โจทย์ใหญ่รัฐบาลเคาะร่วม ’ซีพีทีพีพี’ เอกชนหวั่นจีนยึด ‘โกบอล ซัพพลายเชน’

โจทย์ใหญ่รัฐบาลเคาะร่วม ’ซีพีทีพีพี’ เอกชนหวั่นจีนยึด ‘โกบอล ซัพพลายเชน’

กกร.เร่งรัฐบาลเคาะ“ซีพีทีพีพี” หลัง 3 ประเทศ”จีน ไต้หวัน สหราชอาณาจักร “ขอร่วมร่วมเป็นสมาชิก ชี้ จีนยึด “โกบอลซัพพลายเชน”

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย ประชุมเมื่อวันที่ 11 ต.ค.2564 มีการพิจารณาเข้าร่วมข้อตกลง CPTPP

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้หารือประเด็นการเข้าร่วมเป็นสมาชิกข้อตกลงความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (CPTPP) โดย กกร.จะทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอให้รัฐบาลเร่งรัดการดำเนินการเกี่ยวกับการเข้าร่วมการเจรจา CPTPP 

รวมทั้ง กกร.จะนำเสนอผลการศึกษาของภาคเอกชนและเร่งรัดการพิจารณา เนื่องจากปัจจุบันจีน สหราชอาณาจักรและไต้หวัน ได้มีเจตจำนงเข้าร่วมเจรจากับ CPTPP อย่างชัดเจนแล้ว และหากไทยยังล่าช้าไปกว่านี้ อาจทำให้ต้องเจรจาตามเงื่อนไขของประเทศทั้ง 3 เพิ่มเติมจากเดิมที่จะต้องเจรจากับ 11 ประเทศ ที่เป็นสมาชิก CPTPP ในปัจจุบัน และทำให้ไทยเสียโอกาสในการแข่งขันทางการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์

ก่อนหน้านี้ กกร.ได้เคยทำหนังสือถึงประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ถึงจุดยืนของภาคเอกชนและผลการศึกษาของภาคเอกชน เพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณาของภาครัฐไปแล้ว กกร. จะขอให้กระทรวงการต่างประเทศ โดย กนศ.จัดประชุมเสวนา เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมโดยเร็ว รวมถึงนำเสนอผลการศึกษาของภาคเอกชน เพื่อสร้างความเข้าใจในภาพรวมของการเข้าร่วมเจรจา CPTPP ของไทย

รายงานข่าวระบุว่า กกร.ได้หารือประเด็นที่จีนและไต้หวันสมัครเข้าร่วม CPTPP โดยคณะทำงาน FTA กกร.สรุปประเด็น ดังนี้ 

1.เรื่องดังกล่าวเกี่ยวข้องกับประเด็นการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยควรติดตามความคืบหน้าในการขอเข้าร่วมของจีนและไต้หวันอย่างต่อเนื่อง

2.กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้ประเมินกรณีการขยายจำนวนสมาชิกจะเพิ่มความน่าสนใจและดึงดูดใจของ CPTPP และทำให้ประเทศไทยต้องประเมินประโยชน์และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นใหม่อย่างรอบคอบ โดยกรณีที่จีนสามารถเข้าร่วมได้จะทำให้ CPTPP มีขนาดใหญ่ขึ้นและจะมีประชากรรวมเป็น 1,900 ล้านคน หรือคิดเป็น 25% ของประชากรโลก รวมทั้งมีมูลค่า GDP ประมาณ 25.3 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 30% ของ GDP โลก

3.การสมัครเข้าร่วม CPTPP ของจีนเป็นการเพิ่มพันธมิตร ขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนในห่วงโซ่การผลิตของ CPTPP หรือ Regional supply chain ที่จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งของจีน เพราะความตกลงฉบับนี้กำหนดให้สมาชิกต้องลดหรือยกเลิกภาษีศุลกากรที่เก็บระหว่างกันให้ครอบคลุมรายการสินค้าให้มากที่สุดหรือเกือบครบทุกรายการสินค้า

4.กฎถิ่นกำเนิดสินค้าที่ส่งเสริมให้ใช้วัตถุดิบภายในประเทศสมาชิก กฎระเบียบที่ส่งเสริมการอำนวยความสะดวกทางการค้าทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งกฎเกณฑ์เหล่านี้จะทำให้ ประเทศสมาชิก CPTPP มีความได้เปรียบประเทศที่มิใช่สมาชิกเมื่อเข้าไปอยู่ในวงห่วงโซ่ Regional supply chain หรือการเสียประโยชน์หากอยู่นอกวงจึงเป็นประเด็นใหม่ที่จะต้องนำมาพิจารณา เพราะห่วงโซ่ใหม่นี้จะรวมจีนเข้าด้วย

 

5.ประเทศไทยยังไม่มีการตัดสินใจว่าจะเข้าร่วม CPTPP หรือไม่อย่างไร ได้ทำความตกลงเปิดเสรีการค้า (FTA) กับสมาชิก CPTPP อยู่ 9 ประเทศ จากทั้งหมด 11 ประเทศ โดยยังขาดเพียงเม็กซิโกกับแคนาดา ซึ่งมีการเตรียมการที่จะทำข้อตกลง FTA อาเซียน-แคนาดา เร็วๆนี้ จึงถือว่าประเทศไทยมีช่องทางเข้าสู่ตลาดประเทศสมาชิก CPTPP ผ่าน FTA ที่มีอยู่ได้

ส่วนความคืบหน้าของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา กนศ.ได้นำข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าภาคพื้นแปซิฟิก มาศึกษาเพิ่มเติมถึงผลดีผลเสีย และข้อห่วงใยกรณีที่ไทยจะเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP ร่วมกับหน่วยรายการที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมเสร็จแล้ว และอยู่ระหว่างการทำรายงานเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาว่าไทยควรเข้าร่วมเป็นสมาชิกหรือไม่