'อรรถพล' ฉายภาพ ปตท.ปี64 'รายได้ฟื้น' เร่งเครื่อง EV ครบวงจร

'อรรถพล' ฉายภาพ ปตท.ปี64 'รายได้ฟื้น' เร่งเครื่อง EV ครบวงจร

ปตท.เข้มภาคการผลิตปิโตรเคมีและโรงกลั่น ชี้เครื่องจักรสำคัญพยุงส่งออก รับอานิสงส์เศรษฐกิจโลกฟื้น ลั่นกลุ่ม ปตท.มีศักยภาพพร้อมเดินหน้าลงทุนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หนุนผลประกอบการปี2564 ดีกว่าปี 2563 แม้โควิด-19 ระบาด

การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจพลังงานมาตั้งแต่ปี 2563 ในขณะที่ปี 2564 มีการระบาดระลอก 2-3 ในประเทศไทย และการระบาดยังไม่มีแนวโน้มลดลง แต่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ยังมีความมั่นใจว่า ผลดำเนินงานปีนี้จะดีกว่าปีที่แล้ว รวมถึงพร้อมที่จะเดินหน้าลงทุน New S-Curve

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท.คาดว่าผลประกอบการทั้งปี 2564 จะดีขึ้นจากปี 2563 เพราะหากดูจากผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 ปี 2564 ก็สามารถทำกำไรสุทธิอยู่ที่ 32,588 ล้านบาท เกือบใกล้เคียงปี 2563 ที่มีกำไรสุทธิ อยู่ที่ 37,765.80 ล้านบาท นอกจากนี้สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อน โดยปีนี้คาดว่าดูไบจะอยู่ในระดับ 60-65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ภายใต้สมมติฐานโอเปกพลัสต้องหาข้อสรุปร่วมกันได้ 

ขณะที่ธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่นได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้สามารถส่งออกสินค้าได้เพิ่มขึ้นและราคาผลิตภัณฑ์ปรับสูงขึ้นจากปีก่อน อีกทั้งกลุ่ม ปตท.สามารถบริหารจัดการการดำเนินงาน (Operation) ทำได้อย่างดี เดินเครื่องการผลิตได้เต็มประสิทธิภาพ แม้ว่าจะดำเนินการภายใต้สถานการณ์โควิด-19 และปีนี้ตั้งเป้าหมายจะเดินเครื่องการผลิตสูงกว่าปีก่อน โดยคาดว่าค่าการกลั่น (GRM) ทั้งปีนี้ จะอยู่ที่ระดับ 2.0-2.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สูงขึ้นจากปีก่อน ที่อยู่ต่ำกว่าระดับ 1 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล 

162218691480

ดังนั้น กลุ่ม ปตท.มีศักยภาพที่จะขยายการลงทุนไปข้างหน้า โดยในส่วนของ ปตท. และบริษัทย่อยที่ ปตท.ถือหุ้น 100% ได้จัดเตรียมงบประมาณลงทุนช่วง 5 ปี (ปี2564-2568) อยู่ที่ 103,267 ล้านบาท ไม่รวมงบ Provisional อีก 332,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการลงทุนในอนาคต 

ขณะที่ กลุ่ม ปตท.จัดเตรียมงบลงทุน 5 ปี อยู่ที่ 851,000 ล้านบาท โดยใน ปี 2564 ปตท.จะเดินโครงการลงทุนตามแผนที่วางไว้ ภายใต้งบประมาณกว่า 70,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น โครงการพลังงานสะอาด (CFP) ของไทยออยล์ ,โครงการมาบตาพุด เรโทฟิท ของพีทีทีจีซี และโครงการท่อส่งก๊าซเส้นที่ 5 ของ ปตท. 

สำหรับโครงการเหล่านี้จะก่อให้เกิดการจ้างงานในประเทศ ประมาณ 20,000 อัตรา ส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ส่วนที่เป็นการลงทุนใหม่จะอยู่ในช่วงของการก่อสร้างยังไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เร็ว แต่ที่ทำได้ทันที ก็เช่น การลงทุนของ โออาร์ ที่มีแผนขยายการก่อสร้างสถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น ซึ่งปีนี้จะดำเนินการ 100 แห่ง และขยายร้านกาแฟ อเมซอน อีก 500 สาขา ก็จะเดินหน้าตามแผนที่วางไว้และมีเม็ดเงินลงทุนในส่วนนี้ได้กระตุ้นเศรษฐกิจ

162218695414

รวมทั้งไม่นานมานี้ ปตท.ได้จัดตั้งบริษัท ออน-ไอออน โซลูชั่นส์ จำกัด ทุนจดทะเบียน 30 ล้านบาท เพื่อดำเนินการธุรกิจด้านยานยนต์ไฟฟ้า (EV Car) ซึ่งขณะนี้ ปตท.อยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อร่วมลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ EV แบบครบวงจร (EV value chain) เช่น การจัดตั้งโรงงานผลิตรถ EV ทั้งรถ 2 ล้อ รถ 4 ล้อ และรถบรรทุกรวมถึงสถานีอัดประจุไฟฟ้า หรือ EV Charger คาดว่าจะมีความชัดเจนในรูปแบบการลงทุนได้ในระยะต่อไป 

