กพร.เร่งสำรวจแร่หายาก ป้อนอุตฯรถยนต์ไฟฟ้า

กพร.เร่งสำรวจแร่หายาก  ป้อนอุตฯรถยนต์ไฟฟ้า

กระแสการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าได้ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมทั้งประเทศไทยยังได้ตั้งเป้าให้เป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของภูมิภาคนี้ รวมถึงการผลิตแบตเตอรี่เพื่อตอบสนองการผลิตในประเทศ

และในปี 2569 – 2573 มีเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทั้งสิ้น 725,000 คันต่อปี ประเภทรถจักรยานยนต์ 675,000 คันต่อปี คิดเป็น 30% ของการผลิตในปี 2573

อดิทัต วะสีนนท์ รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมือง​แร่ (กพร.) เปิดเผยว่า  ในฐานะที่เป็นหน่วยงานในการเตรียมวัตถุดิบที่สำคัญในภาคอุตสาหกรรม จึงได้เตรียมการรองรับใน 2 ส่วนหลักที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของกรม คือ 1. การเตรียมแหล่งแร่ธาตุหายาก หรือ (Rare Earth) ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญที่มีมูลค่าสูงและมีปริมาณความต้องการใช้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นวัตถุดิบสำคัญต่อการผลิตอุปกรณ์สำหรับภาคอุตสาหกรรมที่มีการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง โดยเฉพาะในรถยนต์ไฟฟ้าที่มีการนำธาตุหายากมาเป็นองค์ประกอบในชิ้นส่วนต่างๆ ของรถยนต์ 

ทั้งนี้ ได้ดำเนินการสำรวจแหล่งแร่และประเมินพื้นที่ศักยภาพแร่หายากภายใต้โครงการจัดหาแหล่งวัตถุดิบเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพ รวมถึงแนวทางและวิธีการนำธาตุหายากที่มีอยู่ในแร่หายากมาใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรม ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ซึ่งจากผลการสำรวจ เบื้องต้นได้มีการกำหนดพื้นที่เป้าหมายเบื้องต้นสำหรับการสำรวจไว้ 5 พื้นที่ในเขต อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง และ อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ซึ่งหากผลการสำรวจพบว่ามีปริมาณสำรองแร่ที่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจจะได้พิจารณาผลักดันให้สามารถกำหนดเป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองในแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ต่อไป

162524665989

2. การผลักดันให้เกิดระบบการจัดการแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าใช้งานแล้วที่มีประสิทธิภาพและครบวงจรเพื่อป้องกันปัญหาขยะและมลพิษจากแบตเตอรี่ในอนาคต ซึ่งโดยทั่วไปแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าจะมีอายุการใช้งานโดยเฉลี่ย 10 ปี เมื่อแบตเตอรี่เสื่อมสภาพแล้ว จำเป็นที่จะต้องมีแนวทางการบริหารจัดการแบตเตอรี่ใช้งานแล้วในรูปแบบที่แตกต่างกันไปตามเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญ ซึ่งจะก่อให้เกิดระบบหมุนเวียนวัสดุใช้แล้วให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ ลดการปล่อยมลพิษและผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยการนำแบตเตอรี่ที่เสื่อมสภาพแล้วกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด

สำหรับ รูปแบบหลักๆ ได้แก่ การนำโมดูลและเซลล์ในแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าใช้งานแล้วที่มีระดับการเก็บประจุหรือชาร์จไฟ (State of Charge, SOC) สูงหรือมากกว่า 80% มาฟื้นฟูสภาพ และประกอบกลับเป็นอุปกรณ์กักเก็บพลังงานสำหรับใช้เป็นแบตเตอรี่เกรด 2 ที่มีราคาถูกลงสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า หรือรถไฟฟ้าขนาดเล็ก เช่น รถจักรยานยนต์ รถสามล้อ เป็นต้น

การนำโมดูลและเซลล์ในแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าใช้งานแล้วที่มีระดับ SOC ปานกลางหรือ 60-80% มาฟื้นฟูสภาพ และประกอบกลับเป็นอุปกรณ์กักเก็บพลังงานสำหรับการใช้งานในรูปแบบอื่น เช่น อาคารสถานที่ โรงงานอุตสาหกรรม สถานีชาร์จพลังงานไฟฟ้า ฟาร์มเพาะปลูก เป็นต้น และการนำโมดูลและเซลล์ในแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าใช้งานแล้วที่มีระดับ SOC ต่ำหรือน้อยกว่า 60% หรือไม่สามารถใช้งานต่อได้ เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเพื่อนำโลหะ และสารประกอบโลหะในแบตเตอรี่กลับมาใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับการผลิตแบตเตอรี่ใหม่ต่อไป

โดย กพร. จะทำการพัฒนาต้นแบบการจัดการแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าใช้งานแล้ว เพื่อนำโลหะ และสารประกอบโลหะในแบตเตอรี่กลับมาใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับการผลิตแบตเตอรี่ในประเทศไทย โดยพัฒนาเทคโนโลยีการจัดการแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าใช้งานแล้ว พร้อมพัฒนาตัวอย่างผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่ได้จากการรีไซเคิลแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าใช้งานแล้วสำหรับใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับการผลิตแบตเตอรี่ใหม่

ตลอดจนถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีรีไซเคิลแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าใช้งานแล้วสำหรับใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับการผลิตแบตเตอรี่ใหม่ ให้แก่ผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

 โดยในปีงบประมาณ 2565 กพร. ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 6.5 ล้านบาทเพื่อมาดำเนินการโครงการ flagship ในพัฒนาต้นแบบการจัดการแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าใช้งานแล้วในประเทศไทยคาดว่าโครงการนี้จะถ่ายทอดความรู้ให้ผู้ประกอบการนำไปสร้างอุตสาหกรรมรีไซเคิลแบตเตอรี่ได้ไม่ต่ำกว่า 200 ราย ก่อให้เกิดการสร้างแบตเตอรี่ต้นแบบสำหรับใช้ในรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก และแบตเตอรี่ต้นแบบสำหรับใช้ในอาคารบ้านเรือนหรือสำนักงานจากแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าใช้งานแล้ว และสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่ได้จากการรีไซเคิลแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าใช้งานแล้วสำหรับใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับการผลิตแบตเตอรี่ใหม่ให้เกิดขึ้นภายในประเทศ รวมทั้งเกิดการลงทุนในธุรกิจใหม่จากแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าใช้งานแล้ว และการรีไซเคิลแบตเตอรี่เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในประเทศไม่น้อยกว่า 150 ล้านบาท หรือมีอัตราการนำแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าใช้งานแล้วไปใช้ประโยชน์ในประเทศ เพิ่มขึ้น 5% ต่อปี

จากการดำเนินการทั้ง 2 ส่วนดังกล่าว จะทำให้ทราบถึงศักยภาพของแหล่งแร่หายากซึ่งเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตแบตเตอรี่ พร้อมสำหรับารทำเหมืองเพื่อนำแร่ขึ้นมาป้อนเป็นวัตถุดิบให้กับภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต และเกิดระบบการบริหารจัดการแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าใช้งานแล้วในประเทศอย่างครบวงจรและมีความเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย รวมทั้งผลักดันให้เกิดธุรกิจในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากปัญหาขยะและมลพิษจากแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าใช้งานแล้ว ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน