ผู้ว่าฯ ธปท.แนะ 7 แนวทางเพิ่ม ‘ภูมิคุ้มกัน’ เศรษฐกิจไทย

ผู้ว่าฯ ธปท.แนะ 7 แนวทางเพิ่ม ‘ภูมิคุ้มกัน’ เศรษฐกิจไทย

"เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ" เสนอ 7 แนวทางเพิ่มภูมิคุ้มกันเศรษฐกิจไทยรับมือความท้าทายในอนาคต แนะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ-ลดการเกิดแผลเป็นเศรษฐกิจจากวิกฤติ

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงานสัมมนาวิชาการประจำปี "BOT Symposium 2021: สร้างภูมิคุ้มกัน ผลักดันเศรษฐกิจไทย" ว่า การทำให้เศรษฐกิจไทยก้าวต่อไปในอนาคตอย่างมั่นคง ยั่งยืน และมีเสถียรภาพภายใต้ความเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอน หรือ "Resiliency" เราจำเป็นต้องมี “ภูมิคุ้มกัน” ผ่านการเพิ่มความสามารถของเศรษฐกิจไทยในทั้ง 3 ด้าน คือ (1) เพิ่มความสามารถในการหลีกเลี่ยงผลกระทบ (2) เพิ่มความสามารถในการรับมือกับผลกระทบ และ (3) เพิ่มความสามารถในการฟื้นตัวจากผลกระทบ ซึ่งขอเสนอแนวทางดังต่อไปนี้

1. ต้องมีการบริหารความเสี่ยงภาพรวมของประเทศ (country risk management) ที่ดี ต้องมีการบูรณาการของข้อมูลและองค์ความรู้ และมีการวิเคราะห์ฉากทัศน์ (scenario analysis) ที่มีการพิจารณาถึงสถานการณ์ ที่แม้มีโอกาสเกิดขึ้นต่ำ แต่สร้างความเสียหายที่สูงด้วย โดยทุกภาคส่วนในสังคมต้องร่วมมือกันเพื่อให้ข้อมูลองค์ความรู้ และมุมมองสมบูรณ์ครบถ้วนรอบด้าน โดยภาครัฐอาจทำหน้าที่ประสานงาน หรือจัดหา platform ในการดำเนินการ

2. ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้พร้อมรับความท้าทายในอนาคต เช่น การปรับเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ resilient ต่อสถานการณ์ climate change รวมถึงความท้าทายในด้านอื่น ๆ ทั้งเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด สังคมที่สูงวัย และภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เปลี่ยนไป โดยภาครัฐมีบทบาทในการออกนโยบายเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจและครัวเรือนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตและบริโภคไปในทิศทางที่มั่นคงและยั่งยืน

3. ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยทั้งในเชิงอุตสาหกรรมและในเชิงพื้นที่เพื่อกระจายความเสี่ยงให้ดีขึ้น ลดการพึ่งพาภาคอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งมากเกินไป และเพิ่มการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค โดยเน้นบทบาทของภาคเอกชนเป็นหลัก ส่วนภาครัฐมีบทบาทในการชี้ทิศทางและสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุนในกิจกรรมและพื้นที่เป้าหมาย รวมถึงจัดหาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น

4. ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังอยู่นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบ (formalization) มากขึ้น เพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบเศรษฐกิจ และให้แรงงานและธุรกิจต่าง ๆ สามารถได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีในยามวิกฤต โดยภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการสร้างแรงจูงใจให้แรงงานและธุรกิจนอกระบบเข้าสู่ระบบ

5. ลดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคมอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเหลื่อมล้ำเชิงโอกาสในด้านต่าง ๆ ทั้งการเข้าถึงความจำเป็นขั้นพื้นฐาน การศึกษา การประกอบอาชีพ การแข่งขันทางธุรกิจ และกระบวนการยุติธรรม ซึ่งภาครัฐมีบทบาทสำคัญทั้งในการกำกับดูแล ไม่ให้มีการเอารัดเอาเปรียบ รวมถึงไม่สร้างและบังคับใช้กฎเกณฑ์ที่ไม่เป็นธรรมในสังคม

6. สร้างโครงข่ายความคุ้มครอง (safety nets) ในทุกระดับเพื่อให้ครัวเรือนและธุรกิจอยู่รอดได้ในยามวิกฤต ตั้งแต่ความสามารถในการช่วยเหลือและพึ่งพาตนเอง เครือข่ายทางสังคม เครือข่ายระหว่างผู้ผลิตในห่วงโซ่อุปทาน (supply chains) และระบบการเงินที่มีประสิทธิภาพ โดยเน้นบทบาทการดำเนินการของภาคเอกชนเพื่อสร้างความยั่งยืนของระบบ ส่วนความช่วยเหลือเยียวยาโดยตรงจากภาครัฐที่ก่อให้เกิดภาระทางการคลังในอนาคต และปัญหา moral hazard ควรจำกัดอยู่ในเฉพาะสถานการณ์ที่กลไกตลาดทำงานไม่ได้

7. ลดการเกิดแผลเป็นทางเศรษฐกิจในยามวิกฤต เพื่อให้ครัวเรือนและธุรกิจสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว เช่น สร้างสายป่านที่ยาวพอ ให้ธุรกิจดำเนินอยู่ได้และจ้างงานต่อเนื่อง ฝึกทักษะแรงงานเพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะเปลี่ยนไปหลังวิกฤต สร้างกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ กระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้ และกระบวนการล้มละลายที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม