ไทย-ลาวจับมือทำยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานระยะยาว

ไทย-ลาวจับมือทำยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานระยะยาว

"สมคิด" เผย "ไทย-ลาว" เห็นชอบจัดทำแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน พร้อมผลักดันการค้า 10,000 ล้านดอลลาร์ใน 5 ปี

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างนำคณะทีมเศรษฐกิจไทย ประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เดินทางเยือน สปป.ลาว อย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 23-25 พฤษภาคม นครหลวงเวียงจันทน์ ว่า นายกรัฐมนตรีของไทยให้ความสำคัญความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการพัฒนาการค้าและการลงทุนร่วมกันในกลุ่ม CLMVT จึงเดินทางมาเชื่อมความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนร่วมกับ สปป.ลาว เพื่อเชื่อมต่อไปยังจีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย เนื่องจากที่ผ่านมานักลงทุนเวียดนาม จีน เข้ามาลงทุนใน สปป.ลาวจำวนมากแล้ว จึงต้องการร่วมมือกับไทยเพิ่ม หวังผลักดันการค้าเพิ่มจาก 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในอีก 5 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ เห็นชอบร่วมกันจัดทำแผนยุทธศาสตร์ระยะยาว (Master Plan) ทั้ง 2 ประเทศร่วมกัน กำหนดให้เป็น 2ประเทศ 1 จุดหมาย พัฒนาด้านคมนาคมขนส่ง ตลาดทุน ท่องเที่ยว การส่งเสริมเอสเอ็มอี จึงมอบหมายให้กระทรวงด้านเศรษฐกิจทั้ง 2 ประเทศหารือ เพื่อกำหนดแผนยุทธศาสตร์ร่วมกัน เพื่อส่งเสริมให้ สปป.ลาวจัดทำศูนย์ให้บริการ One Stop service สำหรับนักลงทุนต่างชาติ การร่วมกันสร้างสะพานมิตรภาพแห่งที่ 5,6,7 และสร้างทางรถไฟฟ้าบริเวณสะพานมิตรภาพแห่งที่ 1 เดินหน้าพัฒนาเส้นทาง R12 เชื่อม East-West Coridor เส้นทางจากเวียดนามผ่าน สปป.ลาว-ไทย -เมียนมาร์ สนับสนุนลาวระดมทุนผ่านกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อนำมาพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ การพัฒนาด้านอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษรับสิทธิพิเศษทางภาษีในการส่งเสริมเอสเอ็มอี เพื่อให้เอสเอ็มอีไทยมาร่วมเป็นพี่เลี้ยงให้กับเอสเอ็มอี สปป.ลาว

สำหรับด้านการท่องเที่ยวรัฐบาลมีแผนใช้งบกลุ่มจังหวัดพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย เลย หนองคาย มุกดาหาร อำนาจเจริญ บึงกาฬ มุ่งพัฒนาเมืองริมโขงทุกสะพานระหว่าง 2 ประเทศให้เป็นเมืองท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมผ่านเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อนำสินค้าโอทอปของไทยและสินค้าโอดอฟ (หนึ่งเมืองหนึ่งผลิตภัณฑ์) ของ สปป.ลาวมาวางจำหน่ายในตลาดประชารัฐของทั้ง 2 ประเทศ เพื่อโปรโมทการท่องเที่ยวริมฝั่งโขงให้มีชีวิตเหมือนกับทัวร์ยุโรป เตรียมจัดทำเรือนำเที่ยวขนาดใหญ่ในแม่น้ำโขง หากนักท่องเที่ยวเดินทางมายังไทยในจังหวัดเลย หนองคาย และจังหวัดในภาคอีสานสามารถท่องเที่ยวฝั่งลาวในเส้นทางเดียวกัน ผ่านการผ่อนปรนวีซ่าชั่วคราวสำหรับการท่องเที่ยวริมโขงและการร่วมจัดทำเมืองสินค้าปลอด (Border Town) ร่วมกัน ส่วนการพัฒนาตลาดทุน หลังจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เข้ามาฝึกอบรมการพัฒนาตลาดทุนระยะหนึ่งแล้ว ต้องการผลักดันให้เอกชนรายใหญ่ของ สปป.ลาวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไทย จากนั้นเชื่อตลาดร่วมกันเพื่อส่งเสริมให้ตลาดหุ้นของ สปป.ลาวเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม

นายสมดี ดวงดี รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจและรัฐมนตรีกระทรวงการเงิน สปป.ลาว กล่าวว่า การค้าระหว่างไทย-สปป.ลาว ส่วนใหญ่จะผ่านชายแดน จึงต้องการให้ไทยอำนวยความสะดวกกับเอกชนของลาว สำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นขนาดใหญ่ต้องการดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน เนื่องจาก สปป.ลาวยังมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ รวมทั้งการเดินหน้าส่งเสริมการพัฒนาสินค้าเกษตรแปรรูป อุปกรณ์ชิ้นส่วนยายนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อดึงไปอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ตลอดจนการพัฒนาระบบสายส่งให้สอดคล้องกับสายส่งของไทย เพื่อรองรับการขายกระแสไฟฟ้าให้กับประเทศเพื่อนบ้านรวมทั้งไทย และต้องการให้เอสเอ็มอีไทยร่วมเป็นพี่เลี้ยงส่งเสริมเอสเอ็มอีของลาวให้เติบโต สปป.ลาว ยังแก้ไขกฎหมายของบีโอไอเพื่อดึงดูดการลงทุนในการยกเว้นภาษีตามเขตพื้นที่ตั้งแต่ 5-15 ปี จึงหวังว่าจะร่วมมือกันมากขึ้นระหว่างไทย- สปป.ลาว