จับตา ‘เปิดประเทศ 1 พ.ย.64’ ททท.คาด 5 เดือนไฮซีซั่นดึงทัวริสต์ 1.1 ล้านคน

จับตา ‘เปิดประเทศ 1 พ.ย.64’ ททท.คาด 5 เดือนไฮซีซั่นดึงทัวริสต์ 1.1 ล้านคน

แถลงการณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2564 เรื่อง “เปิดประเทศ 1 พ.ย.2564” รับนักท่องเที่ยวต่างชาติจาก “ประเทศความเสี่ยงต่ำ” จุดประกายความหวังในการพลิกฟื้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยอีกครั้ง!

โดยจะต้องเป็นนักท่องเที่ยวที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว และต้องมีผลการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR เป็นลบ ระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง มาเที่ยวไทยแบบ “ไม่กักตัว” และ “ไม่จำกัดพื้นที่” 

หลังเริ่มเปิดพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ประเดิมด้วยโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” เมื่อ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา แม้สถิติของโครงการฯ ณ วันที่ 16 ต.ค. พบว่ามียอดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศสะสม 108 วัน ตั้งแต่ 1 ก.ค.-16 ต.ค. มีจำนวน 49,651 คน ยังห่างไกลจากเป้าหมายที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และภาคเอกชนท่องเที่ยวภูเก็ตเคยตั้งไว้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วและมีผลการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR เป็นลบจากประเทศต้นทาง เดินทางเข้ามา 1 แสนคนในช่วงไตรมาส 3 หรือตั้งแต่ ก.ค.-ก.ย.ที่ผ่านมา แต่ก็นับว่าเป็น “จุดเริ่มต้นที่ดี” ในการแง้มประตูเปิดประเทศ ในภาวะที่ประเทศไทยเผชิญสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เป็นวงกว้างและรุนแรงตั้งแต่ระลอก 3 เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา

“การอยู่ร่วมกับโควิด-19” คือโจทย์ใหญ่ที่ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนต้องร่วมฟันฝ่า! หลังวิกฤตินี้ปะทุยาวนานร่วม 2 ปี เพราะหากต้องรอให้ถึงวันที่ “ยอดผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์” เหมือนที่สามารถกดตัวเลขผู้ติดเชื้อได้ในระลอกแรกนั้น คงเป็นไปได้ยาก และไม่รู้ว่าต้องรออีกนานเท่าไร สู้ปรับตัวอยู่กับ “ความไม่แน่นอน” บริหารความเสี่ยงที่เกิดขึ้นอย่างเท่าทันสถานการณ์น่าจะดีกว่า อย่างน้อยก็ได้ลืมตาอ้าปาก กลับมาทำมาหากิน สอดรับกับ “ยุคนิวนอร์มอล” ใช้ชีวิตวิถีปกติใหม่ให้คุ้นชิน

“การเปิดประเทศ” จึงเป็นทางออกของเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพิงรายได้จากดีมานด์ต่างประเทศเป็นหลัก หลังภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการได้รับบาดเจ็บสาหัส โคม่าหนัก ไม่รู้ว่าจะต่อลมหายใจธุรกิจกันอย่างไร เพราะผู้ประกอบการท่องเที่ยวส่วนใหญ่ต่างอาศัยรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ และไม่รู้ว่าต้องควักเงินเก็บและดิ้นรนหาเงินกู้มาหมุนเวียนต่อทุนอีกนานแค่ไหน

นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบเป็นโดมิโน่ถึงตลาดแรงงาน! โดยก่อนหน้านี้ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ระบุว่า ในไตรมาส 3/2564 ธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีการเปิดบริการเพียง 51% ลดลงจากไตรมาสก่อน 7% ส่วนที่ปิดกิจการชั่วคราวมี 44% เพิ่มขึ้น 6% และปิดกิจการถาวร 5% เพิ่มขึ้น 1% ขณะที่ 84% ของสถานประกอบการมีพนักงานเหลืออยู่ไม่ถึงครึ่ง โดยมี “แรงงานที่ออกจากระบบ” ไปมากถึง 71% ประมาณ 3.05 ล้านคน ทั้งที่ต้องหยุดงานชั่วคราว ถูกเลิกจ้างถาวร และเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่น จากเดิมก่อนเจอวิกฤติโควิด-19 ที่มีอยู่ 4.3 ล้านคน