ขณะเดียวกัน ปตท.เตรียมเปิดตัวแพลตฟอร์มที่เกี่ยวข้องกับ EV ภายใน 2-3 เดือนนี้ หรือ ภายในไตรมาส 3 ซึ่งในส่วนของแพลตฟอร์ม ปตท.จะเป็นผู้ดำเนินการเอง เบื้องต้นจะทำตลาดในประเทศไทยและระยะต่อไปอาจออกไปต่างประเทศ 

162218700072

“พันธมิตร EV ตอนนี้เราคุยอยู่หลายราย บางรายก็มี MOU กัน แต่ยังเป็นความลับทางธุรกิจไม่สามารถเปิดเผยได้ และหากถึงขึ้นจัดตั้งโรงงานผลิตรถ เราก็คงต้องมองการทำตลาดระดับภูมิภาคด้วย ซึ่ง ปตท.เราโฟกัสในธุรกิจ EV แน่นอน และตอนนี้ก็อยู่ระหว่างติดตามนโยบายของรัฐบาลที่จะออกมาเป็นระยะ” 

ส่วนเรื่องของการผลิตแบตเตอรี่ เบื้องต้น บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ปตท.ได้ดำเนินการอยู่แล้ว โดยจัดทำโครงการนำร่อง เทคโนโลยี Semi-Solid ของ 24M มีแผนขยายเชิงพาณิชย์เป็น 1 กิกะวัตต์ในอนาคต และยังร่วมมือกับจีน จัดต้องโรงงาน ผลิตแบตเตอรี่เทคโนโลยีบริษัท 24M กำลังการผลิต 1 กิกะวัตต์ คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปลายปีนี้ เพื่อป้อนให้กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศจีน เช่น Chery New Energy Automobile

นอกจากนี้ โออาร์ ก็ยังทำหน้าที่ขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charger) ในสถานีบริการน้ำมันพีทีที สเตชั่น แต่หากอยู่นอกสถานีฯ ก็จะเป็น ออน-ไอออน เป็นผู้ดำเนินการ

162218703172

ส่วนของแผนรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ในประเทศไทยได้ดำเนินการต่อเนื่อง ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้ ปตท. โดยบริษัทลูกในเครือ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ซึ่งร่วมทุนกับ Lotus บริษัทยาไต้หวัน เตรียมนำเข้า ยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) ซึ่งเป็นยาสำหรับใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงแล้วในหลายประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐ สหภาพยุโรป (EU) อังกฤษ ออสเตรเลีย อินเดีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยจะนำเข้ามา 2,000 ขวด เพื่อบริจาคให้รัฐบาลไทยไปบริหารจัดการในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19

ปัจจุบันประเทศไทยมีการนำเข้ามาแล้วประมาณ 4,000 ขวด และมีความจำเป็นต้องใช้มากยิ่งขึ้น เพราะปัจจุบันในส่วนยาต้านไวรัสเพื่อใช้รักษาอาการของผู้ป่วยโควิด-19 ได้แก่ ฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) พบว่า ผู้ใช้บางส่วน เช่น หญิงตั้งครรภ์ มีอาการแพ้ ดังนั้น ก็เชื่อว่า ยาเรมเดซิเวียร์ จะมาช่วยคนไทยผู้ป่วยโควิด-19 หายจากโรค ลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตได้เพิ่มขึ้น

ในขณะที่การใช้วัคซีนทางเลือก ซึ่ง ปตท.ได้ลงนามกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานตัวแทนของรัฐบาลในการจัดหาและนำเข้าวัคซีน เพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่ประชาชน ยังอยู่ระหว่างหารือในรายละเอียดทั้งปริมาณการนำเข้า และสัดส่วนที่จะจัดสรรให้กับ ปตท. โดย ปตท.จะนำไปใช้สำหรับพนักงานของกลุ่ม ปตท. ซึ่งก็จะช่วยลดภาระด้านงบประมาณในการจัดหาวัคซีนของภาครัฐได้ส่วนหนึ่ง และเป็นการช่วยกระจายวัคซีนให้แก่ประชาชน 

ขณะเดียวกัน ปตท.ก็พร้อมร่วมกับทุกหน่วยงานในการจัดหาพื้นที่กระจายจุดฉีดวัคซีน นอกเหนือจากปั๊มน้ำมัน พีทีที สเตชั่น พระราม 2 ก็พร้อมจะใช้พื้นที่อื่นของกลุ่ม ปตท.ไม่ว่าจะเป็น จังหวัดระยอง และจังหวัดอื่นในการเป็นพื้นที่กระจายวัคซีนให้ทั่วถึง

อย่างไรก็ตาม การช่วยเหลือโควิด–19 ระลอกที่ 3 กลุ่ม ปตท.ได้ใช้งบประมาณไปแล้ว เกือบ 200 ล้านบาท ทั้งการบริจาค เครื่องช่วยหายใจไปแล้ว กว่า 300 เครื่องแก่โรงพยาบาล 70 แห่ง งบประมาณจัดซื้อออกซิเจน ถุงยังชีพและอื่นๆ

“โครงการลมหายใจเดียวกัน ของ ปตท. ยังมองถึง ลมหายใจเศรษฐกิจด้วย คือ ต้องไม่ทำให้โรงงานสะดุด เพราะเป็นเครื่องจักรเดียวที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในเวลานี้”