'ป้ายโฆษณาดิจิทัล' กับอัตรา 'ภาษีป้าย' แบบใหม่

'ป้ายโฆษณาดิจิทัล' กับอัตรา 'ภาษีป้าย' แบบใหม่

เกาะติดประเด็น "อัตราภาษีป้าย" แบบใหม่ ที่ล่าสุดมีการอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ ... (พ.ศ. ...) ออกมา แม้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงหลักการในการคำนวณภาษีป้ายแบบเดิม แต่ปรับเพิ่มอัตราภาษีขึ้น โดยเฉพาะป้ายโฆษณาดิจิทัล ที่ถูกกำหนดด้วยเวลาแสดงผล

ในปัจจุบันไม่ว่าคุณจะหันไปทางใด สิ่งที่พบเห็นได้ง่ายที่สุดก็คือ “ป้าย” โดยเฉพาะป้ายโฆษณาดิจิทัลนั้นถูกพบเห็นได้บ่อยครั้ง เพราะมีนวัตกรรมที่สามารถดึงดูดความสนใจผู้บริโภคได้ดี อย่างไรก็ตาม ป้ายเหล่านี้อาจจะต้องเสีย “ภาษีป้าย” ในอัตราภาษีป้ายแบบใหม่

“ภาษีป้าย” เป็นภาษีที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทยที่ไม่มีในชาติใดๆ เพราะใช้ตัวอักษรไทยมามีส่วนสำคัญในการกำหนดอัตรา โดยริเริ่มจัดเก็บมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม เนื่องจากต้องการสนับสนุนให้คงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ไทย โดยเฉพาะทางด้านภาษาไทย ตามนโยบายชาตินิยม

ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปีที่บังคับใช้พระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510 การคิดอัตราภาษีป้ายจะพิจารณาจากพื้นที่ป้าย โดยใช้วิธีคิดแบบ 2 มิติคือ ความกว้างคูณความยาว และกำหนดชนิดป้ายเป็นป้ายที่มีขอบเขตและที่ไม่มีขอบเขต ซึ่งหากไม่มีขอบเขตก็ต้องคิดความกว้างหรือความยาวของตัวอักษรหรือรูปภาพที่อยู่ริมสุดในการคิดพื้นที่

แต่นวัตกรรมของป้าย โดยเฉพาะป้ายโฆษณาได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก สำหรับป้ายโฆษณาดิจิทัลนั้นเป็นป้ายที่มีลักษณะสื่อทางจอภาพรูปแบบใหม่ที่นำมาแทนที่ป้ายประกาศแบบ 2 มิติในสมัยก่อน เช่น ป้ายดิจิทัลกลางแจ้ง จอแสดงผลป้ายดิจิทัล LCD คีออสก์ ป้ายโฆษณาดิจิทัล ป้ายดิจิทัลระบบสัมผัสหน้าจอ ป้ายดิจิทัลความสว่างสูง Stand Alone Digital Signage เป็นต้น

นวัตกรรมป้ายโฆษณาดิจิทัลเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่พัฒนามาจากแนวคิดแบบเดียวกับสมาร์ทโฟน และสามารถใช้งานโต้ตอบกับอุปกรณ์สมาร์ทโฟนได้ โดยสามารถแสดงผลได้หลายภาพหลายตัวอักษร รวมทั้งแสง สีและเสียง เพื่อให้เกิดความสะดุดตา ดึงดูดความสนใจผู้บริโภค นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาให้สามารถจัดการกับความท้าทายจากสิ่งแวดล้อมต่างๆ รวมไปถึงอุณหภูมิ ความชื้น และความร้อนจากแสงอาทิตย์ได้อีกด้วย

จากที่กล่าวมา ป้ายโฆษณาดิจิทัลเหล่านี้เป็น “ป้าย” ที่ถูกจัดเก็บภาษีตาม พ.ร.บ.ภาษีป้ายฯ เพราะเป็นป้ายแสดงชื่อ ยี่ห้อ หรือเครื่องหมายที่ใช้โฆษณาการค้าหรือกิจการอื่นเพื่อหารายได้ และเข้าข่ายตามบัญชีอัตราภาษีป้ายประเภทที่ 4 คือป้ายซึ่งมีข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพที่เคลื่อนที่ หรือเปลี่ยนเป็นข้อความ เครื่องหมายหรือภาพอื่นได้ โดยเครื่องจักรกลหรือโดยวิธีใดๆ ซึ่งกฎหมายกำหนดให้คิดอัตราภาษีป้ายประเภทนี้ตามจำนวนข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพ หรือตามระยะเวลาที่ข้อความเครื่องหมาย หรือภาพปรากฏอยู่ในป้าย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมายังไม่มีการกำหนดวิธีคิดคำนวณภาษีป้ายจากป้ายโฆษณาดิจิทัลที่ชัดเจน จึงคิดอัตราภาษีตามบัญชีอัตราภาษีป้ายแบบ 2 มิติเช่นเดิม ยกตัวอย่างเช่น ป้ายไตรวิชั่นที่ใช้เครื่องจักรกลเปลี่ยนภาพได้ 3 ภาพ จะคิดภาษีป้ายเป็น 3 ป้าย ทั้งๆ ที่ตามโครงสร้างป้ายมีเพียงป้ายเดียว เป็นต้น

หรือป้ายโฆษณาดิจิทัลจอแอลซีดี เมื่อไม่มีกำหนดวิธีคำนวณที่ชัดเจน จึงไม่อาจคำนวณจากความเปลี่ยนแปลงของภาพที่แสดงผลออกมาได้โดยทั่วไป ดังนั้น ในทางปฏิบัติก็จะคิดจากอัตราสูงสุดที่จัดเก็บจากป้ายโฆษณาทั่วไปในปัจจุบัน คือ อัตรา 40 บาทต่อ 500 ตารางเซนติเมตร (ตร.ซม.) ซึ่งไม่แตกต่างจากป้ายแบบเก่าแต่อย่างใด

ดังนั้น เมื่อวันที่ 14 ก.ค.2563 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ ... (พ.ศ. ...) ออกตามความใน พ.ร.บ.ภาษีป้าย พ.ศ.2510 ซึ่งเป็นการแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวง ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2535) ออกตามความใน พ.ร.บ.ภาษีป้าย พ.ศ.2510 โดยปรับปรุงอัตราภาษีป้ายให้เพิ่มขึ้น และกำหนดอัตราภาษีป้ายขึ้นใหม่สำหรับป้ายที่ใช้เครื่องจักรกล ป้ายอักษรวิ่ง และป้ายจออิเล็กทรอนิกส์ ที่มีการโฆษณามากกว่า 1 ภาพใน 60 วินาที ซึ่งจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2564 จนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2566 (ดูรายละเอียดได้จาก www.thaigov.go.th/news/contents/details/33356)

จะเห็นได้ว่าการกำหนดอัตราภาษีป้ายตามร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ อาจไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงหลักการในเรื่องของการคำนวณภาษีป้ายแต่อย่างใด เพียงแต่มีการปรับเพิ่มอัตราภาษีขึ้น และได้มีการกำหนดวิธีคิดคำนวณภาษีป้ายจากป้ายโฆษณาดิจิทัล โดยใช้วิธีการในเรื่อง “กำหนดเวลา” มาเป็นเกณฑ์สำหรับการกำหนดอัตรา ซึ่งเป็นแนวคิดใหม่ที่แตกต่างจากเดิม

นอกจากนี้ ในประเด็นการกำหนดอัตราภาษีป้าย ผู้เขียนยังมีความเห็นเพิ่มเติมว่าควรแก้ไขปรับปรุงบัญชีอัตราภาษีป้ายใหม่ทั้งหมดให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีป้ายใหม่ๆ รวมถึงการจัดเก็บรายได้เกี่ยวกับป้าย และหากต้องการคงเรื่องเอกลักษณ์ภาษาไทยไว้ ก็อาจกำหนดอัตราภาษีให้ต่ำกว่าได้แต่ไม่ควรแตกต่างกันกับการใช้อักษรต่างประเทศมากจนเกินไป ดังเช่นปัจจุบัน (อักษรไทยล้วน 3 บาท ต่อ 500 ตร.ซม. หากเป็นอักษรไทยปนอักษรต่างประเทศ อัตราจะเท่ากับ 20 บาทต่อ 500 ตร.ซม. แต่ถ้าอักษรไทยอยู่ต่ำกว่าอักษรต่างประเทศ หรือเป็นอักษรต่างประเทศล้วนจะเท่ากับ 40 บาทต่อ 500 ตร.ซม.ทันที)

เพราะความแตกต่างของอัตราภาษีหลายเท่าตัวนี้ เป็นเหตุจูงใจให้ผู้เสียภาษีส่วนใหญ่ทำป้ายโฆษณาที่มีอักษรไทยขนาดเล็กจนแทบมองไม่เห็นอยู่ข้างบนสุดของป้ายนั้นๆ และยังนำมาสู่การตั้งคำถามว่าเช่นนี้จะถือเป็นการหลีกเลี่ยงภาษีหรือไม่?

อีกทั้งในการจะเพิ่มอัตราภาษีป้ายขึ้นภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำทั่วโลกและสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลายเสียทีเดียว จะส่งผลกระทบต่อผู้เสียภาษีมากน้อยเพียงใด

สุดท้ายนี้ คงต้องรอดูกันต่อไปว่าหากมีการบังคับใช้ตามร่างกฎกระทรวงฉบับนี้จริง ผู้เสียภาษีจะปรับตัวต่อการปรับอัตราภาษีป้ายใหม่ที่เพิ่มขึ้นนี้ในทิศทางใด