เดินเกมหุ้นสไตล์ 'สามก๊ก' 'ชัชวนันท์ สันธิเดช'

เดินเกมหุ้นสไตล์ 'สามก๊ก' 'ชัชวนันท์ สันธิเดช'

สำรวจเส้นทางเติบโต ตามวิถีลงทุนแนวไอวี 'ชัชวนันท์ สันธิเดช' จาก 'แชมป์สุดยอดแฟนพันธุ์แท้สามก๊ก' สู่เส้นทาง 'นักลงทุนระยะยาว'

วรรณกรรมจีนอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊ก สำหรับ 'ชัชวนันท์ สันธิเดช' เจ้าของรางวัล 'สุดยอดแฟนพันธุ์แท้สามก๊กปี 2551' ในฐานะนักลงทุนเน้นคุณค่า หรือ Value Investment ไม่ได้เป็นเพียงวรรณกรรมเพชรน้ำเอกของโลก แต่เขานำจุดเด่นของตัวละครเอกบางตัวมาใช้เป็นแนวทางการลงทุนตลาดหุ้นในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา

ก่อนจะประสบความสำเร็จบนเส้นทางการลงทุนระยะยาว ชายหนุ่มผู้มีเชื้อสายจีนแต้จิ๋วแท้ๆ เคยทดลองอาชีพมนุษย์เงินเดือนมาแล้วหลากหลายแขนง ไล่มาตั้งแต่ตำแหน่งนักข่าวสายกีฬา หนังสือพิมพ์คมชัดลึก ซึ่งเป็นงานแรกที่ทำหลังจบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะบริหารธุรกิจ (MBA) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ผ่านมาหนึ่งปีตัดสินใจลาออก เพื่อไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท คณะนิเทศศาสตร์ สาขาสื่อสารมวลชน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังสำเร็จการศึกษาไม่นานหันหน้าเข้าสู่แวดวงอสังหาริมทรัพย์ทันที ก่อนจะยื่นใบลาออกอีกครั้ง เพื่ออาชีพอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) นาน 5 ปี

ระหว่างทำหน้าที่อาจารย์ เขามีโอกาสทดลองลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายตัดสินใจลาออก เพื่อมาลงทุนเต็มตัวในปี 2546 ตามคำเชื้อเชิญของเพื่อน แม้ผู้ให้กำเนิดจะมีความเชื่อที่ว่า ตลาดหุ้นไม่แตกต่างอะไรจากแหล่งพนัน และขึ้นชื่อเรื่องความเสี่ยงสูงมากก็ตาม

ผลตอบแทนในช่วงปีแรก จากการนำเงินเก็บ 'หลักล้าน' ที่เกิดจากการสะสมมาตั้งแต่อายุ 20 ปี มาลงทุน ถือว่า ออกมาไม่ดีมากนัก สะท้อนผ่านการขาดทุน หุ้น บ้านปู หรือ BANPU อย่างหนัก หลังทุ่มเงิน 70,000 บาท กวาดหุ้นเข้าพอร์ต 100 หุ้น ราคาหุ้นละ 129 บาท

แม้ก่อนขาดทุนจะได้กำไรมหาศาล หลังราคาหุ้นพุ่งทะยานแตะ 800 บาท นั่นเป็นเพราะเขามีความเชื่อว่า ราคาต้องดีกว่านี้ สุดท้ายสถานการณ์พลิกราคาหุ้นตกต่ำ ปัจจุบันยังคง ถืออยู่ หวังเป็นอนุสรณ์เตือนใจ

ทว่าในช่วงต่อมาแม้จะได้กำไรคืน จากหุ้น ปูนซิเมนต์ไทย หรือ SCC ซื้อ 200 กว่าบาท ขาย 300 บาท แต่เขาตัดสินใจปรับกลยุทธ์การลงทุนใหม่ ด้วยการเดินตามรอยเหล่ากูรูนักลงทุนชื่อดังทั้งในและนอกประเทศ

ไม่ว่าจะเป็น 'เบนจามิน เกรแฮม' บิดาแห่งการลงทุนแบบเน้นคุณค่า 'วอร์เรน บัฟเฟตต์' หรือ 'ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร' เป็นต้น เรียกว่า ค่อยๆก้าวเดินตามคำแนะนำที่ปรากฏอยู่บนหนังสือการลงทุน เช่น 'คัมภีร์การลงทุนแบบเน้นคุณค่า' หรือ 'พ่อรวยสอนลูก' ของ โรเบิร์ต คิโยซากิ เป็นต้น

เจ้าของล็อกอิน ArtVirus เว็บไซต์ ThaiVi.com เล่าให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า แม้จะอ่านหนังสือการลงทุนระยะยาวมาสักพัก แต่ช่วงแรกของการลงทุนแบบวีไอดันเกิดข้อผิดพลาด เพราะเน้นซื้อแต่ของถูกที่ช่วงนั้นมีอยู่เกลื่อนตลาด

เชื่อหรือไม่!! สมัยก่อนมีหุ้นในพอร์ตมากถึง 15-16 ตัว การลงทุนในลักษณะนั้นเปรียบเหมือนเบี้ยหัวแตก แทนที่จะมีกำไรกลับต้องมานั่งซื้อถัวเฉลี่ย เพื่อให้ได้รีเทิร์น

