ปรีดา เตียสุวรรณ์ ติงรัฐสอบตกแก้โควิด-19 แนะร่วมมือธุรกิจ-ประชาชน

ปรีดา เตียสุวรรณ์ ติงรัฐสอบตกแก้โควิด-19 แนะร่วมมือธุรกิจ-ประชาชน

"ปรีดา เตียสุวรรณ์" ชี้วัฒนธรรมความร่วมมือ "รัฐ-เอกชน-ประชาชน" เป็นกุญแจสำคัญช่วยไทยฝ่าโควิด-19 พร้อมรับมือวิกฤติใหม่ในอนาคต ติงช่วงที่ผ่านมารัฐบาลสอบตกบริหารไวรัส-วัคซีน

นายปรีดา เตียสุวรรณ์ ประธานกรรมการ บริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในวงเสวนาออนไลน์ผ่านคลับเฮาส์ "CEO โซเซ : The Legend Ep.2 สร้างตำนานผ่านวิกฤติ" ว่า กุญแจสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยเอาชนะวิกฤติโควิด-19 ได้ คือต้องสร้างวัฒนธรรมความร่วมมือ ทั้งจากภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และภาครัฐ ซึ่งภาคประชาชนชัดเจนว่าต้องดูแลตัวเอง และมีวินัยในการดำรงชีวิต ส่วนภาคธุรกิจจะต้องเพิ่มความยืดหยุ่นเพื่อให้ล้มแล้วลุกได้ (Resilience) รวมถึงสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างพนักงานและหัวหน้างาน

ในการนี้ บริษัทต้องวางแผนใหม่และสร้างความเข้าใจกับพนักงาน เพราะปัจจุบันบริษัทต่างๆ อยู่ในโหมดของการเอาตัวรอด จากที่ความต้องการ (Demand) ทั่วโลกหายไปพร้อมกันจากผลกระทบของโควิด-19 ดังนั้น หากบริษัทต้องการที่จะอยู่รอดจะต้องแน่จริง นำเอาลูกค้าเป็นที่ตั้ง (Customer Focus) รวมถึงผู้บริหารและพนักงานต้องยอมตัดเงินเดือนเพื่อให้กิจการอยู่รอด เพราะหากบริษัทไม่รอด พนักงานก็มีความเสี่ยงจะตกงาน

สำหรับภาครัฐ ต้องยอมรับว่าประสิทธิในการบริหารยังน้อยเกินไป สะท้อนจากผลงานการจัดการโควิด-19 และการจัดสรรวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ถือว่ารัฐบาลสอบตกอย่างมาก ทั้งที่ภาครัฐควรเป็นหลักในการนำพาประชาชนและภาคธุรกิจให้ออกจากวิกฤติในครั้งนี้ได้ แต่ปัจจุบันกลับเป็นหลุมดำ เพราะไม่สามารถรวบรวมคนที่จะมาปกครองประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยให้ประชาชนพ้นภัย

"วิกฤติรอบนี้ไม่เหมือนกับ 2540 เราต้องไปด้วยกันจึงจะแก้สถานการณ์ได้ อีกทั้งต้องพร้อมรับมือกับปัญหาใหม่ที่จะเข้ามาในอนาคต ซึ่งความรุนแรงอาจไม่หนักเท่าโควิด-19 แต่จะเป็นปัญหาที่ซึมลึกกว่า เช่น ภาวะโลกร้อน บรรยากาศโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว น้ำท่วมเพิ่มขึ้นจากน้ำแข็งขั้วโลกที่ละลาย ฯลฯ"

เมื่อสอบถามถึงทางออกสำหรับธุรกิจที่ถูกผลกระทบจากโควิด-19 และไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามปกติ นายปรีดา กล่าวว่า ธุรกิจจะต้องเข้าใจจิตวิทยาในช่วงโควิด-19 ที่เจ้าหนี้เพิ่มความระมัดระวังในการดำเนินการเรื่องต่างๆ กับลูกหนี้ เพราะหากตัดสินใจผิดอาจสูญเงินที่ควรจะได้คืนทั้งก้อนทันที เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว และธุรกิจสายการบิน

ส่วนธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว หรือธุรกิจโรงแรม ต้องแสดงให้เจ้าหนี้เห็นว่าตนอยู่ในอุตสาหกรรมที่ดี แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นเกิดจากเหตุการณ์เหนือธรรมชาติ ซึ่งหากวิกฤติคลี่คลายลงก็สามารถฟื้นตัวกลับมาได้ ดังนั้น การก่อหนี้เพิ่ม (Recreate) และการเลื่อนชำระหนี้ (Reschedule) ควรเป็นสิ่งที่ทำได้

สำหรับธุรกิจของ "แพรนด้า จิวเวลรี่" ยอมรับว่าบริษัทฯ ชะลอการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ใหม่จนกว่าจะถึงปี 2566 ซึ่งเป็นมติที่ได้แจ้งผู้ถือหุ้นไปแล้ว เพราะมองว่าการลงทุนหนักอาจส่งผลกระทบกับกระแสเงินสด (Cash Flow) แม้บริษัทจะคาดว่ากระแสรายได้จะกลับมาได้บ้างในปี 2565 แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจน่าจะเกิดขึ้นจริงภายหลังประชาชนได้วัคซีนเข็มที่ 3 ส่งผลให้ตนมองการท่องเที่ยวไทยที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญ จะฟื้นตัวกลับมาได้จริงในไตรมาส 4 ปี 2565

ดังนั้น บริษัทจึงเดินหน้าประหยัดต้นทุน พร้อมกับการสร้างธุรกิจใหม่ที่เหมาะกับโลกวิถีใหม่ (New Normal) เพื่อเตรียมพร้อมแข่งขันในระยะต่อจากนี้