ไทยพาณิชย์ รื้อใหญ่บุกดิจิทัล ตั้งเอสซีบี เอกซ์ รับโอนหุ้น

ไทยพาณิชย์ รื้อใหญ่บุกดิจิทัล ตั้งเอสซีบี เอกซ์ รับโอนหุ้น

"ไทยพาณิชย์" เรียกประชุมผู้ถือหุ้นวาระพิเศษ 15 พ.ย.นี้ ขออนุมัติแผนปรับโครงสร้างธุรกิจรับมือการเงินโลกเปลี่ยน รักษาขีดแข่งขัน ดันขึ้นชั้นธุรกิจระดับภูมิภาค ย้ายผู้ถือหุ้นไปบริษัทโฮลดิ้ง“เอสซีบี เอกซ์” ก่อนเพิกถอนหุ้นเดิมออกจากตลาด ตั้งเป้า 5 ปี ฐานลูกค้า 200 ล้านคน

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB) กล่าวว่า กลุ่มไทยพาณิชย์ ประกาศวิสัยทัศน์องค์กรรับบริบทใหม่ของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ล่าสุด จัดตั้งบริษัทแม่ภายใต้ชื่อ “SCBX” (เอสซีบี เอกซ์) เพื่อเร่งขยายธุรกิจเชิงรุกเข้าสู่ธุรกิจการเงินและแพลตฟอร์มอย่างเต็มรูปแบบ เตรียมพร้อมเข้าสู่สนามการแข่งขันแบบใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น ยกระดับสู่กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีการเงินระดับภูมิภาคภายในปี 2568   

โดยมีเป้าหมายสร้างฐานลูกค้า 200 ล้านคน จากปัจจุบัน 16 ล้านคน และ Earning เพิ่มขึ้น 1.5 -2 เท่า และในปีที่ 5 จะมีมาร์เก็ตแคปแตะ 1 ล้านล้านบาท พร้อมกับผลักดันให้บริษัทย่อยเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันมีราว 15 บริษัท และยังอยู่ในแผนงานอีกหลายบริษัทที่่จะผลักดันออกมาหลังจากนี้ พร้อมภารกิจเชื่อมต่อ ecosystem ทั้งในและต่างประเทศ โดย “SCBX” จะยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลที่ใกล้ชิดของธนาคารแห่งประเทศไทย

สำหรับบริษัย่อย 15 บริษัท ได้แก่ 

1.บริษัท อออโต้  เอกซ์ จำกัด 
2.บริษัท คาร์ด เอกซ์ จำกัด
3.บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ จำกัด
4.บริษัท เอสซีบี เทคเอกซ์ จำกัด
5.บริษัทบริหารสินทรัพย์ คาร์ด เอ็กซ์ จำกัด  
6. บริษัทดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด
7.บริษัท อัลฟ่า เอ็กซ์ จำกัด บริษัท โทเคน เอ็กซ์ จำกัด 
8.บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด 
9.บริษัทเอสซีบี เท็นเอ็กซ์ จำกัด 
10.บริษัท เอสซีบี อบาคัส จำกัด
 11.บริษัท มันนิกซ์ จำกัด 
12.บริษัท เอไอเอสซซีบี จำกัด 
13. SCB-CP Group JV
14.บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ จำกัด 
15.บริษัทโทเคน เอกซ์ จำกัด

ไทยพาณิชย์ รื้อใหญ่บุกดิจิทัล ตั้งเอสซีบี เอกซ์ รับโอนหุ้น

ชงผู้ถือหุ้น15พ.ย.อนุมัติโครงสร้างใหม่

ทั้งนี้หลังจากที่ประชุมของคณะกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์ เมื่อ 22 ก.ย2564 มีมติเห็นชอบให้นำเสนอต่อที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 15 พ.ย.2564 เพื่อพิจารณาอนุมัติแผนการปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจทางการเงินไทยพาณิชย์ และแผนการปรับโครงสร้างการถือหุ้น โดยธนาคารจะจัดตั้งบริษัทมหาชนจำกัด คือ บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน)  หรือ SCBX เพื่อประกอบธุรกิจเป็นบริษัทลงทุน หรือ โฮลดิ้งคอมเพนี

นายอาทิตย์ กล่าวว่า ภายหลังจากที่แผนการปรับโครงสร้างการถือหุ้นได้รับการอนุญาตเบื้องต้นจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ SCBX ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงการได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)ให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่แล้ว 

SCBX จะทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของธนาคารไทยพาณิชย์จากผู้ถือหุ้นของธนาคาร โดยการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิของธนาคาร ในอัตราการแลกหลักทรัพย์เท่ากับ 1 หุ้นสามัญของธนาคารต่อ 1 หุ้นสามัญของ SCBX และ 1 หุ้นบุริมสิทธิของธนาคาร ต่อ 1 หุ้นสามัญของ SCBX 

หลังเทนเดอร์ดันSCBXสวมแทน

ทั้งนี้ ในการทำคำเสนอซื้อดังกล่าว SCBX จะยกเลิกคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ หากจำนวนหุ้นที่มีผู้แสดงเจตนาขายมีจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 90 ของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของธนาคาร และภายหลังการทำคำเสนซื้อหลักทรัพย์เสร็จสิ้น SCBX จะดำเนินการยื่นขอนำหุ้นสามัญของ SCBX เข้าจดทะเบียนเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แทนหลักทรัพย์ของธนาคาร ซึ่งจะถูกเพิกถอนออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในวันเดียวกัน  โดยธนาคารจะดำเนินการให้ SCBX ใช้ชื่อย่อหลักหรัพย์เดียวกันกับธนาคาร คือ SCB ในการนำหลักทรัพย์เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

ปรับโครงสร้างบริษัทย่อย

จากนั้นภายหลังจากหลักทรัพย์ของ SCBX เข้าจดทะเบียนเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ธนาคารจะโอนย้ายบริษัทย่อยและโอนธุรกิจบัตรเครดิตและธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปรับโครงสร้างการถือหุ้นของธนาคาร ดังนี้

        1. ธนาคารจะดำเนินการโอนหุ้นซึ่งธนาคารถือในบริษัทย่อย ให้แก่ SCBX หรือบริษัทย่อยของ SCBX และ 2.ธนาคารจะโอนธุรกิจบัตรเครดิตและธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน ให้แก่บริษัทย่อยที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ของ SCBX โดย SCBX จะถือหุ้นในบริษัทย่อยดังกล่าวเกือบทั้งสิ้น เพื่อมุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจบัตรเครดิตและธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน

ปันผล 7 หมื่นล้าน

        นายอาทิตย์ กล่าวว่า ที่ประชุมของคณะกรรมการจะเสนอให้ผู้ถือหุ้นอนุมัติจ่ายปันผลระหว่างกาล วงเงินราว 70,000 ล้านบาท ให้แก่ SCBX และผู้ถือหุ้นรายอื่นๆในขณะนั้นของธนาคาร โดยธนาคารคาดว่าเงินปันผลส่วนใหญ่สัดส่วน 70% จะถูกใช้เพื่อเป็นค่าตอบแทนสำหรับการรับโอนบริษัทย่อยและธุรกิจบัตรเครดิตและธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน และเป็นเงินลงทุนสำหรับ SCBX ในการลงทุนขยายธุรกิจในอนาคตเป็นหลัก 

ส่วนวงเงินที่เหลือเพื่อเป็นเงินปันผลที่ SCBX จะพิจารณาจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นในขณะนั้นของ SCBX ภายหลังจากการแลกหุ้นระหว่างธนาคารและ SCBX เสร็จสิ้นในรอบปีหน้า  

ทั้งนี้การจ่ายเงินปันผลดังกล่าวจะขึ้นอยู่ปัจจัยต่างๆ ซึ่งรวมถึงนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เกี่ยวกับจ่ายเงินปันผลในขณะนั้น และนโยบายการจ่ายเงินปันผลของ SCBX โดยจะมีการจัดประชุมผู้ถือหุ้นเป็นวาระพิเศษในวันที่ 15 พ.ย. นี้ 

อย่างไรก็ตามการทำตามแผนการปรับโครงสร้างการถือหุ้น การโอนย้ายบริษัทย่อยและโอนธุรกิจบัตรเครดิตและธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน ตลอดจนการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจะไม่เกิดขึ้น หากมีผู้แสดงเจตนาแลกหุ้นของธนาคารให้แก่ SCBX ไม่ถึงร้อยละ 90 ของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของธนาคาร

3ปีปรับสู่เทคคอมเพนีเต็มตัว

       นายอาทิตย์ กล่าวว่า สำหรับกลยุทธ์เสริมความแข็งแกร่งธนาคารควบคู่ไปกับการสร้างธุรกิจใหม่สำหรับอนาคตนั้น ในส่วนของธนาคารจะมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีมาใช้ร่วมกับการปรับลดกระบวนการขั้นตอนต่างๆให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไปให้มากที่สุดในทุกช่องทาง ธนาคารจะเน้นความสำคัญกับการสร้างความพึงพอใจสูงสุดแก่ลูกค้าเป็นที่ตั้ง 

ไทยพาณิชย์จะไม่เท่ากับธนาคารในความหมายเดิมอีก แต่จะแปลงสภาพกลายเป็นกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงิน(เทคคอมเพนี)ที่มีธุรกิจธนาคารที่แข็งแรงขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม และจะขยายเข้าสู่ธุรกิจการเงินส่วนบุคคลที่มีการเติบโตสูงที่ธนาคารไม่สามารถตอบสนองได้ โดยแต่ละธุรกิจธนาคารจะร่วมมือกับพันธมิตรระดับประเทศ และระดับภูมิภาคที่แข็งแกร่ง ที่จะเริ่มเปิดตัวในเร็วๆนี้  

รุกแพลตฟอร์ม-ดิจิทัลแอสเสท

นายอาทิตย์ กล่าวว่า ไทยพาณิชย์จะต้องยกระดับขีดความสามารถของกลุ่มในการสร้างและบริหารจัดการแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยีขนาดใหญ่ (technology platform) หลังจากนำร่องด้วย “โรบินฮู้ด ฟู้ดเดลิเวอรี” เป็นโครงการแรก เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันกับแพลตฟอร์มระดับโลก และได้สร้างขีดความสามารถของบุคลากรด้านเทคโนโลยี 

โดยเริ่มจากการก่อตั้งบริษัท “SCB Tech X” และบริษัท “Data X” ร่วมกับพันธมิตรระดับโลก เพื่อสร้างขีดความสามารถพื้นฐานด้านเทคโนโลยีภายในที่จะสามารถสร้างและ scale platform ได้ภายในระยะเวลาอันสั้น 

นอกจากนี้จะขยายเข้าสู่ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ในระดับโลกเพื่อเข้าสู่โลกการเงินแห่งอนาคตผ่าน SCB 10X และบล.ไทยพาณิชย์โดยการร่วมลงทุนและเป็นพันธมิตรกองทุนระดับโลก และการพัฒนาธุรกิจดิจิทัลแอสเสท ด้านต่างๆ ใน business model ใหม่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกลุ่มในระยะยาว

“ในปี 2568 คาดหวังว่าไทยพาณิชย์จะต้องไม่จำกัดตัวเองอยู่ที่ธุรกิจธนาคารแบบดั้งเดิมอีกต่อไป แต่สามารถเข้าสู่สนามการแข่งขันแบบใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นโดยเร็วเพื่อที่จะอยู่รอดปลอดภัยในอีก 3-5 ปีข้างหน้านี้ ด้วยความสามารถสร้างมูลค่าของบริษัทจากธุรกิจใหม่ให้มีขนาดที่มีนัยยะสำคัญนอกเหนือจากผลกำไรพื้นฐานและความมั่นคงของธุรกิจธนาคารหลัก มุ่งขยายธุรกิจใหม่ออกสู่ต่างประเทศ และเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่มีผู้ใช้งานจำนวนมาก"นายอาทิตย์ กล่าวและว่า

"หลังจาก 3 ปีนี้ SCB จะไม่เท่ากับธนาคารอีกต่อไป แต่จะกลายเป็นกลุ่มบริษัทที่มีธุรกิจการเงินและแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยีที่หลากหลาย สามารถตอบสนองความต้องการใหม่ของผู้บริโภคและสามารถแข่งขันกับคู่แข่งในระดับโลกได้อย่างทัดเทียม เพื่อสร้างมูลค่าใหม่ให้กับผู้ถือหุ้นทดแทนธุรกิจธนาคารที่อาจจะมีผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างทันท่วงที”

ผนึกซีพีตั้งกองทุนลุยสตาร์ทอัพ

วานนี้เครือเจริญโภคภัณฑ์(ซีพีกรุ๊ป) และกลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์จับมือร่วมตั้งกองทุน Venture Capital ขนาด 600-800 ล้านเหรียญสหรัฐฯหรือราว 20,000-27,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพทั่วโลก โดยเน้นการลงทุนใน Disruptive Technology ด้านบล็อคเชน (Blockchain) สินทรัพย์ดิจิทัล เทคโนโลยีด้านการเงิน (FinTech) และเทคโนโลยีอื่นๆ ที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงทั่วโลก

การร่วมมือกันในครั้งนี้ถือเป็นการดึงจุดแข็งของทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อร่วมบริหารจัดการกองทุน Venture Capital โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์เป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีธุรกิจหลากหลายและมีเครือขายทั่วโลก นอกจากนี้ยังมี Ecosystem ที่ครอบคลุมในหลากหลายอุตสาหกรรม ได้แก่ ธุรกิจอาหาร ธุรกิจค้าปลีก เกษตรกรรม ธุรกิจด้านสุขภาพ ซึ่งช่วยให้บริษัทที่ไปลงทุนนั้น สามารถเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงผู้บริโภคได้

ในขณะที่กลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์นั้น นับเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจทางการเงินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ด้วยการมี Ecosystem ในภาคการเงินที่ทันสมัยและสามารถต่อยอดไปยังภาคธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมี SCB 10X บริษัทในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้เข้าร่วมบริหารจัดการกองทุนดังกล่าว เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญด้านการลงทุนในบริษัทเทคโนโลยี และมีเครือข่ายนักลงทุน Venture Capital ทั่วโลก รวมถึงการเป็นผู้นำในด้าน Blockchain และสินทรัพย์ดิจิทัลในภูมิภาค

ลงขันฝ่ายละ100ล้านเหรียญ

สำหรับโครงสร้างการถือหุ้นในกองทุนนี้ ซีพีกรุ๊ปและกลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์ จะร่วมกันจัดตั้งบริษัทเพื่อบริหารจัดการกองทุน โดยต่างถือหุ้นฝ่ายละ 50% นอกจากนี้ ยังร่วมลงทุนในกองทุน Venture Capital ขนาด 600-800 ล้านหรียญสหรัฐฯ เป็นจำนวนเงินฝ่ายละ 100 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนที่เหลือจะระดมทุนจากนักลงทุนที่ได้รับการรับรอง โดยมุ่งเน้นลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีที่มีศักยภาพตั้งแต่ระยะเริ่มต้นจนถึงเติบโตทั่วโลก

นายสุภกิต เจียรวนนท์ ประธานคณะกรรมการ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด กล่าวว่า “เราเชื่อว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนจะเข้ามาเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจในหลายๆ อุตสาหกรรม ได้แก่ ภาคการเงินการธนาคาร ภาคเกษตรกรรม ด้วยความสามารถของเทคโนโลยีนี้ที่เข้ามาช่วยในการติดตามและเพิ่มความโปร่งใสของกระบวนการต่างๆ ซึ่งเราเชื่อว่าขณะนี้เรายังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของเทคโนโลยีนี้ และเชื่อว่ายังมีศักยภาพในการเติบโตอีกมาก”