ขณะที่ผลการสำรวจ “ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในไตรมาส 3/2564” ของ สทท. พบว่าลดลงต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่มีการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นฯมา โดยอยู่ที่ระดับ 7 เท่านั้น จากคะแนนเต็ม 200 (คะแนน 100 คือปกติ) สะท้อนถึงสถานการณ์การท่องเที่ยวอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติมากที่สุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ด้านดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ไตรมาสที่ 4/2564 อยู่ที่ระดับ 29 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการประเมินว่าสถานการณ์การท่องเที่ยวในไตรมาส 4 จะดีขึ้นกว่าไตรมาส 3 แต่ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติมากที่สุด เพราะตราบใดที่คะแนนยังต่ำกว่าระดับ 50 ถือว่าอยู่ในขั้น “โคม่า”

การเร่งกู้ฐานะ “พระเอกเศรษฐกิจไทย” ของภาคท่องเที่ยวจึงสำคัญยิ่ง!! เพราะนอกจากจะช่วยฟื้นความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการแล้ว ยังดึงแรงงานนับล้านหวนคืนสู่ระบบ หนุนการสร้างรายได้และเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ

หากย้อนไปเมื่อปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ภาคท่องเที่ยวไทยนั้นโดดเด่นอย่างมาก มีรายได้รวมจากการท่องเที่ยวทั้งตลาดในและต่างประเทศ 3 ล้านล้านบาท ครองสัดส่วนราว 18% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพี เมื่อเจาะเฉพาะฐานนักท่องเที่ยวต่างชาติพบว่าเดินทางเข้าไทยมากเกือบ 40 ล้านคน สร้างรายได้ 1.91 ล้านล้านบาท ส่วนนักท่องเที่ยวตลาดในประเทศมี 172 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 1.08 ล้านล้านบาท

ด้าน รายได้รวมการท่องเที่ยวปี 2563 ลดฮวบลงมาอยู่ที่ 8.15 แสนล้านบาท ติดลบ 73% เมื่อเทียบกับปี 2562 แบ่งเป็นรายได้จากตลาดต่างประเทศ 3.33 แสนล้านบาท ลดลง 83% ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 6.7 ล้านคน ลดลงในอัตราเดียวกัน ส่วนรายได้จากตลาดในประเทศมี 4.82 แสนล้านบาท ลดลง 55% จากจำนวนนักท่องเที่ยวไทย 90 ล้านคน-ครั้ง ลดลง 48%

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ททท.คาดการณ์ว่าปี 2564 ประเทศไทยจะมีรายได้รวมการท่องเที่ยวประมาณ 3.8 แสนล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากตลาดต่างประเทศ 6 หมื่นล้านบาท จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1 ล้านคน แนวโน้มตัวเลขนี้ยังเป็นไปได้ โดยเพิ่มจากคาดการณ์เดิมซึ่งอยู่ที่ 1 แสนคน และคาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะใช้จ่ายราว 60,000 บาทต่อคนต่อทริป ส่วนรายได้จากตลาดในประเทศคาดมี 3.2 แสนล้านบาท จากนักท่องเที่ยวไทยจำนวน 60 ล้านคน-ครั้ง ใช้จ่ายคนละประมาณ 4,000 บาทต่อคนต่อทริป

“และหลังจากนายกฯแถลงการณ์เปิดประเทศ 1 พ.ย.2564 รับนักท่องเที่ยวจากประเทศความเสี่ยงต่ำแบบไม่กักตัวและไม่จำกัดพื้นที่ ททท.ได้ประมาณการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวหรือไฮซีซั่น 5 เดือนข้างหน้า ตั้งแต่ พ.ย.2564-มี.ค.2565 จำนวน 1.1 ล้านคน สร้างรายได้ประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ได้รายงานต่อนายกฯและที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แล้ว” ผู้ว่าการ ททท.กล่าว

