เปิดแผนพัฒนาฉบับ 13 หมุดหมายดันไทยผู้นำ "อีวี"

เปิดแผนพัฒนาฉบับ 13  หมุดหมายดันไทยผู้นำ "อีวี"

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดประชุมประจำปี 2564 เพื่อรายงานความคืบหน้าการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ที่จะนำมาใช้ในปี 2566-2570

ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 กำหนดหมุนหมาย 13 ประเด็น ที่จะผลักดันประเทศไทย โดยหมุดหมายที่ 3 กำหนดแนวทางให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิต ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ อีวี ที่สำคัญของโลก ซึ่งปัจจุบันไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญของโลก โดยปี 2562 ไทยผลิตและส่งออกยานยนต์ อันดับ 1 ของอาเซียน และเป็นนอันดับ 11 ของโลก มูลค่าการส่งออก 1.3 ล้านล้านบาท โดยประเทศที่มีกำลังการผลิตสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน สหรัฐ ญี่ปุ่น เยอรมนี และอินเดีย

รัฐบาลได้ส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม โดยเน้นต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง พร้อมกำหนดมาตรการสนับสนุนการผลิตอีวีทำให้คำขอรับการส่งเสริมการลงทุนผลิตอีวี ชิ้นส่วนประกอบและแบตเตอรี่เพิ่มขึ้น

ภาครัฐส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะสถานีชาร์จไฟฟ้าให้ครอบคลุมพื้นที่ประเทศ ซึ่งข้อมูลสมาคมยานยนต์ไฟฟ้า ณ 11 มิ.ย.2564 มีสถานี 664 แห่ง ประเภทหัวจ่ายธรรมดา 1,450 หัวจ่าย และหัวจ่ายชาร์จเร็ว 774 หัวจ่าย รวม 2,224 หัวจ่าย

นอกจากนี้ รัฐบาลได้เร่งขับเคลื่อนการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าทั้งระบบ โดยกำหนดให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก โดยพัฒนายานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (ZEV) ประกอบด้วย ยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ (BEV) ยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV) และตั้งเป้าใช้อีวีในปี 2573 จำนวน 440,000 คัน (50% ของยานยนต์ทั้งหมด) และผลิต 725,000 คัน (30% ของยานยนต์ทั้งหมด)

ดังนั้น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (2566-2570) เป็นหมุดหมายที่เน้นเปลี่ยนผ่านระยะ 5 ปี โดยให้ความสำคัญกับ การผลักดันอุตสาหกรรมอีวีให้เป็นอุตสาหกรรมใหม่เพื่อให้ไทยเป็นฐานการผลิตอีวี โดยผลิตชิ้นส่วนหลักพร้อมเปลี่ยนฐานการผลิตยานยนต์แบบสันดาปภายในให้เป็นยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า โดยไม่ทิ้งตลาดส่งออกที่มีศักยภาพ เพื่อรักษสมดุลในการเปลี่ยนผ่านสู่อีวี

สำหรับแนวทางการดำเนินการกำหนดไว้ 3 ส่วน คือ 

1.การสร้างอุปสงค์รถยนต์ไฟฟ้า โดยกำหนดสัดส่วนการใช้อีวีเพิ่มเป็น 26% ภายในปี 2570 

2.การสนับสนุนการลงทุนและการปรับตัวของผู้ประกอบการเดิม โดยให้ไทยเป็นฐานผลิตอันกับ 1 ในอาเซียน

3.การสร้างความพร้อมของปัจจัยสนับสนุน โดยพัฒนาสถานีชาร์จเพิ่มขึ้น 5,000 หัวจ่าย และพัฒนาแรงงานในอุตสาหกรรมอีวีไม่น้อยกว่า 30,000 คน

นอกจากนี้ มีการกำหนดเป้าหมายและแผนการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ไปสู่อีวีอย่างเป็นระบบตลอดซัพพลายเชนในระยะ 5 ปี โดยส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางฐานการผลิตอีวีเพื่อดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาผลิตยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในซัพพลายเชนผลิตชิ้นส่วนที่เป็นเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงชิ้นส่วนยานยนต์ที่เชื่อมต่อและขับขี่อัตโนมัติ

รวมทั้งรักษาความสามารถการแข่งขันผลิตภัณฑ์กลุ่มที่ยังทำตลาดได้และยังไม่สามารถพัฒนาสู่อีวีในระยะเวลาสั้น เช่น รถปิกอัพ โดยพิจารณาจากความพร้อมของผู้บริโภคและความพร้อมของผลิตภัณฑ์เป็นหลัก ในขณะที่ Product Champion ของไทย เช่น รถปิกอัพ อีโคคาร์และจักรยานยนต์ จะส่งเสริมให้ปรับเปลี่ยนสู่ยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์โดยเร็ว

