ธปท.เผยแนวโน้มเศรษฐกิจเดือน ก.ย.ฟื้นตัว พร้อมดูแลเงินบาทผันผวน

ธปท.เผยแนวโน้มเศรษฐกิจเดือน ก.ย.ฟื้นตัว พร้อมดูแลเงินบาทผันผวน

ธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยเดือน ก.ย.เริ่มเห็นการฟื้นตัวทุกกิจกรรม หลังภาครัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคระบาด ตอบประเด็นเงินบาทอ่อนค่า แบงก์ชาติมีการเข้าไปดูแลเป็นระยะ ป้องกันความผันผวนกระทบเศรษฐกิจจริง

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน ก.ย. เริ่มเห็นแนวโน้มการกลับมาในทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จากข้อมูลเร็ว ได้แก่ Google Mobility และ Facebook Movement Range ที่เห็นพื้นที่สีแดงเบาบางลงในทุกภูมิภาค นอกจากนี้ จากการสอบถามผู้ประกอบการ พบว่า ส่วนใหญ่ได้ประโยชน์จากการผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคบริการที่ปรับตัวดีขึ้น ทั้งธุรกิจโรงแรม ธุรกิจร้านอาหาร และธุรกิจขนส่งสินค้า

อย่างไรก็ดี ภาคการผลิตยังอยู่ในเกณฑ์ทรงตัวจากการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นในโรงงาน และผลกระทบจากค่าระวางเรือที่สูง เช่นเดียวกับภาคอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง โดยอุปสรรคสำคัญที่ผู้ประกอบตอบแบบสอบถาม ได้แก่ กำลังซื้อที่ยังอ่อนแอ โควิด-19 ระลอกใหม่ ปัญหาการขนส่ง และคู่ค้าปิดโรงงาน

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทในตลาดที่อ่อนค่าทะลุ 34.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐนั้น เกิดจากหลายปัจจัยเข้ามากระทบ ทั้งนโยบายการเงินในต่างประเทศที่กลับข้างชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ส่งสัญญาณดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัว (Hawkish) มากขึ้น ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า และกดให้เงินบาทอ่อนค่าลง

ทั้งนี้ ธปท.มีการเข้าไปดูแลอัตราแลกเปลี่ยนเป็นระยะอยู่แล้ว เพื่อไม่ให้ความผันผวนที่เกิดขึ้นกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริง

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 2564 คาดว่าจะฟื้นตัว โดยได้ปัจจัยหนุนจากจำนวนวัคซีนที่คาดว่าจะเข้ามาเพิ่มขึ้น รวมถึงมีวัคซีนทางเลือกเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยให้สถานการณ์ระบาดดีขึ้น รวมถึงการทยอยเปิดเมืองในลักษณะแซนด์บ็อกซ์ที่คาดว่าจะขยายพื้นที่เพิ่มขึ้น โดยเชื่อว่าเศรษฐกิจไตรมาส 3 ปี 2564 เป็นจุดต่ำสุดแล้ว ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วม เบื้องต้นคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในเชิงตัวเลขไม่มากเท่าผลกระทบด้านสังคม

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเดือน ส.ค.2564 ได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนลดลงตามกำลังซื้อที่อ่อนแอและมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวด แม้มีมาตรการภาครัฐช่วยพยุงกำลังซื้อ ขณะที่การส่งออกสินค้าลดลงในหลายหมวดตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว หลังการระบาดในต่างประเทศรุนแรงขึ้น

ด้านเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนและการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงตามภาวะอุปสงค์ ประกอบกับการผลิตบางส่วนได้รับผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนอุปทาน (Supply Disruption) สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงจากการแพร่ระบาดที่รุนแรงขึ้น อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายภาครัฐยังขยายตัวทั้งรายจ่ายเงินโอนและรายจ่ายประจำ

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับมาติดลบเล็กน้อยจากราคาอาหารสดที่ลดลง และการปรับลดค่าธรรมเนียมการศึกษาของภาครัฐ ด้านตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้น สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากกว่าเดือนก่อน ตามดุลการค้าที่เกินดุลลดลงเป็นสำคัญ

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยมีดังนี้

เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนในทุกหมวด โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงและมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดขึ้น ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม รายได้ครัวเรือน และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับลดลง แม้มีมาตรการภาครัฐช่วยพยุงกำลังซื้อได้บางส่วน

มูลค่าการส่งออกสินค้าที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อนในหลายสินค้าและหลายตลาด เป็นผลจากอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัวจากการแพร่ระบาดที่รุนแรงขึ้นในหลายประเทศ และปัญหา Supply Disruption ทั้งในและต่างประเทศ อาทิ การปิดโรงงานชั่วคราวในไทยเพื่อจำกัดการระบาด ปัญหาการขนส่งสินค้า และการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ อย่างไรก็ดี การส่งออกบางหมวดเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน อาทิ สินค้าที่มูลค่าเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมัน และโลหะ ทั้งนี้ อุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่อ่อนแอลง ประกอบกับปัญหา Supply Disruption ในภาคการผลิต ทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนในหลายหมวด

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน ตามการลงทุน ด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ สอดคล้องกับภาวะอุปสงค์และความเชื่อมั่นของธุรกิจที่ยังอ่อนแอ อย่างไรก็ดี การลงทุนด้านการก่อสร้างปรับดีขึ้นบ้าง ภายหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดในพื้นที่ก่อสร้าง

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน และโดยรวมยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศรุนแรงขึ้น รวมทั้งมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศยังมีอยู่

มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง รวมทั้งหมวดสินค้าทุน ส่วนหนึ่งสะท้อนแนวโน้มภาคการผลิตและการส่งออกที่จะกลับมาฟื้นตัวได้ อย่างไรก็ตาม การนำเข้าในบางหมวดลดลงจากเดือนก่อน อาทิ สินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งสอดคล้องกับการบริโภคในประเทศที่อ่อนแอ รวมทั้งการนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ที่ลดลงตามการผลิตรถยนต์

การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวสูงเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน แต่หากไม่รวมเงินโอน การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวได้เล็กน้อย โดยรายจ่ายประจำขยายตัวจากทั้งรายจ่ายค่าตอบแทนบุคลากร และรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ ขณะที่รายจ่ายลงทุนหดตัวต่อเนื่อง จากผลของฐานสูงที่มีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลกลางในปีก่อน

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับมาติดลบเล็กน้อย จากราคาอาหารสดที่ลดลง โดยเฉพาะผักและผลไม้ที่อุปทานล้นตลาด ประกอบกับมีผลของมาตรการลดค่าธรรมเนียมการศึกษาของภาครัฐ ด้านตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้น สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากกว่าเดือนก่อน ตามดุลการค้าที่เกินดุลลดลงจากการส่งออกสินค้าที่แผ่วลงเป็นสำคัญ ด้านอัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่ามากกว่าสกุลเงินคู่ค้าคู่แข่งส่วนใหญ่ จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศที่รุนแรงและมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดขึ้น