วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (7 ต.ค. 64)

วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (7 ต.ค. 64)

ราคาน้ำมันดิบปรับลด หลังปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมากกว่าสัปดาห์ที่แล้วเพิ่มขึ้น 2.3 ล้านบาร์เรล

- ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง จากระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี สำหรับน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส และในรอบ 3 ปีสำหรับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ หลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 1 ต.ค. 64 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.3 ล้านบาร์เรล สู่ 420.9 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะปรับตัวลดลง 4 แสนบาร์เรล เนื่องจากสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นการผลิตน้ำมันดิบขึ้น 0.2 ล้านบาร์เรลต่อวันจากสัปดาห์ก่อนหน้า มาแตะระดับ 11.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับก่อนที่จะมีการเกิดพายุเฮอร์ริเคนไอดาและนิโคลัสเมื่อปลายส.ค. ที่ผ่านมา

- เลขานุการด้านพลังงานสหรัฐฯ เปิดเผยว่าสหรัฐฯ มีการพิจารณาปล่อยน้ำมันดิบออกจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ (SPR) เพื่อช่วยลดผลกระทบของราคาน้ำมันที่สูง

+ กลุ่มโอเปคและประเทศพันธมิตร (โอเปคพลัส) ยืนยันที่จะยังคงปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบในเดือน พ.ย.64 ตามแผนเดิมที่ได้วางไว้ก่อนหน้า แม้ว่าจะมีการออกมาเรียกร้องจากผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ เช่น สหรัฐฯ และ อินเดีย ให้ปรับเพิ่มการกำลังผลิตมากขึ้นก็ตาม

 

 

 

ราคาน้ำมันเบนซิน

ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ในจีนที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงวันหยุดยาวประจำปี (Golden Week) ประกอบกับความต้องการนำเข้าน้ำมันเบนซินของอินโดนีเซีย อีกทั้งสถานการณ์โควิด-19 ที่ดีขึ้นส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเบนซินมีแนวโน้มฟื้นตัว

 

ราคาน้ำมันดีเซล

ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังปริมาณการส่งออกของจีนปรับตัวลดลงจากการหยุดซ่อมบำรุง ส่งผลให้อุปทานในภูมิภาคถูกจำกัด ท่ามกลางความต้องการใช้น้ำมันดีเซลที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ

วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (7 ต.ค. 64)