โลจิสติกส์-กลไกตลาด กดราคาสวนทาง“จีดีพีเกษตร”

โลจิสติกส์-กลไกตลาด  กดราคาสวนทาง“จีดีพีเกษตร”

ประเทศไทยมีเนื้อที่เพาะปลูกสินค้าเกษตรสำคัญมากกว่า 100 ล้านไร่ โดยข้าวมีพื้นที่สูงสุด เกือบ 70 ล้านไร่ รองลงมาคือยางพารา มากกว่า 20 ล้านไร่ ทำให้ความเคลื่อนไหวจีดีพีการเกษตรมีผลต่อเศรษฐกิจประเทศอย่างมีนัยสำคัญ

ฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร หรือ จีดีพีภาคการเกษตร ในไตรมาส 3 ของปี 2564 (ก.ค.-ก.ย. ) ขยายตัว 6.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณน้ำในปีนี้มีเพียงพอ ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรตั้งแต่ไตรมาสแรกของปีนี้กลับมาขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง

ช่วงเดียวกันของปีที่แล้วจีดีพี เกษตร หดตัว 1.1 %เพราะเกิดภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง แต่ฝนที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2563 ถึงต้นปี 2564 ทำให้มีปริมาณน้ำสะสมในอ่างเก็บ และในแหล่งน้ำตามธรรมชาติเพิ่มขึ้น ฤดูฝนที่เร็วกว่า ทำให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกได้มากขึ้น”

 

โลจิสติกส์-กลไกตลาด  กดราคาสวนทาง“จีดีพีเกษตร”

นอกจากนี้ ภาวะเศรษฐกิจของต่างประเทศที่เริ่มฟื้นตัว ประกอบกับความต้องการอาหารที่มากขึ้นจากการระบาดของโควิด- 19 เพื่อสต็อกและมีหลายประเทศผลิตสินค้าไม่ทันเพราะขาดแรงงาน ประกอบกับเงินบาทในปีนี้อ่อนค่าลง ส่งผลการส่งออกสินค้าเกษตรปีนี้ขยายตัวมาก ทั้งในตลาดหลักคือ สหรัฐ สภาพยุโรป(อียู) เอเชีย และตลาดใหม่ กลุ่มตะวันออกกลาง

อย่างไรก็ตาม ในด้านราคาที่เกษตรกรได้รับ ยังมีปัจจัยอื่นที่เข้ามากระทบ ทำให้ระดับราคาสินค้าบางชนิดไม่สามารถปรับเพิ่มขึ้นได้ ตามกลไกการตลาด เช่นกรณีของล้งยังมีการกดราคาอยู่ ระบบโลจิสติกส์ ที่หยุดชะงัก ซึ่งกระทรวงเกษตรฯได้ใช้มาตรการเพิ่มช่องทางการตลาดให้มากขึ้นเป็นอีกทางเลือกให้กับเกษตรกร

“โดยรวมราคาสินค้าที่เกษตรกรได้รับอยู่ในระดับที่ไม่เลวร้าย และหวังว่าหลังจากนี้จะปรับเพิ่มขึ้น จากที่รัฐบาลประกาศเปิดประเทศ จะทำให้ความต้องการในประเทศเพิ่มขึ้น ในขณะที่ทั่วโลกใช้วัคซีนป้องกันโควิด จะทำให้การระบาดลดลง เศรษฐกิจจะฟื้นตัว ประกอบกับการผลิตสินค้าอาหารของไทยสามารถรับรองการปนเปื้อนโควิดได้ สร้างความมั่นใจให้กับประเทศผู้นำเข้าทั้งหมดนี้จะทำให้สินค้าเกษตรของไทยส่งออกได้มากขึ้นในระยะต่อไป “

ทั้งนี้คาดว่าจีดีพีเกษตรทั้งปี2564 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วง 1.7 – 2.7% เมื่อเทียบกับปี 2563 และจะโตอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2565 แต่ทั้งนี้มีปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวัง คืออัตราแลกเปลี่ยนทางการเงิน ปริมาณน้ำที่กักเก็บได้ตั้งแต่เดือน พ.ย. นี้เป็นต้นไป ราคาน้ำมัน และการระบาดของโควิด 19 ระลอกใหม่

สำหรับจีดีพีเกษตร ในรายสาขา จะพบว่า สาขาพืช ขยายตัว 9.6% โดย ข้าวนาปี และนาปรัง ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกในพื้นที่ที่ปล่อยว่างในปีที่ผ่านมา ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นและราคาข้าวที่เกษตรกรขายได้ยังอยู่ในเกณฑ์ดี

สาขาปศุสัตว์ ขยายตัว 2% เป็นผลจากการเพิ่มปริมาณการผลิตตามความต้องการบริโภคของตลาดทั้งในและต่างประเทศ สาขาประมง หดตัว 3.% เป็นผลมาจากผลผลิตประมงทะเลในส่วนของปริมาณสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือในภาคใต้ มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากเป็นช่วงฤดูมรสุม ชาวประมงบางส่วนไม่สามารถนำเรือออกจับสัตว์น้ำได้ ส่วนปริมาณกุ้งทะเลเพาะเลี้ยง มีทิศทางลดลง เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เกษตรกรปรับลดพื้นที่การเลี้ยง

