ชาวสวนตรังโค่นยาง ปลูก ‘แตง’ ไร้สารโกยเงิน

ชาวสวนตรังโค่นทิ้งต้นยาง หลังราคาร่วงต่อเนื่อง หันปลูกพืชตระกูลแตงปลอดสารพิษหมุนเวียนได้ราคาดี เหตุตอบโจทย์กลุ่มคนรักสุขภาพ

ผู้สื่อข่าวเนชั่นทีวีลงพื้นที่อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง พาไปดูเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ โดยการโค่นทิ้งต้นยางพาราซึ่งมีปัญหาราคาตกต่ำ และหันมาปลูกพืชไร่ โดยเฉพาะตระกูลแตงปลอดสารพิษ โดยไม่พึ่งพาพ่อค้าคนกลาง และทำรายได้ดี

ฌัชชญา นามกร  และธงฉัตร คืนตัก บอกว่า มีพื้นที่เพาะปลูกยางพาราประมาณ 4 ไร่ แต่ราคายางขึ้นๆลงๆตลอดเวลา ส่วนใหญ่จะราคาตกต่ำอย่างต่อเนื่อง จึงโค่นทิ้งต้นยางและหันมาปลูกพืชไร่แทน  โดยช่วงแรกปลูกเฉพาะแตงโมส่งขายแม่ค้าคนกลาง แต่เมื่อเกิดการระบาดของโควิด 19 แม่ค้าไม่กล้าเดินทางมารับซื้อผลผลิต และตลาดนัดต่างๆต้องปิดบริการ จึงต้องนำผลผลิตทั้งหมดไปขายเองที่ตลาดเกษตร และตลาดกรีนชินตา แต่ขายไม่ทันโดยผลผลิตเน่าเสียเป็นจำนวนมาก ทำรายได้ประมาณ 3 หมื่นบาทเท่านั้น

หลังจากนั้นจึงหันมาปลูกพืชไร่ระยะสั้นเหมือนเดิมแต่เน้นความหลากหลายของพืช เพื่อให้ผลผลิตออกสู่ตลาดในเวลาที่ต่างกัน เช่น แตงโม แตงไทยหลายชนิด และฟักทอง 3 สายพันธุ์ คือ ฟักทองไทย ฟักทองญี่ปุ่น และฟักทองบัตเตอร์นัท โดยเน้นปลูกเอง ขายเอง ทั้งในตลาดนัดและขายออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊ก ปรากฏว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะผลผลิตทยอยออกมาไม่พร้อมกัน ประกอบกับใช้วิธีปลูกแบบธรรมชาติโดยไม่ใช้สารเคมีใดๆ จึงเป็นที่ต้องการของตลาด โดยเฉพาะกลุ่มคนรักสุขภาพ

สำหรับราคาขายปลีกฟักทองไทยอยู่ที่กิโลกรัมละ 25 บาท แต่หากขายผ่านแม่ค้าคนกลางจะได้ราคาเพียงกิโลกรัมละ 15 บาทเท่านั้น ส่วนฟักทองญี่ปุ่นราคากิโลกรัมละ 50-60 บาท และฟักทองบัตเตอร์นัทราคากิโลกรัมละ 60 บาท  

ส่วนแตงไทยมีหลายสายพันธุ์  เช่น แตงไทยกลมสีทอง แตงไทยลูกรีสีทอง สีเหลือง แตงไทยลูกรีสีขาว โดยแแตงไทยทุกสายพันธุ์และแตงโม จะขายในราคาเดียวกันคือกิโลกรัมละ 20 บาท 

เกษตรกรทั้งคู่ยืนยันว่าตัดสินใจถูกที่โค่นทิ้งต้นยางและหันมาปลูกพืชไร่ระยะสั้นแบบหลากหลายชนิดทดแทน เพราะรายได้ดีกว่าการทำสวนยางพารามาก ไม่ต้องง้อราคา และไม่ต้องง้อฝน และในยุคโควิด การปลูกอาหารเป็นสิ่งที่ตลาดต้องการมากกว่าอย่างอื่น