ช่วยเหลือธุรกิจ SMEs แค่สินเชื่อฟื้นฟู คงไม่พอ…

ช่วยเหลือธุรกิจ SMEs แค่สินเชื่อฟื้นฟู คงไม่พอ…

กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ถือเป็นกลุ่มธุรกิจหลักที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาอย่างมาก

แม้ความเข้มงวดของการล็อกดาวน์ในปีนี้จะไม่เทียบเท่ากับที่เกิดขึ้นในเดือนเมษายนของปี 2563 แต่ความยาวนานของการระบาดก็ส่งผลให้ธุรกิจ SMEs โดยเฉพาะภาคบริการและการค้า ได้รับผลกระทบไปในวงกว้าง ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงการจ้างงานและรายได้ของแรงงานในประเทศ 

ธุรกิจ SMEs มีความสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจไทย จากข้อมูลช่วงก่อนการระบาดของโรคโควิด-19  ผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs กว่า 3 ล้านรายถือเป็น 99.8% ของผู้ประกอบการทั้งหมดในประเทศไทย มีมูลค่าต่อเศรษฐกิจไทยคิดเป็น 42% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ยิ่งไปกว่านั้น ธุรกิจ SMEs มีการจ้างงานแรงงานกว่า 17.5 ล้านคน ในระบบแรงงานของประเทศไทย คิดเป็น 46% ของการจ้างงานทั้งหมด การจ้างงานของธุรกิจ SMEs จึงถือเป็นสัดส่วนการจ้างงานที่สูงที่สุด เมื่อเทียบกับการจ้างงานในภาคเกษตรหรือในบริษัทขนาดใหญ่ ดังนั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อธุรกิจ SMEs ในปี 2564 นี้ ไม่ได้กระทบแค่เพียงตัวธุรกิจ แต่ขยายวงกว้างไปยังแรงงานกว่า 17.5 ล้านคนด้วยเช่นกัน 

ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ช่วงไตรมาสที่ 2  ของปี 2564 ที่ผ่านมา ธุรกิจ SMEs ได้รับความช่วยเหลือผ่านการเสริมสภาพคล่องเพิ่มเติมจากมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งมาตรการนี้มีการปรับปรุงเงื่อนไขเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น โดยได้จัดตั้งวงเงินให้ความช่วยเหลือแก่ธุรกิจ 250,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ความรุนแรงของสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 2 ประกอบกับการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขของสินเชื่อฟื้นฟู ส่งผลให้มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูสามารถให้ความช่วยเหลือแก่ธุรกิจ SMEs ได้เป็นอย่างดี 

โดยข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 23 สิงหาคม 2564 มียอดสินเชื่อที่ได้รับการอนุมัติแล้วกว่า 95,000 ล้านบาท โดยมีผู้ประกอบการเข้ารับความช่วยเหลือกว่า 31,000 ราย คิดเป็นวงเงินอนุมัติเฉลี่ยกว่า 3.1 ล้านบาทต่อราย ในภาพรวมถือว่าการให้ความช่วยเหลือของสินเชื่อฟื้นฟูมีการกระจายตัวได้ดี ทั้งด้านขนาดของธุรกิจที่มีการกระจายตัวของสินเชื่อไปยังธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน และด้านประเภทธุรกิจที่มีการให้ความช่วยเหลือไปยังหลากหลายธุรกิจ โดยธุรกิจพาณิชย์และอุตสาหกรรมการผลิต ถือเป็น 2 อุตสาหกรรมที่มียอดการขอสินเชื่อฟื้นฟูสูงสุด คิดเป็นสัดส่วนรวมกว่า 70% ของยอดสินเชื่อฟื้นฟูทั้งหมด 

ผลของการช่วยเหลือผ่านสินเชื่อฟื้นฟู ส่งผลให้สินเชื่อ SMEs ในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2564 ขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.7% ถือเป็นการเติบโตสูงสุดในรอบ 5 ปี โดยปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่สินเชื่อ SMEs มีการหดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 1 ของปี 2563 ที่มีการหดตัวของสินเชื่อกว่า 5% จากปี 2562  สินเชื่อ SMEs มีการเติบโตที่หดตัวลงต่อเนื่องมาจนถึงไตรมาส 1 ของปี 2564 ที่สินเชื่อ SMEs ยังติดลบเล็กน้อยที่ 0.8% อย่างไรก็ตาม หากไม่รวมยอดสินเชื่อฟื้นฟู อัตราการขยายตัวของสินเชื่อในไตรมาส 2 ของปี 2564 จะยังคงติดลบอยู่ที่ 1.3% 

