5 แบงก์ยักษ์ ชิงธงผู้นำ แข่งแพลตฟอร์มดิจิทัล

5 แบงก์ยักษ์ ชิงธงผู้นำ แข่งแพลตฟอร์มดิจิทัล

"ธนาคารพาณิชย์” อยู่ในช่วงการปรับตัวครั้งใหญ่ ในบริบทการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี หรือ "เทคโนโลยีดิสรัปชั่น" มาตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤติโควิด -19 ทรานฟอร์มตัวเองเป็น “ดิจิทัลแบงก์กิ้ง” และ โควิด-19 ตัวแปร-อุปสรรคใหม่ สู่การแข่งชันในโลกยุคใหม่บน"แพลตฟอร์มดิจิทัล"

แม้ในรอบ 3-5 ปีที่ผ่านมา ธนาคารมีความพยายามฝ่ากระแสดิสรัปชัน โดยการทรานฟอร์มตัวเองไปสู่โลกยุคใหม่ มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อเตรียมความพร้อมไปสู่ “ดิจิทัลแบงก์กิ้ง” มีทั้งการปรับลดสาขา เพิ่มทักษะพนักงาน และเพิ่มอาวุธเทคโนโลยีตามศักยภาพและนโยบายของแต่ละธนาคาร ทว่าไม่เพียงพอ บางธนาคารต้องคิดค้นนวัตกรรมไปสู่แพลตฟอร์มและระเบียบธุรกิจโลกใหม่

โควิด-19 ตัวแปร-อุปสรรคใหม่

ในจังหวะที่โจทย์เทคโนโลยีดิสรัปชันไล่ล่า  “วิกฤติโควิด -19” กลายเป็นคลื่นลูกใหญ่เข้ามากดดันเพิ่มอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง เกือบ 2 ปีที่ผ่านมา เพิ่มโจทย์ที่ท้าทาย ไม่ว่าการรุกคืบของแพลตฟอร์มการเงินใหม่ พฤติกรรมของผู้บริโภคหลังโควิด-19 รวมถึงกฎระเบียบข้อบังคับ มาตรฐานที่จะเปลี่ยนไปอย่างมาก

“5 แบงก์ยักษ์”ขยับ-SCBชิงเปิดตัว 

ธนาคารที่มีขนาดใหญ่ อาจจะเสียเปรียบเพราะการเคลื่อนองค์กรไม่ค่อยคล่องตัว แต่ด้วยศักยภาพผู้บริหาร เงินทุนกับลูกค้าในมือ ทำให้ต่างมีความหวังในคว้าโอกาสเป็นผู้นำอุตสาหกรรม โดย 5 ยักษ์ใหญ่  อย่าง  "ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงศรี ธนาคารกรุงไทย" มุ่งมั่น ทั้งโดยเปิดเผยและซุ่มเงียบ 

โดยไทยพาณิชย์ชิงประกาศปรับโครงสร้างใหม่กับปรากฏการณ์ “ยานแม่” จาก SCB ไปสู่โฮลดิ้งภายใต้ SCBX เมื่อวันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมา  นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ยอมรับว่า เริ่มแผนมาตั้งแต่ 3 ปีก่อน พอเจอโควิด-19 ทำให้สะดุดประมาณ 6 เดือน พอตั้งหลักได้ก็เดินหน้าต่อ ส่วนอนาคตจะเกิดหรือดับไม่มีใครรู้ หากไม่ตัดสินใจ เท่ากับรอวันล่ม แต่เปลี่ยนแล้วมีโอกาสชนะ

การเคลื่อนไหวของ SCB คือการปลดล็อกธนาคารแบบดั้งเดิม มาอยู่ภายใต้โฮลดิ้ง ขยายความร่วมมือพันธมิตรในประเทศและภูมิภาค มีความคล่องตัวได้เปรียบคู่แข่ง เพราะไม่อยู่ใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยวันนี้ (4 ต.ค.) ในนาม SCB Protect X DBANK มีการเปิดตัวโปรเจ็คใหม่ "ดิจิทัล อินชัวรันส์ (Digital Insurance) 

ในฝั่งของ “ธนาคารกสิกรไทย” ซึ่งเป็นธนาคารแรกๆ ที่มีการปรับเปลี่ยนไปสู่แพลตฟอร์มดิจิทัลพร้อมขยายเครือข่ายพันธมิตรและมุ่งลงทุนสตาร์ทอัพ การให้สินเชื่อลูกค้ารายย่อยที่ยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อของแบงก์มาก่อน ผ่าน “LINE BK” , สร้าง ‘FinVest’ แพลตฟอร์มด้านการลงทุน ,ลงทุนสตาร์ทอัพจัดตั้ง “Kasikorn X “ หรือ KX  หรือ การจัดตั้ง “กสิกร วิชั่น อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี “ ในประเทศจีน ด้วยภารกิจออกแบบและสร้างระบบเทคโนโลยีหนุนธุรกิจดิจิทัลแบงกิ้งและระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ให้กับธนาคารและลูกค้า

 ขณะที่ “ธนาคารกรุงเทพ” แม้จะดูเหมือนขยับตัวช้า แต่จากดีลเทคโอเวอร์ธนาคารใหญ่ในอินโดนีเซีย “เพอร์มาตา” ทำให้ขยับเข้าสู่การแข่งขันในตลาดดิิจิทัลทันทีและเป็นดีลที่อาจจะคุ้มค่า  เนื่องจาก  “เพอร์มาตา” เป็นผู้ให้บริการธนาคารทางโทรศัพท์มือถือและเทคโนโลยีการชำระเงินออนไลน์ รวมถึง Permata MobileX ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นที่มีกว่า 200 ฟังก์ชัน แและอินโดนีเซีย เป็นตลาดใหญ่สุดในอาเซียน และเป็นท็อป 5 ในโลกที่มีจำนวนประชากรมากถึง 300 ล้านคน

 “ธนาคารกรุงศรี”  จัดตั้ง “กรุงศรี ฟินโนเวต “ ลงทุนในสตาร์ทอัพเชื่อมต่อนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ากับธุรกิจของกรุงศรี อาทิ บล็อกเชน สินเชื่อ อีคอมเมิร์ซ ประกันภัย และการโอนเงินข้ามพรมแดน ได้มีการลงทุนไปแล้วเช่น Grab, Flash Express, Synqa และ Finnomena  โดยอาศัยความแข็งแกร่งของผู้ถือหุ้นใหญ่ “ธนาคารแห่งโตเกียว-มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ” ในเครือมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเซียล กรุ๊ป

"กรุงไทย" ลงทุนโครงสร้างดิจิทัล

ด้าน “ธนาคารกรุงไทย" มีการเดินหน้าลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งแอพพลิเคชั่น Krungthai NEXT แอปฯเป๋าตัง แอปฯถุงเงิน และ Krungthai CONNEX T  ทำให้วันนี้ “แพลตฟอร์มของกรุงไทย”  กลายเป็นแพลตฟอร์มของคนไทยทั้งประเทศ มีลูกค้ากว่า 40 ล้านคน มีผู้ประกอบการเปิดบัญชีกว่า 1.2 ล้านราย ทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 1 แสนล้านบาท  

การสร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์ข้อมูล ยังสนับสนุนการทำโครงการภาครัฐให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พร้อมกับ ร่วมขับเคลื่อนนโยบาย Thailand 4.0 ทำให้ประชาชนคุ้นเคยช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ นำไปสู่สังคมไร้เงินสด 

“กอบศักดิ์” แนะ 6 กลยุทธ์สู้คู่แข่ง

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ หรือ BBL กล่าวยืนยัน ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ยุคหลังโควิด 19 “ความเชื่อถือ” ของลูกค้ายังเป็นหัวใจสำคัญ พร้อมแนะการปรับตัว 6 ข้อ คือ 1. ลด 3.0  เช่น สาขา  เครื่องรูดบัตร (อีดีซี)  ตู้เอทีเอ็ม สมุดบัญชี  2.นำ 4.0 มาใช้ในทุกมิติ 3.ใช้ประโยชน์จากกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) เป็นจุดแข็ง 4.การเชื่อมโยงกับลูกค้า 5.ก้าวสู่ดิจิทัลแบงก์กิ้ง และ 6.การทำงานกับพาร์ทเนอร์  

