'รัฐบาล' ลุยแก้จนรายจังหวัด หลังโควิดพ่นพิษเศรษฐกิจทรุด

'รัฐบาล' ลุยแก้จนรายจังหวัด หลังโควิดพ่นพิษเศรษฐกิจทรุด

นโยบายขจัดความยากจนของภาครัฐได้ผลที่เป็นรูปธรรมคือสัดส่วนคนจนลดลงจากระดับ 10% เหลือ 6.2% ในปี 2562 อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2563  ทำให้สถานการณ์ความยากจนในประเทศไทยรุนแรงขึ้น รัฐบาลตั้งศจพ.ขึ้นเพื่อแก้ปัญหาความยากจน

ศูนย์ขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วยวัยตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ตั้งขึ้นตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีวันที่ 30 ต.ค.2563 โดยมีคณะกรรมการที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน มีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ แนวทาง มาตรการ เพื่อมอบหมายให้ส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ

วันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วยวัยตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (คจพ.) วานนี้ ( 2ก.ย.) ว่าที่ประชุมได้รับทราบผลการสำรวจความยากจน จากระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform) หรือ “TPMAP” ซึ่งเริ่มสำรวจข้อมูลคนจนในประเทศไทย โดยใช้ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ของกระทรวงมหาดไทย และการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยเพื่อขอรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ของกระทรวงการคลัง

โดยพบว่าจากการสำรวจฐานข้อมูล จปฐ. 36.8 ล้านคน มีจำนวนคนยากจนอยู่ 3.2 ล้านคน ซึ่งต้องมีการเร่งรัดการให้ความช่วยเหลือและแก้ปัญหาให้คนกลุ่มนี้อย่างเร่งด่วน

ส่วนการแก้ปัญหาความยากจนในระดับพื้นที่ขณะนี้รัฐบาลเน้นการแก้ไขในระดับจังหวัด โดยแต่ละจังหวัดมีการจัดตั้ง ศูนย์อำนวยการขจัดความยากจน ระดับจังหวัดโดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ทั้งนี้จากสถานการณ์โควิด-19 ที่มีการแพร่ระบาดมากขึ้น ทำให้แรงงานอพยพจาก กทม.และในพื้นที่เมืองที่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจขนาดใหญ่กลับสู่ต่างจังหวัดเป็นจำนวนมาก ทำให้ต้องมีการทำการสำรวจภาวะความยากจนในพื้นที่ต่างๆอีกครั้งซึ่งที่ประชุมมอบหมายให้มีการสำรวจให้แล้วเสร็จในปี 2564 

โดยแนวทางในการสำรวจและให้ความช่วยเหลือที่ประชุมฯเน้นให้มีการลงพื้นที่สอบถามข้อมูล สำรวจข้อมูลถึงครัวเรือนเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง และจัดทำเป็นโครงการให้ความช่วยเหลือ เพื่อแก้ปัญหาความยากจน ซึ่งให้มีการเสนอโครงการขอใช้งบประมาณขึ้นมาในปี 2565 – 2566 โดยในปีงบประมาณ 2565 จะใช้งบประมาณจากงบกลางรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็นปี 2565 ส่วนในปี 2566 จะพิจารณาแหล่งเงินงบประมาณที่เหมาะสมต่อไป

163066444976

ทั้งนี้เพื่อให้ได้ข้อมูลคนจนในระดับบุคคล/ครัวเรือน ที่เป็นเป้าหมายให้ใช้วิธี เคาะประตูบ้าน (Knock Knock) โดยใช้ระบบ TPMAP เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายวิกฤติให้สามารถอยู่รอด และดำรงชีพอยู่ได้ โดยในลำดับความสำคัญและระบุกลุ่มเป้าหมายของกลุ่มคนวิกฤติ ซึ่งมีการจำแนกกลุ่มเป้าหมายออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

1.กลุ่มเป้าหมายในระบบ TPMAP จำนวน 9.8 แสนคน ในการจัดลำดับความสำคัญเลือกจากกลุ่มเป้าหมายที่ตกเกณฑ์มิติ ความยากจนจากดัชนีความยากจนหลายมิติ (MP) อย่างน้อย 3 จาก 5 มิติ ประกอบด้วย มิติด้านรายได้ ความเป็นอยู่ และสุขภาพ 

2.กลุ่มคนที่ตกหล่นจากระบบ (exclusion error) ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้จากการลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือเป็นรายบุคคล เพื่อดึงคนที่ตกหล่นจากกลุ่มเป้าหมายในระบบ TPMAP และคนที่ตกหล่นจากข้อมูลประชากร เข้าสู่ระบบ TPMAP และ 3.กลุ่มครัวเรือน/เปราะบาง ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่อยู่ในเกณฑ์การคัดเลือกครัวเรือนเปราะบาง และนิยามภาระ ของกรมการพัฒนาชุมชน โดยในปี2563 มีจำนวนครัวเรือน/คนเปราะบางทั้งประเทศในระบบ TPMAP ทั้งสิ้น4.1 ล้านครัวเรือน  ครัวเรือน/จำนวน 10.7 ล้านคน

