‘เงินบาท’วันนี้เปิด’อ่อนค่าสุด’ในรอบเกือบ1เดือนที่33.12บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’วันนี้เปิด’อ่อนค่าสุด’ในรอบเกือบ1เดือนที่33.12บาทต่อดอลลาร์

“กรุงไทย” ชี้พลิกกลับมาอ่อนค่าสูงสุดในรอบเกือบ1เดือน ระยะสั้นยังมีแนวโน้มอ่อนค่าจากแรงขายบอนด์ของนักลงทุนต่างชาติ จากความกังวลว่าปริมาณการออกบอนด์ในอนาคตอาจสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ทำให้ตลาดผันผวน มองกรอบเงินบาทวันนี้ที่ 33.05-33.25 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุนธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันนี้(17ก.ย.)   ที่ระดับ  33.12 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าสุดในรอบเกือบ1เดือน และอ่อนค่าลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.04 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.05-33.25 บาทต่อดอลลาร์

ในส่วนแนวโน้มค่าเงินบาท เราคงมุมมองว่า เงินบาทยังคงเผชิญปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่า มากกว่าแข็งค่า โดยในระยะสั้น อาจเห็นแรงขายบอนด์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติเพิ่มเติม จากความกังวลว่าปริมาณการออกบอนด์ในอนาคตอาจสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ ผู้เล่นบางส่วนยังปิดสถานะเก็งกำไรเงินบาทแข็งค่า หลังสถานการณ์การระบาดในประเทศที่อาจเจอการระบาดระลอกใหม่ ซึ่งภาพดังกล่าวก็อาจกดดันให้ นักลงทุนต่างชาติทยอยขายหุ้นไทยได้บ้าง หากเริ่มมีสัญญาณการระบาดระลอกใหม่กลับเข้ามาชัดเจนมากขึ้น

ผู้เล่นในตลาดการเงินในฝั่งสหรัฐฯ ยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนักและยังอยู่ในภาวะระมัดระวังตัว ท่ามกลางความกังวลว่าความผันผวนในตลาดการเงินอาจปรับตัวสูงขึ้นมากในวันศุกร์นี้ ซึ่งจะเป็นวันที่สัญญาฟิวเจอร์และออพชั่นของทั้งหุ้นรายตัวและดัชนี ครบกำหนด ทำให้อาจมีการปรับสถานะถือครองสินทรัพย์ขนานใหญ่ 

โดย นักวิเคราะห์ของ S&P Dowjones ได้ประเมินว่า อาจมีการซื้อขายหุ้นถึง 5.5 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อปรับสถานะถือครองหลังสัญญาออพชั่นและฟิวเจอร์ครบกำหนด 

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจกังวลว่า ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ที่ดีกว่าคาด อาจหนุนโอกาสเฟดทยอยลดคิวอี หลังจากที่ ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนสิงหาคม พุ่งขึ้นราว +0.7%จากเดือนก่อนหน้า สวนทางกับที่ตลาดมองว่า จะหดตัว -0.8% โดยได้แรงหนุนจากการใช้จ่ายในช่วงก่อนเปิดเทอมในสหรัฐฯ (Back to School) รวมถึง การจับจ่ายของวัยทำงานที่เริ่มกลับไปทำงานกันมากขึ้น (Back to Office) 

ทั้งนี้ ภาวะระมัดระวังตัวของผู้เล่นในฝั่งสหรัฐฯ ได้กดดันให้ ดัชนี Dowjones ย่อตัวลง -0.18% เช่นเดียวกันกับ ดัชนีS&P500 ปิดตลาด -0.15% 

ส่วนทางด้านตลาดยุโรป ดัชนี STOXX50 รีบาวด์กลับขึ้นมากว่า +0.58% หลังธนาคารกลางยุโรป (ECB) ออกมาปฎิเสธบทวิเคราะห์ของทาง Financial Times ที่ระบุว่า ECB อาจทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยได้เร็วกว่าคาด หากเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นแตะเป้า 2% ในปี 2025 นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากหุ้นในธีม Reopening อาทิ กลุ่มท่องเที่ยวและการบิน ตามภาพเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวได้ดี

ในฝั่งตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดเริ่มมองว่า เฟดอาจสามารถทยอยส่งสัญญาณการปรับลดคิวอีที่ชัดเจนขึ้นได้ หลังข้อมูลยอดค้าปลีกออกมาดีกว่าคาดไปมาก ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น 4bps สู่ระดับ 1.34%

 ทั้งนี้นอกเหนือจากประเด็นการปรับลดคิวอีของเฟดที่อาจกระทบต่อบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ นั้น ยังมีประเด็นการเจรจาขยายเพดานหนี้ของสหรัฐฯ ที่อาจกดดันให้ ตลาดกังวลและปิดรับความเสี่ยง กดดันให้บอนด์ยีลด์ 10ปี ย่อตัวลงได้บ้าง ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ไทย นักลงทุนต่างชาติทยอยเทขายทั้งบอนด์ระยะสั้นและระยะยาวกว่า 7.6 พันล้านบาทหลังจากที่ผู้เล่นในตลาดเริ่มปรับลดสถานะเก็งกำไรเงินบาทแข็งผ่านบอนด์ระยะสั้น ขณะเดียวกัน Bloomberg ได้รายงานว่า สำนักบริหารหนี้สาธารณะอาจกู้เงินมากขึ้นกว่าคาด ส่งผลให้ปริมาณการออกบอนด์ในอนาคตจะเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ตลาดเคยประเมินไว้ ซึ่งภาพดังกล่าวได้กดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี ไทย ก็พุ่งขึ้นกว่า 10bps 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังยอดค้าปลีกสหรัฐฯฟื้นตัวแข็งแกร่งกว่าคาด กอปรกับผู้เล่นบางส่วนต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย เพื่อรับมือกับความผันผวนจากการที่สัญญาฟิวเจอร์และออพชั่นในสหรัฐฯ ครบกำหนด ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องใกล้ระดับ92.90 จุด 

สำหรับวันนี้ เรามองว่า ตลาดยังคงติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดย ตลาดประเมินว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดย U of Michigan (Consumer Sentiment) ในเดือนกันยายน อาจพลิกกลับมาปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 72 จุด จาก 70.3 จุด สะท้อนว่า ชาวอเมริกัน ยังคงเชื่อมั่นการฟื้นตัวเศรษฐกิจ จากการฟื้นตัวต่อเนื่องของตลาดแรงงาน รวมถึง แผนการทยอยเปิดเมืองที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง และการเตรียมแจกจ่ายวัคซีนโดสที่ 3 ในช่วงปลายเดือนกันยายน