเฟ้อมากขึ้น เราเชื่อว่า เงินดอลลาร์อาจพลิกกลับมาอ่อนค่าลงได้ ซึ่งก็จะกดดันให้ เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้เช่นกัน 

ทั้งนี้ แนวต้านสำคัญของเงินบาทยังอยู่ในโซน 33.40-33.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่ผู้ส่งออกบางส่วนต่างรอขายเงินดอลลาร์อยู่ ส่วนผู้นำเข้าบางส่วนก็รอทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์ หากเงินบาทแข็งค่าขึ้น ทำให้ เงินบาทยังมีแนวรับสำคัญที่โซน 33.00-33.10 บาทต่อดอลลาร์ นอกจากนี้ ต้องระวังการแข็งค่าหลุดระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากระดับดังกล่าวเป็นจุด Stop Loss ของบรรดาผู้เล่นต่างชาติ ทำให้อาจมีการ Cover Position เก็งกำไรเงินบาทอ่อน และหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้เร็ว

 

รายงานผลประกอบการที่ออกมาดีกว่าคาด ยังคงช่วยหนุนโมมนตัมตลาดการเงินโดยรวม ส่งผลให้ในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนี S&P500 และ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ต่างปรับตัวขึ้นกว่า +0.37% และ +0.34% ตามลำดับ ส่วนทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX50 ปรับตัวขึ้น +0.37% หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบริษัทโดยรวมที่ยังออกมาดีต่อเนื่อง นอกจากนี้ เราเริ่มเห็นการฟื้นตัวของราคาหุ้นกลุ่มเทคฯ อาทิ ASML +1.4%, Adyen +1.2%, Infineon Tech +1.0% จากความคาดหวังว่าหุ้นกลุ่มเทคฯ จะสามารถเติบโตได้ดี 

 

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ระยะยาวโดยรวมยังคงทรงตัว ก่อนรับรู้ผลการประชุมเฟด โดยบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯยังแกว่งตัวใกล้ระดับ 1.55% อย่างไรก็ดี บอนด์ยีลด์ระยะสั้นกลับผันผวนหนัก โดยบอนด์ยีลด์ 2 ปี ทั่วโลก ต่างปรับตัวลดลงไม่น้อยกว่า 5bps อาทิ บอนด์ยีลด์ 2ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลงกว่า 5bps สู่ระดับ 0.45% หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มไม่แน่ใจว่า ธนาคารกลางจะส่งสัญญาณใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น เนื่องจากล่าสุด ธนาคารกลางออสเตรเลีย(RBA) ก็ไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า RBA เตรียมจะทยอยขึ้นดอกเบี้ย จากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ดังนั้น เรามองว่าควรจับตาผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในวันพฤหัสฯ นี้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้ผู้เล่นในตลาดอาจมีการปรับสถานะถือครองบอนด์ที่ชัดเจน โดย หากเฟดส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นและกังวลแนวโน้มเงินเฟ้อ มีโอกาสที่อาจจะเห็นบอนด์ยีลด์ 2ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นได้ แต่หากตลาดประเมินว่าเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจน เราคาดว่า อาจเห็นบอนด์ยีลด์ย่อตัวลงเล็กน้อยหรือแกว่งตัวในระดับเดิม

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นผลการประชุมเฟด ทำให้ล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 94.10 จุด ทั้งนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ได้กดดันให้ ราคาทองคำปรับตัวลดลงสู่ระดับ 1,787 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งมีโอกาสที่ผู้เล่นบางส่วนอาจรอเข้าซื้อ (Buy on Dip) ทองคำเพื่อเล่นรอบการรีบาวด์ได้ โดยเฉพาะหากเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นได้เร็วตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ เราอาจเห็นเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง พร้อมกับการรีบาวด์ของราคาทองคำขึ้นมาใกล้ระดับ 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้  

 

สำหรับวันนี้ ในด้านข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดจะรอจับตา รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (ISM Services PMI) ของสหรัฐฯ โดยตลาดประเมินว่า ดัชนี PMI ภาคการบริการในเดือนตุลาคม จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 62 จุด (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึง การขยายตัว) สะท้อนว่า ภาคการบริการของสหรัฐฯ ฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง หลังสถานการณ์การระบาด COVID-19 เริ่มคลี่คลายลงและผู้คนออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น ซึ่งภาพดังกล่าวจะช่วยหนุนแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทำให้เฟดมีความมั่นใจในแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจมากขึ้น 

 

นอกจากนี้ ไฮไลท์สำคัญของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจคือ การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด (ทราบผลในช่วงเวลา 1.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย) โดยตลาดมองว่า เฟดจะยังคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.00-0.25% ตามเดิม 

อย่างไรก็ดี เฟดอาจมีการประกาศแผนการลดคิวอีที่ชัดเจนขึ้น โดยเฟดอาจลดคิวอีในอัตราเดือนละ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ ตลาดจะจับตามุมมองของเฟดต่อแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ย รวมถึงความกังวลต่อปัญหาเงินเฟ้อ หลังตลาดเชื่อว่า เฟดอาจจะขึ้นดอกเบี้ยได้ในช่วงกลางปีหน้าจากแรงกดดันเงินเฟ้อที่อาจอยู่ในระดับสูงนานกว่าที่เฟดเคยประเมินไว้