คลังลุยสร้าง ’ภูมิคุ้มกัน’ เศรษฐกิจรับโลกยุคโควิด

กระทรวงการคลังเตรียมปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยทั้งการจัดเก็บรายได้ การปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัล สร้าง 3 ภูมิคุ้มกันศก. ด้านเอกชนมองโควิดทำเหลื่อมล้ำในไทยพุ่ง แนะเลิกหว่านเงินแจกไม่พัฒนาศักยภาพ ส่วนธุรกิจการบินคาดฟื้นอีก 2 ปี

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อาคม เติมพิทยาไพสิฐ กล่าวปาฐกถาหัวข้อ ‘นโยบายเศรษฐกิจจาก Pandemic สู่ Endemic’ ในงานครบรอบ 60 ปี สถาปนาสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ว่า ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านการแพร่ระบาดโควิด 19 จากโรคระบาดรุนแรงเป็นไข้หวัดประจำถิ่นเมื่อเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งโควิดไม่ได้หายไป แต่เป็นแค่ไวรัสตัวหนึ่งเหมือนไข้หวัดใหญ่ ดังนั้นสิ่งที่ต้องดำเนินการหลังจากนี้ คือ การสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจแยกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับมหภาค ระดับหน่วยธุรกิจ และระดับประชาชน ซึ่งนโยบายการเงินและการคลังต้องทำงานประสานกัน เพราะทุกอย่างเป็นผลกระทบที่เป็นห่วงโซ่ เพราะเมื่อธุรกิจปิดกิจการ แรงงานตกงาน ก็เป็นหนี้สิน เป็นภาระของรัฐบาลในการเข้าไปดูแล

ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลก็ได้ดำเนินมาตรการการคลังในการดูแลและเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจ เช่น โครงการเราชนะ การผลักดันให้มีการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ โครงการคนละครึ่ง แต่ที่สำคัญคือการปรับดูแลเศรษฐกิจหลังโควิด 19 จะทำให้ปริมาณการใช้จ่ายของรัฐยิ่งมีมาก สิ่งที่ต้องคิด คือวิธีหารายได้ของภาครัฐมาจากไหนบ้าง จึงต้องมีปฏิรูปโครงสร้างการจัดเก็บรายได้ในโครงสร้างการจัดเก็บหลายแหล่ง เช่น ภาษีอากร รายได้รัฐวิสาหกิจ รายได้สัมปทาน มีวิธีการปฏิรูปอย่างไรให้ระดับรายได้มั่นคง รวมถึงการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่ต้องเข้าสู่เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น และการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจรองรับเรื่องสภาพแวดล้อม ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญรวมถึงการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยรองรับสังคงสูงวัย เพราะในอีก 10 ปี ผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นไปถึง 20-24% ของประชากรในประทเศไทย ดังนั้นจึงต้องมีการคิดการลงทุนการแพทย์ สุขอนามัย ถือเป็นโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ที่ต้องสร้างขึ้นมา

“โควิดที่เกิดขึ้น ถามว่ารัฐจะใช้จ่ายเงินอย่างนี้ต่อไปได้นานแค่ไหน อยู่ที่ว่าการระบาดอยู่กับเรานานหรือไม่ ถ้าอยู่นานเกินไป โดยเศรษฐกิจไม่สามารถเปิดให้ทุกคนทำธุรกิจได้ ต้นทุนธุรกิจย่อมสูงขึ้น จึงเป็นประเด็นท้าทายเพราะการใช้จ่ายเงินมากมาย เช่น ปี 63 รัฐใช้เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท และต้องกู้เพิ่มอีก 5 แสนล้านบาท จึงได้กำหนดนโยบายการคลังขยับเพดานขึ้นไปจาก 60 เป็น 70 เพื่อให้กู้เงินให้กับรัฐบาลใช้จ่ายในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด”

 

