DEF รู้จริง ทำจริงในโลกธุรกิจดิจิทัล

DEF รู้จริง ทำจริงในโลกธุรกิจดิจิทัล

เราไม่ได้สอนให้ทำดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง แต่สอนทำ อีคอมเมิร์ซ ทำอย่างไรจะทำให้ธุรกิจออนไลน์เกิดขึ้นได้จริง

เวลาเพียง 2-3 ปีเท่านั้นที่แบรนด์บาร์บีคิวพลาซ่ายกระดับจากร้านอาหารที่หลายคนคุ้นเคยและพบอยู่บ่อยครั้งเมื่อเดินชอปปิ้งในห้างสรรพสินค้ามาโลดแล่นอยู่บนโลกออนไลน์ได้อย่างสวยงาม การันตีจากยอดวิวและรายชื่อที่นำเสนอเข้าชิงรางวัลในเวทีต่างๆ

หลายแคมเปญได้รับการกล่าวถึงเป็นอย่างมากในโลกออนไลน์ และแน่นอนว่าแรง ตอบรับเหล่านี้จะตีกลับไปที่แบรนด์สินค้าและยอดขาย ในที่สุด

ตัวอย่างของแคมเปญโดนๆ ก็เช่น “โปรทีน เนื้อเน้นๆ โปรตีนล้วนๆ เพื่อก๊วนบ้าพลัง”, แคมเปญโปรโมชั่นอาหารชุดล่าไข่บาร์บีกอน, แคมเปญโปรโมชั่นอาหารชุดไลน์สติ๊กก้อน การเปิดตัวบาร์บีกอนไลน์สติ๊กเกอร์ในรูปแบบ LINE Must Buy ครั้งแรกในประเทศไทย ,“ทำมื้อนี้ให้ดีที่สุด” และไวรัลคลิป “พนักงานร้านอาหารก็มีแม่” หรือ “The Waiters’ Mom”

สิ่งที่ทำให้แบรนด์นี้สามารถก้าวข้ามจากออฟไลน์สู่ออนไลน์ได้อย่างเต็มตัวนั้น บุณย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แบรนด์บาร์บีคิวพลาซ่า บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด บอกว่ามันคือการเปิดใจ และจริงใจกับทุกเรื่องที่ทำ

“เปิดรับในสิ่งใหม่ๆ ที่ยังไม่รู้แล้วกล้าตัดสินใจที่จะทำมัน อาจพลาดบ้าง แต่มองเป็นการเรียนรู้ในสิ่งใหม่ การทำงานบางครั้งอาจล้มแรงๆ บ้าง แต่หลังจากนั้นการเดินของเราจะระมัดระวังมากขึ้น ที่สำคัญคือ เราจะไม่หยุดคิด และแก้ปัญหา”

การเปิดใจรับสิ่งใหม่ๆ นับเป็นทัศนคติและมุมมองการทำงาน รวมถึงการใช้ชีวิต ซึ่งก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ได้เข้าไปเรียนในหลักสูตร ABC มหาวิทยาลัยศรีปทุม (สถาบันพัฒนาความคิดสร้างสรรค์เชิงธุรกิจ : Academy of Business Creativity) รุ่นที่ 4 โดยหนึ่งในเพื่อนร่วมรุ่นก็คือ ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการตลาดดอทคอม TARAD.com

“ระหว่างเรียนได้มีการพูดคุยในสิ่งที่ตรงกันถึงการทำหลักสูตรที่อยากจะทำ สุดท้ายก็ได้เป็น DEF ที่เปิดสอนมาแล้ว 1รุ่น และกำลังเตรียมเปิดในรุ่นที่ 2”

DEF (Digital Edge Fusion) เป็นหลักสูตรที่ที่มุ่งเน้นการนำดิจิตัลมาใช้ประโยชน์ ทั้งในระดับธุรกิจ ชุมชน สังคมและประเทศ โดย บุณย์ญานุช รับหน้าที่เป็น ผู้อำนวยการหลักสูตรพัฒนาการใช้สื่อดิจิทัลเชิงสร้างสรรค์ ส่วน ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ Director ทำงานร่วมกันเป็นทีม 

แก่นหลักๆ อยู่ที่การพัฒนาให้เกิด 4D นั่นคือ

 “รู้ดี” กับเนื้อหาในหลักสูตรตลอดการเรียน 20 สัปดาห์ ในทุกวันพฤหัสบ่าย ถึง 4 ทุ่ม กับความรู้ที่จำเป็นสำหรับการทำธุรกิจออนไลน์ เช่น การทำธุรกิจ กฎหมายออนไลน์ โซเชียล คอมเมิร์ซ เป็นต้น ผ่านวิทยากรที่มีประสบการณ์ อาทิ กรณ์ จาติกวณิช ให้ความรู้ทางด้านฟินเทค , บอย-ชีวิน โกสิยพงษ์ จะพูดเรื่องการ Transformation ของธุรกิจเพลง, ชานนท์ เรืองกฤตยา จากอนันดาฯ ถ่ายทอดมุมมองการทำงานกับสตาร์ทอัพ เป็นต้น