ด้านผลกระทบจากฝนตกชุกยาวนานตั้งแต่เดือนก.ย. 2564 นั้น ทำให้น้ำท่วม 48 จังหวัด ส่งผลกระทบต่อประชากร 5% ของประเทศ และพื้นที่เกษตรได้รับผลกระทบ 6.5% ผลผลิตข้าว ประเมินว่ามีโอกาสเสียหายประมาณ 30% ของข้าวทั้งหมดที่ปลูกในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม ส่วนพืชผักมีโอกาสเสียหายประมาณ 30 % โดยภาพรวมมีพื้นที่เกษตรได้รับผลกระทบประมาณ 5.37 ล้านไร่

โดยประเมินสถานการณ์ เป็น 2 กรณี (ข้อมูล ณ วันที่ 15 ต.ค. 2564) คือกรณีน้ำท่วมเดือนก.ย.- กลาง เดือนต.ค. 2564 สำหรับข้าวนาปี คาดว่ามีพื้นที่เสียหาย 3.5 ล้านไร่ มีมูลค่าความเสียหาย 4,685 ล้านบาท และพืชผัก คาดว่ามีพื้นที่เสียหาย 0.18 ล้านไร่ มีมูลค่าความเสียหาย 1,069 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 6,250 ล้านบาท

กรณีน้ำท่วมขัง เดือนก.ย.- ต.ค. 2564 สำหรับข้าวนาปี คาดว่ามีพื้นที่เสียหาย 5 ล้านไร่ มีมูลค่าความเสียหาย 6,692 ล้านบาท และพืชผัก คาดว่ามีพื้นที่เสียหาย2.3 แสนไร่ มูลค่า 1,366 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 8,058 ล้านบาท

สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นดังกล่าว คาดว่าจะทำให้จีดีพีภาคเกษตรปี 2564 ลดลงประมาณ 4,190 – 5,730 ล้านบาท หรือลดลง 0.2 - 0.5%

เทรนด์ราคายางพาราโตถึงปี 65    ดีมานด์ตลาดโลกหนุน

หลักชัย กิตติพล ประธานบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า  ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 อยู่ที่กิโลกรัมละ(กก.) 56 บาท แม้จะปรับเพิ่มขึ้นจากก่อนหน้านี้ แต่ยังไม่สูงมากเมื่อเทียบกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ โดยน้ำมันที่สูงถึง 80 ดอลลาร์ต่อบาเรล และราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้นไม่หยุด 

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จนถึงปี 2565 คาดว่าราคายางจะอยู่ในภาวะขาขึ้น จากปัจจัยหลัก คือ ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ราคายางที่ตกต่ำ ส่งผลให้ เกษตรกรไม่ขยายพื้นที่ปลูก โดยเฉพาะไทยและอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ ในขณะที่เวียดนาม สปป.ลาว กัมพูชา และเมียนมา ที่แม้จะขยายพื้นปลูกแต่ก็ไม่มากนัก เนื่องจากราคาไม่จูงใจ ขณะที่เมียนมาที่เกิดปัญหาทางการเมืองคาดว่าจะส่งผลให้นโยบายส่งเสริมด้านยางพาราหยุดชะงัก การขยายพื้นที่ปลูกปัจจุบันอยู่ในแถบแอฟริกาใต้ โดยนักลงทุนจีนแต่ยังไม่มากและยังต้องใช้ระยะเวลาในการเติบโต

นอกจากนี้ สวนยางในปัจจุบันยังให้น้ำยางน้อย เพราะราคายางที่ตกต่ำมาตลอดนั้น ไม่สร้างรายได้มากพอที่เกษตรกรจะลงทุนให้ปุ๋ยบำรุงต้น ประกอบกับปัญหาโควิด -19 ทำให้แรงงานกรีดยางหายไปด้วย ดังนั้นปริมาณน้ำยางที่ออกสู่ตลาดจึงไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ที่เพิ่มสูงขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว

 โดยจีนมีความต้องการยางมากขึ้น แต่หาซื้อในตลาดได้ยาก ทำให้ต้องนำยางในสต็อกมาใช้ ปัจจุบันจากสต็อกยางที่ต้นปี ประมาณ 6 แสนตัน ลดลงเหลือ 3 แสนตัน เท่านั้นหรือ หายไปกว่า 50 % รวมทั้งสต็อกยางในตลาดล่วงหน้า ก็เหลืออยู่น้อยมาก

“ สถานการณ์ยางพาราขณะนี้ไม่มีแรงกดราคาเลย แนวโน้มราคายางในประเทศจึงคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2565 ส่วนปัจจัยลบ เรื่องโควิด ไม่มีผล เนื่องจากทั่วโลกใช้วัคซีนสามารถควบคุมได้หมด ทำให้ระบบการขนส่งกลับมาอีกครั้ง การใช้ยางก็จะเพิ่มขึ้นราคาก็จะขยับตาม “

รายงานจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) แจ้งว่า เมื่อวันที่ 20 ต.ค.  64 ราคากลางเปิดตลาดยางแผ่นดิบอยู่ที่ 51. บาทต่อกก. ยางแผ่นรมควันอยู่ที่ 54 บาทต่อ กก. ส่วนราคาประมูลเฉลี่ย ณ ตลาดกลางยางพาราฯ ราคายางแผ่นดิบอยู่ที่ 52 บาทต่อ กก ราคายางแผ่นรมควันอยู่ที่ 55.89 บาทต่อ กก.