SCBX อาวุธใหม่ไทยพาณิชย์ จ่อปิดอีกดีลธุรกิจยักษ์ใหญ่ในไทย

SCBX อาวุธใหม่ไทยพาณิชย์ จ่อปิดอีกดีลธุรกิจยักษ์ใหญ่ในไทย

เปิดใจ“อาทิตย์ นันทวิทยา”ซีอีโอไทยพาณิชย์ ผู้ปลดพันธนาการเอสซีบี สู่ SCBX อาวุธใหม่รุกธุรกิจเทคโนโลยีการเงิน ฟินเทค ดิจิทัลแอสเสท และแพลตฟอร์ม หวังสร้างรายได้เติบโตก้าวกระโดด ล่าสุดเตรียมปิดดีลพันธมิตรรายใหม่ในไทยอีก

เมื่อวันที่ 22 ก.ย. ที่ผ่านมา ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB มาถึงจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่และครั้งสำคัญ ด้วยการปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ของกลุ่มไทยพาณิชย์ (SCB GROUP) มาขับเคลื่อนรายได้และกำไรในอนาคต ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง จากคู่ต่อสู้ในบริบทการเงินโลกใหม่ทุกทิศทุกทาง และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่รวดเร็ว

การปรับโครงสร้างอยู่ภายใต้การขับเคลื่อนของบริษัทแม่ SCBX (เอสซีบี เอกซ์) เพื่อเร่งขยายธุรกิจเชิงรุกเข้าสู่ธุรกิจการเงินและแพลต ฟอร์มอย่างเต็มรูปแบบ เตรียมพร้อมเข้าสู่สนามการแข่งขันแบบใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น ยกระดับสู่กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีการเงินระดับภูมิภาคภายในปี 2568

อะไรเป็นเหตุผลที่ SCB ต้องเป็น SCBX เพื่อเดินหน้าธุรกิจให้มากกว่าเป็นการธนาคารนั้น นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร SCB ให้สัมภาษณ์พิเศษ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ในบริบทใหม่ของโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็วในช่วง 3-5ปีข้างหน้า ผู้ชนะในโลกใหม่ ต้องเป็นผู้สร้างธุรกิจที่เป็น “Network effect” เท่านั้น ดังนั้นเราจึงไม่สามารถจำกัดตัวเองอยู่ในธุรกิจธนาคารแบบดั้งเดิมได้อีกต่อไป แต่จะต้องแปลงสภาพตัวเองไปสู่การสร้างคุณค่าใหม่ให้กับผู้ถือหุ้นและผู้บริโภค

 

โครงสร้างของ SCBX จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ และกลุ่มธุรกิจใหม่สร้างการเติบโต หากสามารถทำได้ตามแผนในอีก 5 ปี ตั้งเป้าจะมีฐานลูกค้าเพิ่มเป็น 200 ล้านรายจากปัจจุบันฐานลูกค้าธนาคารไทยพาณิชย์ที่ 16 ล้านราย มีกำไรเพิ่มขึ้น 1.5-2 เท่า และมีมาเก็ตแคปไปถึง 1 ล้านล้านบาทโดย SCBX จะยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลที่ใกล้ชิดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

“วันนี้เรามีฐานลูกค้าแบงก์เอง 16 ล้าน แอฟโรบินฮู้ด 2 ล้านคน และจากที่จับมือกับ เอไอเอส 40 ล้านคน เร็วๆนี้ก็จะจับมือกับธุรกิจยักษ์ใหญ่ของไทยอีก ฐานลูกค้าก็จะใหญ่ขึ้น และเมื่อเราก้าวขึ้นไปในระดับภูมิภาค และระดับโลก ฐานลูกค้าอาจจะก้าวกระโดดจาก 200 ล้านคน เป็น 2,000 ล้านคนได้”

SCBX อาวุธใหม่ไทยพาณิชย์ จ่อปิดอีกดีลธุรกิจยักษ์ใหญ่ในไทย

ยันไม่ดิสรับแบงก์ใบโพธิ์

สำหรับธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์จะยังคงดำเนินธุรกิจตามปกติ คงไว้ซึ่งความขลังของ “แบงก์ใบโพธิ์” ที่มีความเข้มแข็งทางด้านการเงิน มุ่งเน้นรักษาการเติบโตกำไรที่ระดับ 30,000 ล้านบาทต่อปี ถือเป็นจุดที่พอดีของการเติบโตเชิงคุณภาพ 

ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ร่วมกับการปรับลดกระบวนการขั้นตอนต่างๆเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไปให้มากที่สุดในทุกช่องทาง ธนาคารจะเน้นความสำคัญกับการสร้างความพึงพอใจสูงสุดแก่ลูกค้าเป็นที่ตั้ง จะช่วยสนับสนุนความต่อเนื่องของการทำกำไรได้ 

“3-4 ปีที่เราทดลองขยายธุรกิจใหม่ๆ ที่ได้คือ การจะขยับอะไรก็กลัวว่าความเสี่ยงที่จะทำเรื่องใหม่ จะกระทบกำไร และผู้ฝากเงิน แต่พอแยกออกมาแบบนี้ การทำอะไรใหม่ๆก็จะไม่กระทบกำไรแบงก์”

ตั้งเป้าROEกลุ่มธุรกิจใหม่โตกว่า 20%

ขณะที่กลุ่มธุรกิจใหม่สร้างการเติบโต จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก เป็น “ธุรกิจม้าเร็ว” เป็นธุรกิจดังเดิมของธนาคารที่มีความสามารถทำกำไรเติบโตในระยะ 3 ปีข้างหน้า ได้แก่ ธุรกิจบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล และสินเชื่อรถยนต์ ที่แยกออกมาตั้งเป็นบริษัทย่อย คือ บริษัท ออโต้ เอกซ์ จำกัด และ บริษัท คาร์ด เอกซ์ จำกัด นอกจากนี้ยังมีบล.ไทยพาณิชย์ และกำลังจัดตั้งบริษัทร่วมทุน AlphaX

โดยแต่ละธุรกิจในกลุ่มนี้จะวางเป้าหมายการเติบโต ROE มากกว่า 20% ต่อปี และภายใน 3 ปีต้องนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

นายอาทิตย์ กล่าวว่า ออโต เอกซ์ จะประกอบธุรกิิจสินเชื่อจำนำทะเบียน จะเปิดตัวในราวต้นปี 2565 คาดว่าเริ่มต้นจะปูพรมเปิดทั่วประเทศประมาณ 2 พันสาขา ซึ่งออโต เอกซ์ จะมีความแตกต่างจากคู่แข่งที่อยู่ในตลาด

SCBX อาวุธใหม่ไทยพาณิชย์ จ่อปิดอีกดีลธุรกิจยักษ์ใหญ่ในไทย

“สายบู๊” ลุยการเงินดิจิทัล

กลุ่มที่ 2"กลุ่มธุรกิจสายบู๊” เป็นธุรกิจใหม่ทั้งด้านการลงทุนในเทคโนโลยีทางการเงิน ดิจิทัลแอสเซท และสร้างแฟลตฟอร์มต่างๆ เพื่อให้สอดรับกับรูปแบบของธุรกิจที่เปลี่ยนไปและแข่งขันในธุรกิจใหม่ที่จะเข้ามาในอนาคต 

พร้อมขยายไปสู่ภูมิภาคโดยในเบื้องต้นจะเน้นที่อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ซึ่งจะสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับ SCBX ในอนาคตแทนรายได้จากธุรกิจเดิมที่กำลังลดลง 

นายอาทิตย์ คาดว่า ธุรกิจกลุ่มนี้จะเห็นการเติบโตชัดเจนในปีที่ 4 เป็นต้นไป อาจจะไม่ใช่การเติบโตในแง่กำไรเท่านั้น แต่จะเป็นการเติบโตเชิงมูลค่าของธุรกิจ และวางเป้าหมายเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯทั้งในและต่างประเทศ อาทิ   โรบินฮู้ด ฟู้ดเดลิเวอรี” เป็นโครงการแรก เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันกับแพลตฟอร์มระดับโลก มองว่าในปีที่ 5 อาจมีมาร์เก็ตแคปเท่ากับธุรกิจแบงก์ก็ได้

นอกจากนี้ยังมีธุรกิจที่สร้างขีดความสามารถของบุคลากรด้านเทคโนโลยี โดยเริ่มจากการก่อตั้งบริษัท เอสซีบี เทคเอกซ์ จำกัด และบริษัท “Data X” ร่วมกับพันธมิตรระดับโลก เพื่อสร้างขีดความสามารถพื้นฐานด้านเทคโนโลยีภายในที่จะสามารถสร้างและ scale platform ได้ภายในระยะเวลาอันสั้น

รวมทั้งจะขยายเข้าสู่ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล(digital asset business)ในระดับโลก เพื่อเข้าสู่โลกการเงินแห่งอนาคตผ่าน SCB 10X และบล.ไทยพาณิชย์ โดยการร่วมลงทุนและเป็นพันธมิตรกองทุนระดับโลก และการพัฒนาธุรกิจดิจิทัลแอสเส็ทด้านต่างๆในโมเดลธุรกิจใหม่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกลุ่มในระยะยาว

ปัจจุบัน SCB แตกบริษัทลูกมาถึง 15 บริษัทที่ SCBX จะเข้ามาถือหุ้น และยังมีรายละเอียดเกี่ยวกับธุรกิจภายใต้ปีก SCBX อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งคงต้องรอข้อมูลที่เป็นทางการอีกครั้ง หลังการประชุมผู้ถือหุ้นที่จะมีขึ้นในวันที่ 15 พ.ย. นี้

เป้า3ปีคนจดจำ“ตระกูล X”

นายอาทิตย์ กล่าวถึง โปรเจ็คนี้ด้วยว่า เป็น Re-Imagine SCB หรือ จินตนาการใหม่ของไทยพาณิชย์ ซึ่งไทยพาณิชย์จะไม่เท่ากับธนาคารในความหมายเดิมอีก คือ ไม่ต้องพูดถึงธนาคารแล้ว เพราะฝั่งธนาคารไทยพาณิชย์ ยังทำหน้าที่เหมือนเดิมภายใต้โครงสร้างการบริหารใหม่ของ SCBX ที่ไม่ได้ดิสรัปแบงก์ ส่วนคนที่จะสร้างการเติบโตใหม่ คือ SCBX เท่านั้น

โดยในอีก 3 ปี กาลเวลาที่ผ่านไป SCBX จะสร้างการจดจำใหม่ ว่า เรา เป็น “ตระกูล X” ที่มีความขลังของเอสซีบีแบงก์ และความใหม่ของธุรกิจเอกซ์ทั้งหมด 

 “เราใช้เวลา 2 ปี เริ่มคุยกับบอร์ดตั้งแต่ปลายปี 2562 แต่เมื่อมีวิกฤติโควิด ทำให้เราต้องไปโฟกัสการช่วยเหลือลูกค้าให้เรียบร้อยโดยเร็ว เพื่อที่จะได้กลับมาเตรียมตัวโปรเจ็คนี้ ด้วยทีมงานที่แข็งแรงของเรา และสถานการณ์ที่บรรเทา ทำให้ปลายปี 2563 เราสามารถเริ่มกลับมาเตรียมตัวโปรเจ็คนี้ได้สำเร็จ” 

ยึดหลัก“เถ้าแก่น้อย”วางขุนพล

นายอาทิตย์ กล่าวถึงการวางกลุยุทธ์โครงสร้างการบริหาร การวางตัวซีอีโอของแต่ละบริษัทนับเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญ โดยตนยังคงดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าบริหารและประธานกรรมการบริหารของธนาคารไทยพาณิชย์ และดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารของ SCBX ก่อน ซึ่งก็จะมีการสรรหาผู้ที่มีความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งในธนาคารไทยพาณิชย์ต่อไป ส่วนพนักงานธนาคารก็ยังคงเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง

ส่วนธุรกิจใหม่ผลักดันซีอีโอทุกคน ให้เป็น “เถ้าแก่น้อย” เพราะเมื่อเปลี่ยนคนที่เคยอยู่แบงก์ ถ้าตีกรอบให้เขาไปเดินชนกำแพง เขาก็เดินชนอยู่ดี แต่เมื่อเราเปลี่ยนเขาเป็นเถ้าแก่ เป็นเจ้าของธุรกิจนั้น เขาเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีฏิบัติทันที 

“ผมเปิดโอกาสให้ทุกคนได้คิดเองทำเอง เพราะผมมองว่าผมไม่ฉลาดพอที่จะเก่งทุกเรื่อง รู้ทุกอย่าง ผมต้องการให้มีเถ้าแก่น้อย ที่สร้างมูลค่าขึ้นมาจนนำมาบริษัทเข้าไอพีโอได้ ผมถึงจะให้เงินทุนต่อ โดยผมจะเรียกประชุมกรุ๊ปซีอีโอมิตติ้งเดือนละ 1 ครั้งเท่านั้น”

ขณะเดียวกัน การสร้าง “เถ้าแก่น้อย” จำนวนมาก เพื่อมาสร้างสปีดของธุรกิจใหม่ ต้องบาลานซ์ให้ทันกัน เพราะหากมีบริษัทใหม่แต่ไม่มีคนที่มีคุณภาพมาสร้างการเติบโต ก็เจ๊งได้ แผนงานของตนจะไม่รับสมัครคนมาที่บริษัทแม่ แต่จะให้บริษัทลูกดำเนินการไปเอง บริษัทแม่จะกำกับนโยบาย ให้เป้าหมายในแต่ละปีจะทำกี่เวนเจอร์ ไปที่อีโคซิสเต็มส์ไหนบ้าง ต้องการซีอีโอสเป็คแบบไหนก็จะมาร์กไว้ ค่อยๆเริ่มเข้าไปพูดคุย ซึ่งทำแบบนี้ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา  

สำหรับการปลดล็อกพันธนาการของกลุ่มไทยพาณิชย์ครั้งสำคัญ “นายอาทิตย์” ยอมรับว่า ใช้ความกล้ามาก วันนี้ก็ไม่รู้ว่าจะมาถูกหรือไม่ อีก 2-3 ปี เดี๋ยวก็รู้ แต่ที่รู้คือ ถ้าเรายังแบบเดิม ล่มสลายแน่นอน 

 

ธุรกิจในกลุ่ม New Growth

1.บริษัท หลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCB Securities)  ดร.อารักษ์ สุธีวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

2.บริษัท เอสซีบี เท็นเอกซ์ จำกัด (SCB10X) ดร.อารักษ์ สุธีวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร   

3.บริษัท โทเคน เอกซ์ จำกัด (Token X) นางสาวจิตตินันท์ ชาติสีหราช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

4.บริษัท มันนิกซ์ จำกัด (MONIX) นางสาวถิรนันท์ อรุณวัฒนกูล ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ

5.บริษัท เอสซีบี เทคเอกซ์ จำกัด (SCB TechX) นายตรัยรัตน์ สุวรรณประทีป   ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

6.บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด (Purple Ventures) นายสีหนาท ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ

7.บริษัท เอสซีบี อบาคัส (SCB ABACUS) ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์   ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

8.บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด (Digital Ventures) นายอรพงศ์ เทียนเงิน  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

9.บริษัท อัลฟ่า เอกซ์ จำกัด (Alpha X)  นายวศิน ไสยวรรณ  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

10.บริษัท เอไอเอสซีบี จำกัด (AISCB) นายกวีวุฒิ เต็มภูวภัทร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

11.บริษัท ออโต้ เอกซ์ จำกัด (Auto X) นางอภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร 

12. บริษัท คาร์ดเอกซ์ จำกัด (Card X) นายสารัชต์ รัตนาภรณ์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

13.บริษัท บริหารสินทรัพย์ คาร์ดเอกซ์ จำกัด (Card X AMC) - อยู่ระหว่างการจัดตั้ง

14.บริษัทร่วมทุนกับเครือเจริญโภคภัณฑ์เพื่อบริหารจัดการกองทุนในกองทุน Venture Capital  (SCB – CP Group JV)

(อยู่ระหว่างการขออนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทย) นางมุขยา พานิช Managing Partner

15.บริษัท ดาต้า เอกซ์ จำกัด (Data X) Mr.Yizhak Idan ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร / Chief Executive Officer

บริษัทในกลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์

ธนาคารกัมพูชาพาณิชย์ (Cambodia Commercial Bank – CCB)

ธนาคารไทยพาณิชย์ เมียนมา (SCB Myanmar)

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด

บริษัท ไทยพาณิชย์ โพรเทค จำกัด

บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จำกัด

บริษัท ไทยพาณิชย์พลัส จำกัด

บริษัท บริหารสินทรัพย์ รัชโยธิน จำกัด

บริษัท ธ.ท.พ. ศูนย์ฝึกอบรม จำกัด