 อย่างไรก็ตาม ถ้าเทียบกับยอดสินเชื่อ SMEs รวมในระบบธนาคารพาณิชย์ ยอดสินเชื่อฟื้นฟูที่อนุมัติในครั้งนี้คิดเป็น 3% ของยอดสินเชื่อ SMEs ทั้งหมด ยิ่งไปกว่านั้น จำนวนผู้ประกอบการที่ได้รับการช่วยเหลือจากสินเชื่อฟื้นฟู คิดเป็น 1% ของจำนวนผู้ประกอบการ SMEs ทั้งหมดภายในประเทศ ดังนั้น แม้การให้ความช่วยเหลือผ่านสินเชื่อฟื้นฟูจะเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ แต่โครงการนี้อาจสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการได้เพียงบางกลุ่มเท่านั้น และยังมีผู้ประกอบการอีกเป็นจำนวนมากที่ยังคงต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐ 

แน่นอนว่าการเสริมสภาพคล่อง เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถมีเงินทุนในการดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในช่วงที่เศรษฐกิจซบเซา อย่างไรก็ตามในระยะถัดไป การให้ความช่วยเหลือผ่านการอนุมัติสินเชื่อเพิ่มเติม อาจจะไม่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจ เพราะแม้จะมีการผ่อนคลายการล็อกดาวน์ แต่เนื่องด้วยสภาวะทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ อาจส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ช้า ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs ยังคงขาดรายได้บางส่วน ซึ่งผลกระทบของการขาดรายได้ต่อเนื่องในระยะยาว อาจทำให้ในบางธุรกิจที่มีกระแสเงินสดติดลบ หรือมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าใช้จ่ายพักจ่าย หรือ EBITDA ติดลบ ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ และจำเป็นต้องปิดตัวลง   

รูปแบบหนึ่งที่เหมาะสมในการให้ความช่วยเหลือธุรกิจ SMEs และเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารแห่งประเทศไทย คือ โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ ที่สนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs โอนทรัพย์มาเป็นหลักประกันชำระหนี้ เพื่อช่วยลดภาระหนี้ในช่วงที่รายได้ยังคงอยู่ในระดับต่ำ เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ในระยะยาว อย่างไรก็ตาม การเข้าร่วมโครงการ พักทรัพย์ พักหนี้ มีแนวโน้มการเข้าร่วมที่ค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับโครงการสินเชื่อฟื้นฟู โดยปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 74 ราย คิดเป็นมูลค่าสินทรัพย์ที่รับโอน 11,000 ล้านบาท แม้ผู้ประกอบการบางส่วนอาจจะอยู่ในขั้นตอนการการเจรจากับสถาบันการเงิน แต่ก็ต้องยอมรับว่า มีผู้ประกอบการบางส่วนไม่กล้าตัดสินใจเข้าร่วมโครงการนี้ เนื่องจากมีความกังวลถึงความไม่แน่นอนของรายได้ในอนาคต จากสภาพความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจไทย ซึ่งอาจส่งผลไปยังความสามารถซื้อสินทรัพย์ของตนเองคืนกลับมาในอนาคต 

วิธีการหนึ่งที่อาจสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการในประเด็นนี้ คือการผสมผสานโครงการสินเชื่อฟื้นฟูร่วมเข้ากับโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ เพื่อให้ลูกหนี้สามารถนำสินเชื่อฟื้นฟูมาเป็นวงเงินการันตีให้สามารถนำกลับมาซื้อกิจการคืนในอีก 3-5 ปีข้างหน้า ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดความกังวลของผู้ประกอบการ และช่วยให้ผู้ประกอบการ กล้าตัดสินใจเข้าร่วมโครงการพักทรัพย์ พักหนี้มากยิ่งขึ้น อันจะเป็นผลดีต่อการช่วยเหลือธุรกิจให้สามารถลดภาระหนี้ และสามารถฟื้นตัวได้ดี ในช่วงภายหลังการระบาดของโรคโควิด-19