BOI หนุนคนไทย ลงทุนในอุตสาหกรรมกลุ่มไฮเทค

BOI หนุนคนไทย ลงทุนในอุตสาหกรรมกลุ่มไฮเทค

หลายท่านอาจเข้าใจว่า BOI ส่งเสริมบริษัทต่างชาติเป็นหลัก แต่ความจริงที่ผ่านมา BOI ให้ความสำคัญและส่งเสริมผู้ประกอบการไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะ SMEs

ตั้งแต่เริ่มใช้ยุทธศาสตร์ใหม่เมื่อปี 2558 จนถึงเดือนมิ.ย.2564 มีโครงการระดับ SMEs ที่ลงทุนไม่เกิน 200 ล้านบาท และมีคนไทยถือหุ้นทั้งสิ้นหรือข้างมาก ขอรับการส่งเสริมกว่า 3,700 โครงการ คิดเป็น 40% ของโครงการทั้งหมด เงินลงทุนรวม 166,000 ล้านบาท โดยอยู่ในพื้นที่อีอีซี 530 โครงการ เงินลงทุน 26,000 ล้านบาท

โครงการลงทุนของ SMEs ไทย ส่วนใหญ่เป็นกิจการด้านดิจิทัล รองลงมาเป็นเกษตรและอาหาร การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน อุตสาหกรรมสนับสนุน เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งกิจการด้านเทคโนโลยี เช่น การวิจัยและพัฒนา บริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ การออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ และการออกแบบทางวิศวกรรม

มาตรการ BOI ที่ช่วยสนับสนุน SMEs ไทย มีอยู่ 5 ด้านที่สำคัญ

1. มาตรการภาษีสำหรับ SMEs โดย SMEs ที่มีหุ้นไทยข้างมากและมีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อปี จะได้รับการผ่อนปรนเงื่อนไขเงินลงทุนขั้นต่ำเหลือเพียง 5 แสนบาท และให้ใช้เครื่องจักรใช้แล้วในประเทศบางส่วนเพื่อลดต้นทุน โดยจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 8 ปี ตามประเภทกิจการ และได้รับวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้เพิ่มเป็น 2 เท่าของเกณฑ์ทั่วไป เพื่อเป็นแต้มต่อให้กับ SMEs

2. มาตรการส่งเสริมการปรับปรุงประสิทธิภาพ เพื่อยกระดับเป็น Smart SMEs เช่น การปรับเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรทันสมัยหรือระบบอัตโนมัติ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพ การใช้พลังงานทดแทน เช่น ติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ การยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรไปสู่มาตรฐานสากล เช่น GAP, FSC โดยจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ 3 ปี ในวงเงิน 50% ของเงินลงทุนในการปรับปรุง โดยตั้งแต่เกิดโควิด หลายบริษัทใช้โอกาสช่วงนี้ลงทุนปรับปรุงสายการผลิตหรือยกระดับธุรกิจ เพื่อเตรียมพร้อมรับเศรษฐกิจฟื้นตัว ตั้งแต่ปี 2563 ถึงครึ่งปี 2564 มีคำขอมากถึง 352 โครงการ เงินลงทุนกว่า 33,000 ล้านบาท

3. มาตรการส่งเสริมให้ SMEs เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เพื่อระดมทุนไปพัฒนาศักยภาพและขยายกิจการ โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากการเพิ่มวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้เป็น 2 เท่าของเกณฑ์ทั่วไป

4. มาตรการส่งเสริมให้ผู้ประกอบรายใหญ่ช่วยรายเล็ก ทั้งการให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมกรณีช่วยพัฒนา Supplier ในประเทศ และมาตรการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก โดยสนับสนุนสหกรณ์หรือวิสาหกิจชุมชน ในการแปรรูปสินค้าเกษตร พัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน หรือการท่องเที่ยวชุมชน โดยจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ 3 ปี ในวงเงิน 120% ของเงินลงทุน/ค่าใช้จ่ายที่ช่วยชุมชน

5. มาตรการเชื่อมโยง SMEs ที่ผลิตชิ้นส่วนกับผู้ผลิตสินค้าสำเร็จรูปต่างชาติ ในกลุ่มยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ หรือเครื่องจักร เพื่อช่วยลดการนำเข้าชิ้นส่วน และสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับ SMEs ไทยได้เข้าไปอยู่ในซัพพลายเชนระดับโลก รวมทั้งเกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยจัดกิจกรรม เช่น งาน Subcon Thailand ตลาดกลางซื้อขายชิ้นส่วน แต่ละปีสร้างมูลค่าเชื่อมโยงได้กว่า 6-7 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ BOI ยังช่วยสร้างองค์ความรู้และเครือข่ายให้ SMEs ทั้งจัดสัมมนาการลงทุน จัดคณะศึกษาดูงานกิจการที่ประสบความสำเร็จ เปิดมุมมองใหม่ๆ ด้านการบริหารธุรกิจและเทคโนโลยีการผลิต และสร้างเครือข่ายกับนักธุรกิจในภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งจัดหลักสูตรฝึกอบรม SMEs ที่ต้องการออกไปลงทุนในต่างประเทศด้วย

ทั้งหมดนี้เป็นความตั้งใจของ BOI ที่จะเป็นกองหนุนให้กับ SMEs โดยช่วยเสริมศักยภาพและสร้างแต้มต่อในการดำเนินธุรกิจ เพื่อรับมือกับการแข่งขันในโลกยุคใหม่ และให้ SMEs ไทยเติบโตอย่างยั่งยืน