เกษตร รุกแผน “เชื่อมเหนือ –เชื่อมโลก” จีน -เอเซียกลาง-ยุโรป

เกษตร รุกแผน “เชื่อมเหนือ –เชื่อมโลก” จีน -เอเซียกลาง-ยุโรป

เกษตรฯ ผนึกสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือเร่งเครื่อง 5 โครงการใหญ่มุ่งแปรรูปสินค้า เดินหน้ากลยุทธ์โลจิสติกส์ใหม่ใช้ด่านรถไฟโมฮ่าน -โลว์คอสต์แอร์คาร์โก้ “เชื่อมเหนือ-เชื่อมโลก” เปิดตลาดจีนทุกมณฑล-เอเซียกลาง-ยุโรปภายในสิ้นปีนี้

         นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กรกอ.) เปิดเผยว่าในการประชุมร่วมกับคณะอนุกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยภาคเหนือ (กรกอ.ภาคเหนือ) ซึ่งมีนายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยภาคเหนือ เป็นประธาน

 

เกษตร รุกแผน “เชื่อมเหนือ –เชื่อมโลก” จีน -เอเซียกลาง-ยุโรป

โดยมีคณะกรรมการทั้งภาครัฐภาคเอกชนภาควิชาการศูนย์ AIC และภาคเกษตรกรหน่วยงานกระทรวงเกษตร ในพื้นที่ภาคเหนือ ร่วมประชุมกว่า 50คนเพื่อบูรณาการทำงานเชิงรุกขับเคลื่อนโครงการสำคัญๆ ได้แก่

      1.โครงการพัฒนาเกษตรแม่นยำสู่ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม 2 ล้านไร่ ทั้งเฟส 1 และเฟส 2 ปี 2564 – 2566 ในสินค้าเป้าหมาย 15 ชนิด : ปาล์มน้ำมัน และยางพารา อ้อยโรงงาน ข้าวโพดหวาน และมะเขือเทศ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างระบบเกษตรแปลงใหญ่ (Big Farm)

ที่กระทรวงเกษตรฯสนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มและบริหารจัดการแผนการผลิตและจำหน่ายจับคู่กับบริษัทอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ (Big Brothers) ตามความต้องการของอุตสาหกรรมทั้งด้านปริมาณ คุณภาพและช่วงเวลาการรับซื้อ พร้อมพัฒนากระบวนการจัดการเพื่อลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มผลผลิต   โดยใช้องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ

2.โครงการ 1 กลุ่มจังหวัด 1 นิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร 3.โครงการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกของกลุ่มภาคเหนือตอนล่าง พิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ ตาก เช่นโครงการศูนย์พัฒนาผลไม้สดเพื่อการส่งออก ประกอบด้วยโครงการโรงอบไอน้ำและคัดบรรจุมะม่วง โครงการโรงงานแปรรูปแช่แข็งบรรจุมะม่วง วงเงินงบประมาณ 150 ล้าน

 

4.โครงการพื้นที่เศรษฐกิจนวัตกรรมอาหารภาคเหนือ (Northern Thailand Food Valley : NTFV) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันภาคอุตสาหกรรมอาหารของไทย

 

5.การขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ภาคเหนือตามแนวคิดใหม่ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่13 ว่าด้วยทิศทางการพัฒนาภาคเหนือ ปี 2566 – 2570 ซึ่งเน้น“เศรษฐกิจสร้างสรรค์ สานสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ สุขภาวะดี วิถีชีวิตยั่งยืน” บนทิศทางการพัฒนาบน “4C” ได้แก่

1. Creative: พัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์มูลค่าสูง  2.Connect : สร้างโอกาสในการเชื่อมโยงเศรษฐกิจภายในประเทศ และอนุภูมิภาค 3. Clean: พัฒนาตามแนววิถีใหม่ (New Normal) บนฐานการเติบโตอย่างยั่งยืนของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการใช้พลังงานสะอาด

 4.Care : ที่ให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่องกับการดูแลผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ทั้งนี้เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่เป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปในอาเซียนยุทธศาสตร์

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารภาคเหนือเพื่อเป็นกรอบการดำเนินงานของกรกอ.ภาคเหนือ ภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ปฏิรูปภาคเกษตรของ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิตโมเดลเกษตร-พาณิชย์, ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีเกษตร 4.0 เพื่อการบริหารราชการแผ่นดินการบริการประชาชนและการพัฒนาภาคเกษตรกรรมโดยการใช้เทคโนโลยีตลอดห่วงโซ่อุปทานและมูลค่า(Supply-Value Chain)ตั้งแต่การผลิต การแปรรูปจนถึงการตลาด,ยุทธศาสตร์3Sเกษตรปลอดภัย เกษตรมั่นคง เกษตรยั่งยืน (Safety-Security-Sustainability), ยุทธศาสตร์บูรณาการเชิงรุกและยุทธศาสตร์ศาสตร์พระราชา

         ที่ประชุมยังเห็นชอบให้ กรกอ.ภาคเหนือ ดำเนินการตามนโยบาย ด้านที่สำคัญคือ 1.Product based เพิ่มลำไยในโครงการเกษตรแม่นยำ 2 ล้านไร่ 2.Logistics Advantage เพิ่มแผนงานโลจิสติกส์ “เชื่อมเหนือเชื่อมโลก” เปลี่ยน Land lock เป็น Land Link ด้วยการขนส่งทางรางเชื่อมด่านเชียงของกับด่านรถไฟโมฮ่านสู่ทุกมณฑลในจีน เอเซียตะวันออก เอเซียกลาง ตะวันออกกลาง รัสเซียและยุโรป

 

 โดยใช้ท่าเรือบกคอร์คอสของคาซัคสถานเป็นศูนย์พักและกระจาย(Hub&Spoke)สินค้าเกษตรอาหารของไทยและการขนส่งทางอากาสในระบบLow cost air cargo systemด้วยสนามบินนานาชาติในภาคเหนือเช่นสนามบินเชียงใหม่และเชียงราย 3.Sustainable Agroindustry โครงการอุตสาหกรรมสีเขียว(Green Industry)ในกรอบเกษตรกรรมยั่งยืน

 

4.งบประมาณการวิจัยและพัฒนาสินค้าเกษตรโดยการสนับสนุนของสวก.องค์การมหาชนในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ. 5.ระบบสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อการลงทุนเกษตรอุตสาหกรรมโดยความร่วมมือของธกส.และกระทรวงเกษตร 6.โครงการ Laboratory ภาคเหนือระดับจังหวัดและกลุ่มจังหวัด