เกียรติ สิทธีอมร ชงรัฐปรับเงื่อนไขเงินกู้ SMEs ช่วยธุรกิจให้ตรงจุด

เกียรติ สิทธีอมร ชงรัฐปรับเงื่อนไขเงินกู้ SMEs ช่วยธุรกิจให้ตรงจุด

"เกียรติ สิทธีอมร" เสนอแนวทางรัฐ ปรับเงื่อนไขเงินกู้ SMEs หนุนลูกหนี้กลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือเข้าถึงสภาพคล่องได้อย่างแท้จริง พร้อมแนะนำธุรกิจเดินหน้าเจรจาเจ้าหนี้-คู่ค้า

นายเกียรติ สิทธีอมร อดีตประธานผู้แทนการค้าไทย และอดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เปิดเผยในวงเสวนาออนไลน์ผ่านคลับเฮาส์ "CEO โซเซ : The Legend Ep.2 สร้างตำนานผ่านวิกฤติ" ว่า นโยบายของรัฐบาลในการรับมือวิกฤติโควิด-19 ยังไม่เพียงพอ รวมถึงนโยบายที่ได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น การให้เงินกู้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นผู้กำกับดูแล และให้สถาบันการเงินเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะให้สินเชื่อแก่ธุรกิจหรือไม่

ทั้งนี้ เพราะสถาบันการเงินจะให้เงินกู้ยืมแก่ธุรกิจที่มีเครดิตดีเท่านั้น หรือมีโอกาสไปต่อเท่านั้น ดังนั้น ตนจึงมีข้อเสนอไปยังรัฐบาลเพื่อปรับโครงสร้างและเงื่อนไขการปล่อยเงินกู้ดังกล่าว เพื่อให้เม็ดเงินกระจายไปสู่ธุรกิจที่มีความต้องการใช้เงินจริงๆ

โดยมองว่าหากไม่ปรับเงื่อนไขเงินกู้แก่ SMEs จะก่อให้เกิดผลเสียตามมา เพราะประเทศไทยเผชิญกับปัญหาหนี้สาธารณะที่ขยับเข้าใกล้ระดับ 60% แม้จะเป็นภาวะเดียวกันกับประเทศอื่นที่เผชิญกับปัญหาโควิด-19 แต่โจทย์ใหญ่คือการนำเม็ดเงินไปใช้ให้เกิดผลิตภาพ (Productivity) ต่อเศรษฐกิจมากที่สุด เพื่อให้ประเทศไทยกลับมาเติบโตและทำรายได้ในระยะถัดไป ซึ่งตนมองว่าโครงการปัจจุบันที่รัฐบาลทำอยู่สามารถปรับปรุงให้ดีกว่านี้ไดเ

"สมัยก่อนมีเงินเท่าไหร่เอาไปช่วยเท่านั้น แต่ตอนนี้คือมีเงินน้อย ทำอย่างไรให้ช่วยได้เยอะ หลักคิดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ของไทยคือยังไม่เอาไปใช้ ง่ายๆ คือรัฐอย่าแข่งกับเอกชน แบงก์รัฐอย่าไปแข่งกับแบงก์เอกชน แต่ให้ร่วมมือกันเพื่อให้ปล่อยเงินกู้ได้เยอะขึ้น"

นอกจากนี้ มุมมองของภาครัฐต่อการรับมือกับโควิด-19 จะต้องเปลี่ยนไป จากเดิมเป้าหมายคือการเอาชนะโรคระบาด แต่ปัจจุบันหลายประเทศเปลี่ยนมุมมองเป็นเป้าหมายในการอยู่ร่วมกับโควิด-19 จากปัญหาการแพร่ระบาดระลอกใหม่อันเนื่องมาจากการกลายพันธุ์ของไวรัส ซึ่งภาครัฐมีบทบาทอย่างยิ่งในการดำเนินมาตรการช่วยเหลือให้ประชาชนถูกกระทบจากโควิด-19 น้อยที่สุด

นายเกียรติ กล่าวว่า สำหรับธุรกิจที่ประสบปัญหาไม่สามรถชำระคืนหนี้ได้ วิธีการคือต้องเจรจาเท่านั้น ทั้งกับเจ้าหนี้ หรือสถาบันการเงิน และกับคู่ค้าที่เป็นธุรกิจด้วยกัน โดยย้ำว่าไม่มีเจ้าหนี้คนไหนอยากทำงานแทนธุรกิจเอง และไม่มีเจ้าหนี้คนไหนอยากเห็นลูกหนี้ล้มตาย

เมื่อกลับมาฟื้นตัวได้ควรปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรให้ยืดหยุ่นเพื่อรองรับการปรับตัวได้เร็ว เรื่องไหนที่จ้างบุคคลภายนอก (Outsource) ได้ึวีดำเนินการทันที ที่สำคัญคือควรเก่งในเรื่องที่จำเป็น และไม่จำเป็นต้องทำเองทุกเรื่อง เพราะหากไม่มีความชำนาญ สิ่งเหล่านั้นจะกลายเป็นต้นทุนแก่บริษัท