เอกชนมอง ‘เหลื่อมล้ำ’ พุ่งหลังยุคโควิด

ประธานกรรมการบมจ.ไทยประกันภัย สมชัย สัจจพงษ์ ระบุ วิกฤติโควิดได้สร้างแผลเป็นให้ระบบเศรษฐกิจไทย เป็นจุดทดสอบสำคัญต่อภาคธุรกิจและรัฐบาล ซึ่งการทำให้ศก.กลับไปเป็นปกติก่อนที่เจอโรคระบาด คำถามคือว่าควรจะกลับไปสู่ความปกติแบบไหน เพราะวิกฤติครั้งนี้ชี้ให้เห็นจุดอ่อนมากมายที่ประเทศมี เช่น ปัญหาเหลื่อมล้ำรุนแรงมากขึ้น ทั้งรายได้  สังคม ระบบการช่วยเหลือสังคมอ่อนแอไม่ทั่วถึง 

ทั้งนี้ สิ่งที่รัฐบาลต้องืทำ คือทำอย่างไรให้กลุ่มเปราะบางหลุดพ้นจากความยากจน โดยควรหยุดแจกเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แบบไม่มีเป้าหมาย โดยต้องการแจกเงินทำได้แต่ต้องหาวิธีลดจำนวนคนจน คือยิงนกนัดเดียวต้องได้นกสองตัว ไม่ใช่ภูมิใจกับการที่มีคนได้รับบัตรคนจนเพิ่มขึ้นทุกปี ต้องพัฒนทักษะด้านแรงงานให้หลุดพ้นจากความยากจน รวมถึงการช่วยเหลือร้านค้าที่ปิดตัวใหักลับมาปกติ บนเงื่อนไขการปล่อยกู้ที่ยืดหยุ่นให้คนที่หลุดตาข่ายเข้ามาในตาข่ายของมาตรการกระทรวงการคลังได้  และการแก้ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่สูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ ต้องทำแผนไม่ใช่แค่ยืดเวลาชำระหนี้

กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บมจ.ท่าอากาศยานไทย นิตินัย ศิริสมรรถการ ระบุ วิกฤติโควิดครั้งนี้รุนแรง ยาวนาน ซึ่งมีความเป็นห่วงว่าห่วงโซ่อุปทานการบินจะปรับตัวไปดุลภาพใหม่ได้อย่างไร และการฟื้นกลับมาน่าจะใช้ระยะเวลาไม่ต่ำ 2 ปีอย่างเร็วสุด เพราะแม้ว่าจะมีการเปิดน่านฟ้าในการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวกลับมาในวันที่ 1 พ.ย. แต่ธุรกิจการบินไม่ใช่จะกลับมาได้ทั้งหมด และที่ต้องประเมินคือดีมานของการเดินทางจะกลับมาถึง 50% ที่ทำให้ธุรกิจไม่ขาดทุนหรือไม่ เพราะถ้าพ้นน้ำธุรกิจการบินก็สามารถหยุดเลือดไหลได้ 

ประธานกรรมการบมจ.สมิติเวช สมชัย ฤชุพันธุ์ ระบุ ขณะนี้ไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดของวิกฤติแล้ว เศรษฐกิจไทยอยู่ระยะการฟื้นตัว ซึ่งการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวเป็นสัญญาบ่งบอกว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นกลับมา และยังเป็นการแก้ไขดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย ถือเป็นการตัดสินใจรอบคอบ มีคณะแพทย์เป็นจุดแข็ง แต่การเปิดประเทศจะเป็นปกติแบบใหม่ เพราะผู้คนยังมีความหวาดระแวง จำเป็นต้องรักษาระยะห่าง เพราะโควิดจะอยู่กับเราไปอีก 3-5 ปี สิ่งที่ต้องทำหลังจากนี้คือ การขับเคลื่อนต่อไป โดยโควิดได้ช่วยเสริมให้การเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบดิจิทัลและการลงทุนด้านพลังงานใหม่ทำได้เร็วยิ่งขึ้น