กฟผ.จ่อชงรัฐขยายลงทุนโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อนเป็น5พันเมกะ

กฟผ.จ่อชงรัฐขยายลงทุนโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อนเป็น5พันเมกะ

กฟผ.เตรียมเสนอกระทรวงพลังงาน ขยายลงทุนโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำในเขื่อน จาก 2,725 เมกะวัตต์ เป็น 5,000 เมกะวัตต์ บรรจุลงในแผนพีดีพีฉบับใหม่(PDP 2022) พร้อมดันเปิดประมูลเขื่อนอุบลรัตน์ ขนาด 24 เมกะวัตต์ ปลายปีนี้

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.เตรียมเสนอกระทรวงพลังงาน พิจารณาขายกำลังการผลิตไฟฟ้าในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ (Floating Solar) หรือ โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำในเขื่อนของ กฟผ.จากปัจจุบันตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 1(PDP2018 Rev1.) กำหนดให้ลงทุน จำนวน 9 แห่ง 16 โครงการ กำลังผลิตไฟฟ้ารวม 2,725 เมกะวัตต์ เพิ่มเป็นประมาณ 5,000 เมกะวัตต์ โดยให้บรรจุลงในแผน PDP 2022 ที่ทางกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการจัดทำแผนฯ

                ทั้งนี้ เนื่องจากโครงการโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำในเขื่อนของ กฟผ.ที่ปัจจุบันได้ดำเนินการเปิดประมูลหาผู้รับเหมาติดตั้งโครงการ(EPC) โครงการแรกที่เขื่อนสิรินธร ขนาดกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ (MW) พบว่า มีต้นทุนผลิตไฟฟ้าต่ำมาก เฉลี่ยไม่เกิน 1.5 บาทต่อหน่วย และมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์(COD) ภายในเดือน ก.ย.นี้ ถือเป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อประเทศเป็นอย่างมาก

162496633375

 เพราะนอกจากจะได้ค่าไฟฟ้าในอัตราต่ำแล้ว ยังเป็นการใช้ประโยชน์จากระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานจากพื้นที่โรงไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อนที่มีความพร้อมในการลงทุนสายส่งและสถานีไฟฟ้าย่อยอยู่แล้ว อีกทั้งทำให้การผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนได้ใช้งานอย่างเกิดประสิทธิภาพสูงสุดโดยช่วงกลางวันเป็นการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ฯและกลางคืนผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ ทำให้ประเทศมีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ และไม่ต้องลุกพื้นที่ป่าหรือพื้นที่ทางการเกษตรเพื่อทำโครงการผลิตกระแสไฟฟ้า

อย่างไรก็ตาม กฟผ.มีความพร้อมที่จะขยายกำลังผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำในเขื่อนของ กฟผ.ที่มีอยู่แล้วทั้ง 9 เขื่อน เพิ่มเป็น 5,000 เมกะวัตต์ โดยการใช้พื้นที่ติดตั้งจาก 1 % เป็น 10 %ของพื้นที่เขื่อน เช่น เขื่อนสิรินธร ติดตั้ง 45 เมกะวัตต์คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 1% หากเพิ่มเป็น 10%ของพื้นที่ ก็จะผลิตได้ถึง 450 เมกะวัตต์เป็นต้น

                จริงๆแล้ว กฟผ.เรามีศักยภาพที่จะทำได้มากกว่า 1 หมื่นเมกะวัตต์ แต่ในเบื้องต้น ได้ปรึกษากับทางกระทรวงพลังงานแล้ว พบว่า มีความเป็นไปได้ที่จะเร่งโซลาร์ลอยน้ำ ขนาด 2,725 เมกะวัตต์ให้เร็วขึ้น จากปัจจุบัน กำหนดดำเนินการถึงปี 2580 อาจร่นระยะเวลาเหลือ 10 ปี โดย 5 ปีแรกจะขยายในส่วนที่ไม่ติดปัญหาใดๆ แต่ส่วนที่ติดปัญหาเรื่องการขออนุญาตพื้นที่ป่าไม้ ก็อาจต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี”

 

ทั้งนี้ โครงการโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำในเขื่อนของ กฟผ. ขนาดกำลังการผลิต 2,725 เมกะวัตต์ มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 9 หมื่นล้านบาท หากขยายเพิ่มเป็น 5,000 เมกะวัตต์ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนอยู่ที่ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท หรือไม่เกิน 2 แสนล้านบาท

 ในปีนี้ กฟผ.ยังอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมกระบวนการเปิดประมูลโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ หรือ “โครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น (Hydro-floating Solar Hybrid )” ขนาด 24 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเปิดขายเอกสารเชิญชวน(TOR) และเปิดประมูลได้ภายในปลายปีนี้ หรือ ช่วงไตรมาส 1ปี2565 เบื้องต้นมูลค่าโครงการไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นโครงการลงทุนที่สำคัญที่จะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ

                ส่วนราคากลางในการประมูลจะทำได้ในราคาถูกเหมือนกับโครงการแรกที่เขื่อนสิรินธรหรือไม่นั้น โดยปกติแล้วตามหลักเกณฑ์ฯจัดซื้อจัดจ้างของกฟผ.จะต้องยึดฐานราคากลางเป็นตัวตั้ง และจากโครงการแรกที่เปิดประมูลได้ก็ผ่านมา 2-3 ปีแล้วก็เชื่อว่า ต้นทุนต่างๆโดยเฉพาะราคาแผงโซลาร์ จะมีแนวโน้มถูกลง ดังนั้น ก็เชื่อว่าการเปิดประมูลโครงการต่อไปจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศอย่างแน่นอน