ยอดจดทะเบียน "รถอีวี" พุ่ง 9 เดือนโต 92.5%

ยอดจดทะเบียน "รถอีวี" พุ่ง 9 เดือนโต 92.5%

ส.อ.ท. เผยยอดรถยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนใหม่ เดือนกันยายน 255 คัน รวมเก้าเดือนแรก 1,485 คัน เพิ่มขึ้น 42.4% สนองตามนโยบายรัฐ แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 มุ่งให้ไทยเป็นฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้า

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ยอดรถยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนใหม่ในประเทศ เดือนกันยายน 255 คัน รวมทั้งหมด 9 เดือนแรก (มกราคม-กันยายน) ปีนี้ 1,485 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 42.4% ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของภาครัฐที่จะให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า

ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 จำนวนรถยนต์ไฟฟ้าสะสมในประเทศทั้งหมด แบ่งเป็น รถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) จำนวน 3,547 คัน เพิ่มขึ้น 92.56% จากปีก่อน รถยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริด (HEV) ซึ่งมีการผลิตและจำหน่ายในไทยราว 10 ปี มีจำนวนสะสม 180,175 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 11.29% รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดแบบเสียบปลั๊ก (PHEV) จำนวน 29,401 คัน เพิ่มขึ้น 337.25%

รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) 5,548 คัน เพิ่มขึ้น 102.93% รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริด (HEV) 8,510 เพิ่มขึ้น 31.96% รถโดยสารไฟฟ้า ยอดสะสมจำนวน 123 คัน เพิ่มขึ้น 2.5% ทั้งนี้รถโดยสารไฟฟ้าเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนให้ผลิตและจำหน่ายในประเทศไทย ซึ่งคาดว่าน่าจะมีการส่งมอบได้จำนวน 500 คัน ภายในปีนี้ สุดท้ายรถบรรทุกไฟฟ้าปีนี้ มีเพิ่มขึ้นยอดสะสมเป็น 1 คัน

ซึ่งจะเห็นได้ว่ายอดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเดือนกันยายนเพิ่มขึ้นทุกประเภท สวนทางกับยอดจำหน่ายรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในซึ่งหดตัวทุกประเภท

ทั้งนี้ ตามที่รัฐบาลได้มีการร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าได้ตั้งเป้าให้ภายในปี 2570 สร้างอุปสงค์ของรถยนต์ไฟฟ้าที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (BEV และ FCEV) เพื่อใช้ในประเทศและส่งออก โดยให้ไทยมีปริมาณการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า จำนวน 282,240 คัน คิดเป็น 26% ของยานยนต์ทั้งหมด และมีปริมาณผลิตรถยนต์ไฟฟ้า จำนวน 380,250 คัน คิดเป็น 17% ของยานยนต์ทั้งหมด นอกจากนี้ มีปริมาณรถยนต์ที่ได้ปรับเปลี่ยนเป็นยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 40,000 คัน อีกทั้ง ยังตั้งเป้าให้อัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกยานยนต์เพิ่มขึ้น 5% ต่อปี หรืออัตราขยายตัวมูลค่าส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าของไทย เพิ่มขึ้น 5% ต่อปี

ทั้งยังตั้งเป้าให้สร้างความพร้อมด้านปัจจัยสนับสนุนอย่างเป็นระบบ โดยตั้งเป้าให้มูลค่าการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับยายนต์เพิ่มขึ้น 20% ให้มีการพัฒนาแรงงานมีฝีมือด้านยานยนต์ไฟฟ้ามีจำนวนไม่น้อยกว่า 30,000 คน ภายใน 2570 ให้มีจำนวนสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะ หัวจ่าย fast charge เพิ่มขึ้น 5,000 หัวจ่าย ให้มีจำนวนมาตรฐานด้านคุณสมบัติและความปลอดภัยของชิ้นส่วนหลักทั้งหมดของยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 15 ฉบับต่อปี นำไปสู่การลดมลพิษทางอากาศ PM 2.5 และปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคคมนาคมขนส่ง 4% ต่อปี

ทั้งนี้ มีการวางกลยุทธ์จูงใจให้ปรับเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น อย่างแรก มาตรการทางด้านภาษี เช่น ภาษีสรรพสามิต การยกเว้นหรือลดภาษีป้ายทะเบียนประจำปี อย่างที่สอง มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี เช่น ส่วนลดค่าไฟฟ้าในครัวเรือนและที่พักอาศัยในคอนโดมิเนียมแก่ผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ที่จอดรถฟรีสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า การสนับสนุนสินเชื่อเช่าซื้อยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น มาตรการที่สาม การให้เงินอุดหนุนสำหรับการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้มีต้นทุนการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าใกล้เคียงกับรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน

นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในระบบขนส่งสาธารณะ หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน ในทุกประเภทของยานยนต์ไฟฟ้า โดยอาศัยกลไกการจัดซื้อตั้งเงื่อนไขให้มีการผลิตในประเทศ หรือให้มีการพัฒนาแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งยังสนับสนุนให้ประชาชนดัดแปลงรถยนต์เก่าเป็นยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงที่ได้รับการรับรองมาตรฐานด้านความปลอดภัยและสามารถจดทะเบียนได้ และที่สำคัญให้มีการจัดทำแผนประชาสัมพันธ์ยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ จัดทำโครงการนำร่องเพื่อสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน