ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดประชุมกนง. 29 ก.ย.คงดอกเบี้ย 0.5%

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดประชุมกนง. 29 ก.ย.คงดอกเบี้ย 0.5%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดผลประชุม กนง.วันที่ 29 ก.ย.64 จะยังคงดอกเบี้ยที่ 0.5% หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มดีขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยฯ ประเมินว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 29 ก.ย.2564 กนง.จะพิจารณาคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% หลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศเริ่มลดลง ทั้งนี้ จากการประชุม กนง.ครั้งที่แล้วในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา กนง.มติคงดอกเบี้ยนโยบายอย่างไม่เป็นเอกฉันท์ที่ 4 ต่อ 2 เสียง โดย 2 เสียงลงมติเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าในการประชุม กนง.ครั้งนี้ แรงกดดันให้ กนง.พิจารณาลดดอกเบี้ยนโยบายนั้นจะมีน้อยลง เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศได้ผ่านจุดสูงสุดและเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจเริ่มลดลง

ดังนั้น ในการประชุม กนง.ที่จะถึงนี้ คาดว่า กนง.น่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% นอกจากนี้ ในการประชุมครั้งนี้จะมีแถลงประมาณการเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่า กนง.น่าจะยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 ที่ราว 0.7% สอดคล้องกับคาดการณ์ในรายงาน กนง.เดือน ส.ค.ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี ในกรณีที่สถานการณ์พลิกกลับมาเกิดการระบาดระลอกใหม่และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง โดยขณะนี้ความเป็นไปได้ยังไม่สูงนัก การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังคงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ กนง.อาจนำมาพิจารณา

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอาจจะช่วยบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจผ่านต้นทุนการเงินที่ปรับลดลง แต่การปรับลดดอกเบี้ยในจังหวะที่ธนาคารกลางต่างๆ หลายแห่ง รวมถึงธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เริ่มส่งสัญญาณถอนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในระยะอันใกล้ จะมีต้นทุนทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าการปรับลดในจังหวะที่ธนาคารกลางหลักทั่วโลกยังดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย

กล่าวคือ การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายสวนทางกับตลาดโลกจะเป็นการตอกย้ำถึงความเปราะบางของเศรษฐกิจไทย ซึ่งน่าจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและอาจกระตุ้นให้เกิดเงินทุนไหลออกจากไทย สร้างความผันผวนให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงกว่าเดิมจากที่มีทิศทางอ่อนค่าอยู่แล้ว ท่ามกลางแนวโน้มแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากเฟดส่งสัญญาณลดวงเงิน QE

ดังนั้น หากสถานการณ์ดังกล่าวเริ่มมีความเป็นไปได้สูงขึ้น ธปท. คงต้องชั่งน้ำหนักผลกระทบต่างๆ อย่างระมัดระวัง อย่างไรก็ดี ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะยังคงมุ่งเน้นการใช้มาตรการที่ตรงจุดเพื่อลดภาระหนี้สินของภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ท่ามกลางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง