แผนดันไทยศูนย์กลางอีวี โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

แผนดันไทยศูนย์กลางอีวี โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ปี 62 ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญของโลก ผลิตและส่งออกรถยนต์เป็นอันดับที่ 1 อาเซียน และอันดับที่ 11 ของโลก มูลค่าส่งออก 1.3 ล้านล้านบาท เรียกได้ว่าอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นหนึ่งกำลังหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ กำลังการผลิต 2 ล้านคันต่อปี การจ้างงานกว่า 3 แสนคน

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มความต้องการยานยนต์ทั่วโลกกำลังเปลี่ยนไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า ตามเมกะเทรนด์ที่มุ่งสู่การสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ จึงทำให้ไทยเร่งส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยานต์สมัยใหม่เพื่อก้าวให้ทันตามความเปลี่ยนแปลง โดยมุ่งเน้นการพัฒนายานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicle: ZEV) ได้แก่ ยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ (BEV) และยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV) ตั้งเป้าว่าจะมีการผลิต 30% และใช้งาน 50 % ของรถยนต์ทั้งหมด ภายในปี 2573

แน่นอนว่าในระยะการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้าจะส่งผลกระทบต่อฐานการผลิตดั้งเดิม ตั้งแต่แรงงานที่เกี่ยวข้องไปจนถึงห่วงโซ่อุปทานทั้งระบบที่ต้องคำนึงถึงความยั่งยืนมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งความแตกต่างอย่างหนึ่งของเครื่องยนต์ไฟฟ้ากับเครื่องยนต์เดิมนั้น คือจำนวนชิ้นส่วนประกอบที่น้อยลงกว่าแบบเดิมมาก ซึ่งนั่นเกี่ยวพันเป็นวงกว้างทั้งผู้ประกอบการและการจ้างแรงงานจำนวนมาก

ในร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 มุ่งเน้นการเปลี่ยนผ่านที่จะเกิดขึ้นในระยะ 5 ปี โดยหนึ่งในหมุดหมายคือการผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าให้เป็นอุตสาหกรรมใหม่อย่างเต็มที่ พร้อมกับที่มีการผลิตชิ้นส่วนหลักและปรับเปลี่ยนฐานการผลิตยานยนต์สันดาปภายในให้เป็นรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าได้ด้วย โดยจะไม่ทิ้งตลาดส่งออกที่มีศักายภาพจากอุตสาหกรรมยานยนต์เดิม เพื่อรักษาสมดุลในการเปลี่ยนผ่าน รวมทั้งยกระดับผู้ประกอบการชื้นส่วนในอุตสาหกรรมเดิมในระดับ (Tier) ต่างๆ ให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปเป็นผู้ผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าได้

ทั้งนี้ได้มีมาตรการรองรับสำหรับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ แบ่งอออกเป็น 2 ข้อ ได้แก่ ข้อแรก ส่งเสริมผู้ประกอบการในกลุ่มเครื่องยนต์และระบบส่งกำลังของรถยนต์สันดาปภายในที่ต้องการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมอื่น อาทิ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม อุตสาหกรรมราง หรือธุรกิจใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ

ข้อสอง มีการกำหนดมาตรการเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เช่น ผู้ประกอบการและแรงงานในธุรกิจปิโตรเคมี และเกษตรกรผู้ปลูกพืชพลังงาน เป็นต้น

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยว่า ตลาด EV ในไทยยังมีขนาดเล็ก ดูจากยอดขายในประเทศของรถยนต์สันดาปภายใน เมื่อเดือน ส.ค 2564 มีราว 500,000 แสนคัน ในขณะที่รถยนต์ไฟฟ้า(BEV) มียอดขาย3,925 คัน ซึ่งไม่ถึง 1% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรถยนต์ไฟฟ้ายังมีราคาจำหน่ายสูงกว่า 1 ล้านบาท อย่างไรก็ดี รถยนต์ไฟฟ้าที่ระดับราคา 4-6 ล้านบาท มียอดขายเพิ่มขึ้นมากในกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อ

ทั้งนี้ ประเทศไทยต้องมีการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับปริมาณผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น อย่างแรกต้องเตรียมสถานีชาร์จให้เพียงพอ อีกทั้ง ต้องสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้งานด้านต่างๆ เช่น ศูนย์ซ่อมบำรุง นอกจากนี้ ต้องปรึกษากับการไฟฟ้าฯ ให้มาตรวจสายไฟที่บ้านเพื่อรองรับการชาร์จ รวมถึงการติดตั้งที่ชาร์จกำลังไฟแรงแบบ Fast Charge

นายพินัย ศิรินคร ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ ส.อ.ท. เผยว่า ตอนนี้บริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สร้างฐานการผลิตในไทย ยังไม่มี Product Champion ที่เป็นรถแบตเตอรี่ไฟฟ้า (BEV) อุตสาหกรรมชิ้นส่วนซึ่งอยู่ส่วนปลายของห่วงโซ่ซัพพลายก็เลยยังไม่ขยับในเมื่อยังไม่มีดีมานต์ส่งมา

อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมชิ้นส่วนในขณะนี้เองก็ต้องปรับตัวไปตาม Technology disruption ด้วยมีการปรับกระบวนการผลิตจาก manual สู่ automation และการที่รถยนต์หันมาผลิตเป็นรถไฟฟ้าก็เป็นส่วนหนึ่งของการถูก disrupt ด้านอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ก็ได้มองแนวทางในการปรับตัวไว้ 2 ทาง ได้แก่

ข้อแรก หันมาผลิตชิ้นส่วนให้กับตลาดREMอะไหล่เพื่อรถยนต์เก่า จากเดิมที่ส่วนใหญ่มุ่งผลิตชิ้นส่วน OEM ป้อนให้กับโรงงานเพื่อประกอบเป็นรถใหม่เป็นหลัก

ข้อสอง คว้าโอกาสในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ Industry 4.0ทำชิ้นส่วนผลิตเครื่องจักรแขนกล ในช่วงการปรับจาก manual เป็น semi-automation ก่อนเป็นautomation เต็มรูปแบบซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไปโดยผู้ผลิตชิ้นส่วนจะต้องปรับให้โรงงานผลิตชิ้นส่วนจากเดิมที่ผลิต BU เดียวก็ให้เพิ่มผลิตหลาย BU เพิ่มตลาด และเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตเพื่ออุตสาหกรรมอื่น เช่น smart farmer

ทั้งนี้ นายพินัยยังทิ้งท้ายว่า อยากให้การเปลี่ยนแปลงไปสู่การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเป็นไปตามกลไกของตลาด อย่าใช้กฎหมายกำหนดกะเกณฑ์ ฝีนเปลี่ยนตอนที่ยังไม่พร้อมทั้งด้านดีมานต์และซัพพลาย แล้วประเทศไทยจะมีพลังงานพร้อมใช้หรือไม่