นอกจากนี้ให้ลงพื้นที่ตรวจสอบ (X-Ray) กลุ่มเป้าหมาย ศจพ. ในทุกระดับรวมไปถึงทีมปฏิบัติการฯลงพื้นที่เคาะประตูบ้านเพื่อสำรวจและให้ความช่วยเหลือตามมิติการพัฒนาที่เหมาะสมและหากเป็นกลุ่มบุคคลที่ตกหล่น (exclusion error) ให้ดำเนินการบันทึกข้อมูลเข้าระบบแฟ้มบ้านพัฒนาคนไทย (Logbook) รวมไปถึงแก้ไขปรับปรุงข้อมูลให้เป็นไปตามข้อเท็จจริงหาก พบว่า ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายวิกฤติ (inclusion error)เพื่อให้ข้อมูลเป็นปัจจุบันมากที่สุด 

อย่างไรก็ตามการแก้ไขปัญหาความยากจนนั้นต้องแก้ไขในหลายส่วน เนื่องจากความยากจนจากการสำรวจสาเหตุความยากจนนั้นมีหลายมิติด้านรายได้ ทั้งด้านสุขภาพ ด้านความเป็นอยู่ ด้านการศึกษา โดยที่ประชุมฯมอบหมายให้แต่ละกระทรวงที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลในด้านต่างๆไปวางแผนในการแก้ปัญหาความยากจนในมิติต่างๆอย่างเป็นระบบ

หลักเกณฑ์ "เวิลด์แบงก์" รายได้เท่าไหร่ถือว่าจน

นิยามความยากจนในการพิจารณาด้านรายปัจจุบันธนาคารโลก (World Bank) ใช้เกณฑ์รายได้เป็นตัวชี้วัดโดยหากมีรายได้ต่ำว่า 2,763 บาทต่อคนต่อเดือน หรือ ทั้งปีไม่เกิน 33,156 บาทถือว่าอยู่ใต้เส้นความยากจน

ธนาคารโลก ประเมินว่า นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 คนไทยเข้าสูภาวะยากจนเพิ่มขึ้นกว่า 1.5 ล้านคน โดยเพิ่มจาก 4.3 ล้านคนในปี 2562 เพิ่มเป็น 5.8 ล้านคนในปี 2564 หลังจากเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 มายาวนานกว่า 2 ปี หลายภาคส่วนของเศรษฐกิจได้รับผลกระทบอย่ามากโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยข้อง โดยจำนวนคนจนที่เพิ่มขึ้นในจำนวนนี้ธนาคารโลกยังไม่ได้รวมการประเมินผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ที่เกิดขึ้นในจังหวัดสมุทรสาครและการระบาดในระลอกปัจจุบันที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา โดยธนาคารโลกอยู่ระหว่างเก็บข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อประเมินจำนวนคนจนในประเทศที่เกิดจากผลกระทบทางเศรษฐกิจเมื่อเกิดการแพร่ระบาดที่รุนแรงขึ้นในช่วงเดือน เม.ย. - ส.ค.ที่ผ่านมา 

สำหรับสถิติคนจนในประเทศไทยที่จัดเก็บโดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)ระยะกว่า 30 ปีที่ผ่านมาหรือนับจากปี 2531 ระบุว่า จำนวนคนจนในช่วงเวลาดังกล่าวมีแนวโน้มลดลงตามลำดับ โดยในปี 2531 มีจำนวนคนจนสูงถึง 34.1 ล้านคน และทยอยลดลงมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดในปี 2562 อยู่ที่ 4.3 ล้านคน และ คาดการณ์ว่า จะเพิ่มขึ้นราว 1.5 ล้านคนในช่วงระหว่างปี 2563-64 เนื่องจาก สถานการณ์โควิด-19 ที่ยาวนานกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ 

ทั้งนี้สิ่งที่ต้องจับตาคือจำนวน “คนเกือบจน” ซึ่งมีการสำรวจตั้งแต่ปี  2562 มีจำนวน ทั้งสิ้น 5.40 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน7.79% ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งคนกลุ่มนี้อาจตกไปเป็นกลุ่มคนจนเป็นจำนวนมาก เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 

สำหรับดัชนี SDGs ของประเทศไทยซึ่งมีมิติหนึ่งที่วัดเรื่องของการแก้ปัญหาความยากจนด้วย ในภาพรวมประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 43 จาก 165 ประเทศ ตกลงมาจากเดิมปี 2563 อยู่ในอันดับที่ 41 จาก 166 ประเทศ และคะแนนดัชนีของปีนี้ (พ.ศ.2564) อยู่ที่ 7 4.2 คะแนน ต่ำกว่าปี 2020 ที่ได้ 74.5 คะแนน