ในขณะที่ผู้ประกอบการเดิมที่มีศักยภาพจะพัฒนาให้สามารถปรับเปลี่ยนไปสู่สายการผลิต ของยานยนต์ไฟฟ้าได้ เช่น การผลิตตัวถังและช่วงล่างด้วยวัสดุใหม่ และการผลิตระบบส่งกำลัง

ส่วนมาตรการส่งเสริมให้เกิดการใช้อีวีเพิ่มมากขึ้น ได้กำหนดมาตรการจูงใจ ประกอบด้วย 1.มาตรการทางภาษี เช่น การใช้ภาษีสรรพาสามิต การยกเว้นหรือลดภาษีป้ายทะเบียนประจำปี 2.มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี เช่น ส่วนลดค่าไฟฟ้าในครัวเรือนและที่พักอาศัยในคอนโดมิเนียมแก่ผู้ใช้อีวี ที่จอดฟรีสำหรับอีวี การสนับสนุนสินเชื่อเช่าซื้ออีวี 3.การให้เงินอุดหนุนสำหรับการซื้ออีวี เพื่อให้อีวีมีต้นทุนการใช้งานใกล้เคียงรถเครื่องยนต์สันดาปภายใน

รวมทั้งสนับสนุนให้ประชาชนดัดแปลงรถยนต์เก่าเป็นยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานด้านความปลอดภัยและสามารถจดทะเบียนได้ และส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในระบบขนส่งสาธารณะ หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน ในทุกประเภทของยานยนต์ไฟฟ้า โดยอาศัยกลไกการจัดซื้อที่มีการกำหนดเงื่อนไขที่ส่งเสริมให้เกิดการผลิตในประเทศ หรือการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์

ด้านการส่งเสริมการลงทุนจะต้องกำหนดสิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมการลงทุน สนับสนุนด้านการเงิน ด้านภาษี รวมถึงสร้างความร่วมมือกับกลุ่มประเทศผู้นำอีวี เพื่อการกำหนดมาตรการที่เหมาะสมในการปรับเปลี่ยนผู้ประกอบการไทยและส่งเสริมสตาร์ทอัพไทยให้แข่งขันในตลาดได้

“อีเอ”แนะรัฐเร่งเปลี่ยนผ่านรถยนต์ไฟฟ้า

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โอกาสกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ขณะนี้เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความท้าทายกับไทย โดยยอดการซื้อขายรถในประเทศลดลงและการส่งออกลดลง ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านเริ่มพัฒนาขึ้นและเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นช่วงที่นักลงทุนทบทวนว่าจะอยู่ไทยต่อหรือไปประเทศอื่น

สำหรับแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 พบว่าทุกหมุดหมายโยงกันหมด โดยหมุดหมายที่ 13 ส่วนภาครัฐมีความสำคัญมากเพราะคุมหมุดหมายทั้งหมด ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำเมื่อมียุทธศาสตร์ คือ มีเป้าหมายที่ชัดและกำหนดระยะเวลาที่จะดำเนินการ เพราะเวลาต่างกันจะมี ผลลัพธ์ต่างกัน เช่น ขณะนี้จากความไม่ชัดเจนของการสนับสนุนทำให้รถหลายแบรนด์รถเริ่มไปใช้อินโดนีเซียเป็นฐานผลิตแบตเตอรี่

สำหรับข้อเสนอแนะในมุมมองอุตสาหกรรมอีวี คือ ยุทธศาสตร์ยานยนต์ไฟฟ้า ควรเริ่มจากเปลี่ยนรถเชิงพาณิชย์เป็นรถยนต์ไฟฟ้า เพราะมีจำนวนมาก ทำให้เกิดปริมาณใช้แบตเตอรี่เยอะ ดังนั้นการสนับสนุนเปลี่ยนรถเชิงพาณิชย์ของรัฐจะทำให้เกิดอุตสาหกรรมพื้นฐานและเสริมอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์อื่นจนเกิดซัพพลายเชนที่แข็งแรง ต้นทุนต่ำ และช่วยอุตสาหกรรมรถยนต์ขนาดเล็ก

“ต้องตั้งเป้าหมายที่ท้าทายเพราะโลกกำลังแข่งขัน และส่งเสริมไทยแลนด์เฟิร์สเพื่อให้คนไทยเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยี สร้างโอกาสให้คนไทยมีโอกาสเท่าคนอื่น"

นอกจากนี้ เมื่อผลักดันอีวีแล้วจะกระทบการใช้น้ำมันลง และกระทบเกษตรกรที่ผลิตส่วนผสมน้ำมัน ซึ่งรัฐต้องคิดแนวทางแก้จุดนี้ โดยคิดคู่ขนานกับการผลักดันไฟฟ้า เพื่อนำผลิตภัณฑ์การเกษตรไปต่อยอดเพิ่มมูลค่า ซึ่งต้องเริ่มวันนี้เพราะการพัฒนาใช้เวลา 3-5 ปี