หากมองในภาพรวม สัดส่วนเนื้อหาทางด้านดิจิทัลจะเป็น 60% และอีก 40% ทางด้านแบรนดิ้ง

ตัวอย่างเนื้อหาในหลักสูตร ได้แก่ การเรียนรู้เรือ่งการออกแบบและสร้างเว็บไซต์ การทำ SEO ไปจนถึงการถ่ายภาพสินค้าอย่างไรให้น่าสนใจและน่าซื้อ โดยจะเป็นการเรียนทั้งทฤษฎีและการฝึกทำจริง ด้วยการนำสิ่งที่เรียนรู้มาทำการตลาดให้กับสินค้า และตั้งเป้าหมายถึงรายได้จากการขายสินค้านั้น

“โอกาสดี” การได้เพื่อนใหม่ๆ ต่างวงการ โดยในห้องจะเปิดรับผู้เรียนได้ 120 คน รวมถึงโอกาสในการได้ไปดูงานที่เฟซบุ๊คและกูเกิล ประเทศสิงคโปร์

“สังคมดี” การได้ใช้ความรู้ความสามารถด้านการตลาดและสร้างแบรนด์ไปช่วยเหลือชุมชน โดยหนึ่งในโจทย์ที่หลักสูตรมีให้คือการ สร้างแบรนด์และทำการตลาดให้กับสินค้าโอท็อป

“ในรุ่นที่ 1 ได้มีโอกาสไปช่วยทำการตลาดละขายสินคาให้กับกลุ่มผู้ประกอบการในจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งสร้างยอดขายให้กับสินค้าได้เป็นอย่างดี

ส่วนในรุ่นที่ 2 อยู่ระหว่างการคัดเลือกว่าจะเป็นที่ใด”

นอกจากที่กล่าวมาแล้ว D ตัวสุดท้ายก็คือ “มันส์ดี” ด้วยบรรยากาศการเรียนที่เน้นความคิดสร้างสรรค์ และการถ่ายทอดประสบการณ์ รวมถึงมุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับการตลาดและดิจิทัล

“ส่วนตัวมองว่า หลักสูตรนี้มีจุดเด่นที่การได้ลงมือทำจริง และการเรียนดิจิทัลภาคสนาม ที่จะช่วยการเรียนรู้ และสามารถนำไปปรับใช้กับแต่ละธุรกจิในการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลในการทำธุรกิจ เช่น การให้โจทย์ให้แต่ละคนไปทำ Viral Clip ในเวลาเพียง 36 ชั่วโมง เพื่อหาว่าใครสามารถนำเสนอ และดึงยอดวิวได้เยอะที่สุด"

นอกจากเนื้อหา และรูปแบบการเรียนแล้ว อีกเสน่ห์ของโปรแกรมนี้อยู่ที่ “ความหลากหลาย” ในการเลือกผู้ที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชั้นเรียน

“ต่อหนึ่งรุ่นจะมีความหลากหลายอย่างมาก ตัวอย่างจากรุ่นที่ 1 อายุที่มากสุดของผู้มาเรียนอยู่ที่ 65 ปี ถัดมาเป็นความหลากหลายของสาขาอาชีพ ตั้งแต่นายตำรวจไปจนถึงผู้บริหารองค์กร และเจ้าของธุรกิจ”

อย่างไรก็ดี เพราะโลกออนไลน์เป็นสิ่งใหม่ และยังมีคนอยู่อีกมากที่ไม่อยากเผชิญหน้าสักเท่าไหร่ บุณย์ญานุช บอกถึงประสบการณ์ของตัวเองในการทำงานด้านบริหาร “ยิ่งโต ยิ่งไม่รู้ว่าตัวเองรู้แค่ไหน ในโลกการทำงาน 

ตำแหน่งที่ใหญ่อาจมีคนเออออ กับเราเยอะ แต่เมื่อได้เปิดใจ และมีโอกาสเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ยิ่งทำให้เข้าใจอะไรมากขึ้น"

จากรุ่นที่ 1 ที่จบไปมาสู่รุ่นที่ 2 ที่เตรียมเปิดสอนในเดือนพฤศจิกายน 2560 ในบทบาทของผู้อำนวยการหลักสูตร บุณย์ญานุช ย้ำว่าส่ิ่งที่ผู้เรียนจะได้รับกลับไปภายหลังจากเรียนจบ นั่นคือ ทำอย่างไรจะทำให้ธุรกิจออนไลน์เกิดขึ้นได้จริง

แน่นอนว่า ความสำเร็จ ย่อมไม่ใช่สูตรสำเร็จที่ตายตัว แต่ความรู้ ประสบการณ์ที่ได้รับการถ่ายทอด และมุมมองการทำงานด้านดิจิทัลจะสามาาถนำไปปรับใช้ได้จริงในการทำงานและการทำธุรกิจ

ที่สำคัญนอกเหนือจากความรู้และเพื่อนใหม่แล้ว ยังนำเอาความรู้นั้นไปช่วยสังคมได้ด้วย 

“จากที่เคยอยู่แต่ในโลกธุรกิจ เราทำงานเป็นประโยชน์กับองค์กร พอได้เข้าไปอยู่ในโลกการศึกษาทำให้รู้เลยว่าเราเป็นประโยชน์กับทั้งองค์กรและสังคม รู้สึกได้เลยว่าตัวเองมีคุณค่ามากขึ้น”