     “แบงก์ต้องตั้งคำถามว่า ทำไมลูกค้ายังต้องการแบงก์อยู่ ถ้าเราตอบคำถามนี้ได้ และทำได้ดี ก็จะทำให้สามารถอยู่ในยุคหลังวิกฤติโควิด-19 ต่อไปได้ โดยสิ่งที่คนอื่นมาแทนแบงก์ได้ยาก คือ คอร์ปอเรทแบงก์กิ้งและไพรเวทแบงก์กิ้ ยังอยู่กับแบงก์ ส่วนด้านอื่นต้องปรับไปเพิ่มพิ้นที่ในตลาดใหม่  ประกัน การลงทุน และคริปโตที่จะมีพื้นที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ชี้เข้ายุคแบงก์แข่งบนแพลตฟอร์มดิจิทัล

นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ตอนนี้ระบบธนาคารพาณิชย์ถือว่าเป็น “ยุคดิจิทัลแบงก์กิ้ง” ไปแล้ว โดยโควิด-19เป็นตัวเร่งเร็วขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาแบงก์ยอยปรับตัวมาตลอด ทั้งโมบายแบงก์กิ้งและวอลเลต และหลังวิกฤติโควิด -19 ทำให้โปรไฟล์ลูกค้าจะเปลี่ยน มีหนี้เพิ่มขึ้น รายได้ไม่กลับมา ขีดความสามารถทางธุรกิจลดลง ทำให้แบงก์ต้องหาฐานลูกค้าในตลาดใหม่  มองว่า  แบงก์กำลังก้าวสู่ “ยุคการแข่งขันบนแพลตฟอร์มดิจิทัล”  

แบงก์จะมุ่งสร้างพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ ในรูปแบบการลงทุนตั้งบริษัทใหม่หรือเป็นบริษัทลูก ร่วมกับธุรกิจที่ไม่ใช่แบงก์ เช่น ดิลิเวอร์รี่ อีคอมเมิร์ซ โลจิสติกส์ สตาร์ทอัพ  และแบงก์จะเทำหน้าที่เป็นระบบหลังบ้าน เพื่อนำบริการสินเชื่อและอื่นๆให้กับลูกค้าในอีโคซิสเต็มส์ร่วมกัน “ทำไปและเรียนรู้ไป”  ใช้โซเชียลเดต้าวิเคราะห์ หาวิธีการไปสู่ลูกค้ากลุ่มใหม่  เพ่ื่อเปิดโอกาสทางธุรกิจ สร้างรายได้ใหม่ 

ทั้งนี้ ธนาคารจะเป็นมากกว่าธนาคาร (Beyond Banking) เปิดโอกาสทางธุรกิจ ขณะที่สินทรัพย์ดิจิทัลจะเป็นเกมถัดไป จะนำพาไปสู่อีกโลกของระบบการเงิน รองรับกับ Central Bank Digital Currency หรือสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางทุกแห่งรวมถึงไทย 

            

ธปท.เร่งทดลองใช้เงินดิจิทัล CBDC  

ความเคลื่อนไหวของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นายกษิดิศ ตันสงวน รองผู้อำนวยการ กลุ่มงานยุทธศาสตร์องค์กร กล่าวถึงความคืบหน้าการใช้ “เงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง” (CBDC) ว่า  ธปท.ตั้งเป้าหมายเปิดให้ประชาชนในวงจำกัดทดลองใช้ CBDC ในไตรมาส 2 ปี 2565 และตั้งเป้าเปิดใช้งานเป็นการทั่วไปภายใน 5 ปีต่อจากนี้  

“CBDC มีีความปลอดภัและไม่ผันผวน ซึ่งแตกต่างจากบิตคอยน์ หลังจากนี้พร้อมเปิดให้ผู้เล่น ทั้งแบงก์และนอนแบงก์เข้ามาเชื่อมต่อนวัตกรรม” นายกษิดิศกล่าว