จับตา ‘เปิดประเทศ 1 พ.ย.64’ ททท.คาด 5 เดือนไฮซีซั่นดึงทัวริสต์ 1.1 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม การจะไปให้ถึงเป้าหมายดึงยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ตามที่วางไว้ นอกเหนือจากการเร่งฉีดวัคซีนครบโดสแก่คนไทยทั่วประเทศเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่แล้ว จำเป็นต้องคลายล็อกข้อจำกัด ปรับเปลี่ยนเงื่อนไข เบิกทางให้นักท่องเที่ยวเข้ามาอย่างสะดวกมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้! หลังภาคเอกชนและนักท่องเที่ยวต่างสะท้อนความเห็นต่างๆ นานา เช่น เรื่องการขอใบอนุญาตเดินทางเข้าประเทศไทย (COE) ที่มีขั้นตอนยุ่งยากซับซ้อน เล่นเอานักท่องเที่ยวหลายคนถอดใจ ยังไม่ตัดสินใจเดินทางมาประเทศไทย รวมถึงขอให้มีการลดขั้นตอนและลดค่าใช้จ่ายในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ต่อเรื่องนี้ นายยุทธศักดิ์ กล่าวว่า การยกเลิกขั้นตอนการขอ COE จะมีขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน อย่างไรก็ตามตั้งแต่ 1 พ.ย.นี้เป็นต้นไป ททท.ได้รับการยืนยันมาว่าจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการของ COE ที่ง่ายขึ้น และถ้าหากมีการยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน ก็จะมีการยกเลิก COE ไปเป็นรูปแบบอื่นที่ง่ายขึ้นแทนเช่นกัน

ส่วนเรื่องการลดขั้นตอนและค่าใช้จ่ายการตรวจหาเชื้อโควิด-19 สำหรับแนวทางการเปิดพื้นที่สีฟ้า “บลูโซน” นำร่องรับนักท่องเที่ยวจาก “ประเทศความเสี่ยงระดับกลาง” ขึ้นไป ซึ่งต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสและมีผลตรวจหาเชื้อโควิด-19 เป็นลบก่อนเดินทางมาถึงไทย โดยต้องอยู่ท่องเที่ยวภายในบลูโซนอย่างน้อย 7 วันก่อนไปเที่ยวพื้นที่อื่นในไทยนั้น ทาง ททท.อยู่ระหว่างเสนอขอให้ ศบค.พิจารณาปรับรูปแบบการตรวจหาเชื้อขึ้นกับไทม์ไลน์การเปิดบลูโซนในแต่ละระยะ

โดยระยะนำร่อง (1-31 ต.ค.64) ซึ่งเปิดพื้นที่นำร่องใน 4 จังหวัดแล้ว ได้แก่ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี กระบี่ และพังงา ให้ตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR 2 ครั้ง จากนั้นระยะที่ 1 (1-30 พ.ย.64) เปิดเพิ่มเป็น 17 จังหวัด จะเสนอให้ปรับการตรวจหาเชื้อ 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 เป็นแบบ RT-PCR และครั้งที่ 2 แบบ ATK ณ จุดที่กำหนด, ระยะที่ 2 (1-31 ธ.ค.64) เปิดเพิ่มเป็น 33 จังหวัด จะเสนอให้ตรวจหาเชื้อ 1 ครั้ง แบบ RT-PCR และระยะที่ 3 (ตั้งแต่ 1 ม.ค.65) เปิดเพิ่มเป็น 45 จังหวัด จะเสนอให้ตรวจหาเชื้อ 1 ครั้ง แบบ RT-PCR หรือ ATK

“ส่วนแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากประเทศความเสี่ยงต่ำ มาเที่ยวไทยแบบไม่กักตัวและไม่จำกัดพื้นที่นั้น ยืนยันว่านักท่องเที่ยวยังต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR อีก 1 ครั้งในวันแรกที่เดินทางมาถึงไทย แม้ว่าจะมีการตรวจหาเชื้อด้วยวิธีดังกล่าวมาจากประเทศต้นทางแล้วก็ตาม โดยนักท่องเที่ยวต้องอยู่ภายในโรงแรมระหว่างรอผลตรวจ เมื่อทราบผลตรวจว่าไม่พบเชื้อ จึงจะสามารถออกไปท่องเที่ยวแบบไม่กักตัวได้”

ทั้งหมดก็เพื่อให้สอดรับกับการเปิดประเทศอย่างปลอดภัย!