สุดท้าย 'จุดเปลี่ยนการลงทุน' เกิดขึ้นในปี 2551 ช่วงวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ หรือที่คนไทยรู้จักกันดีในชื่อ วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ตอนนั้นตลาดหุ้นลดลงจาก 900 จุด เหลือ 300 จุด หุ้นในพอร์ตขาดทุนทันที 30%

ตอนนั้นคิดอะไรไม่ออก รู้แต่ว่า ต้องทำงานนานกว่า 2 ปี ถึงจะได้เงินก้อนนี้มาลงทุน เมื่อความคิดสะเด็ดน้ำ ตัดสินใจกัดฟันสู้ต่อ ด้วยการปรับพอร์ตหุ้นจาก 16 ตัว เหลือเพียง 4 ตัว คือ หุ้น ซีพี ออลล์ หรือ CPALL หุ้น บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ หรือ BIGC หุ้น เซ็นทรัลพัฒนา หรือ CPN และหุ้น ซีเอ็ดยูเคชั่น หรือ SE-ED

ผ่านมา 1 ปี ตลาดหุ้นเด้งกลับ พอร์ตพลิกเป็นกำไรทันที (ระหว่างทางเติมเงินตลอด) บทเรียนครั้งนั้นสอนให้รู้ว่า ถ้าจำเป็นต้องตัดในช่วงฝุ่นตลบจงเก็บหุ้นที่มีความเข้าใจธุรกิจเอาไว้แล้วรอวันกลับมางอกเงยอีกครั้ง ปัจจุบันพอร์ตหุ้นขยับขึ้นจาก 'หลักล้าน' เป็น 'หลักสิบล้าน' แล้ว

นักลงทุนวีไอ เล่าต่อว่า การลงทุนในยุคตลาดหุ้นผันผวน ตามสถานการณ์นอกประเทศเช่นนี้ อาจทำให้นักลงทุน ไม่เจอหุ้นเปลี่ยนชีวิต ไม่เหมือนในอดีตที่นักลงทุนวีไอหลายคนได้ 'หุ้นค้าปลีกเปลี่ยนชีวิต' สาเหตุสำคัญคงมาจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ยังคงไม่ฟื้นตัวเต็มที่

แต่หากพิจารณาจุดแข็งเมืองไทยจะพบว่า 'กลุ่มท่องเที่ยว' ยังคงเป็นกิจการที่น่าสนใจในแง่ของการลงทุน แม้กำลังซื้อในประเทศหด ค่าเงินบาทอ่อนตัว แต่นักท่องเที่ยวยังคงเลือกมาใช้เงินในเมืองไทยเหมือนเคย ฉะนั้นกิจการนี้ยังคงเก็บเกี่ยวเงินได้ตลอดปี ดังนั้นในช่วงที่ผ่านมามักมีหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวติดพอร์ตเสมอ เช่น โรงแรม ,สนามบิน ,น้ำมันเครื่องบิน และสุขภาพ เป็นต้น

เมื่อถามถึงดาวเด่นประจำพอร์ต เขาตอบว่า ตอนนี้หลักๆมีอยู่ 4 ตัว คือ 1.กลุ่มโรงแรม คิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ย 20% ของพอร์ต ต้นทุนหุ้นตัวนี้ 20 กว่าบาท ความน่าสนใจขององค์กรแห่งนี้ คือ โครงสร้างธุรกิจมีทั้งโรงแรมและอาหาร ในฝั่งของโรงแรมไม่ได้จำกัดตัวอยู่เพียงเมืองไทย แต่กระจายไปทั่วโลก ฉะนั้นเมื่อแหล่งไหนเกิดปัญหา ก็จะมีรายได้จากแหล่งอื่นมาชดเชย

2.กลุ่มค้าปลีก เป็นหุ้นที่ลงทุนมานานแล้ว ตอนนี้มีกำไรจากหุ้นตัวนี้แล้วประมาณ 400% ข้อดีของกิจการนี้ คือ เป็นธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตเรื่อยๆ ไม่ว่าจะไปลงทุนที่มุมไหนก็มีแต่คนมาใช้บริการ ฉะนั้นไม่มีทางเจ๊งแน่นอน ที่สำคัญบริษัทยังมีแผนธุรกิจชัดเจนว่า แต่ละปีจะมีการขยายการลงทุนกี่แห่ง

3.กลุ่มท่องเที่ยว เพิ่งซื้อมาเมื่อ 2 ปีกว่า ชอบตรงที่เป็นธุรกิจผูกขาด ทุกคนต้องใช้บริการไม่สามารถไปใช้บริการที่อื่นได้ ที่สำคัญยอดใช้บริการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 4.หุ้นที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ซึ่งหุ้นตัวนี้จ่ายเงินปันผลดีเฉลี่ย 4-5%

สำหรับกลยุทธ์การลงทุน คงหนีไม่พ้นการ 'ซื้อกิจการที่ดีมีการเติบโตต่อเนื่อง' โดยมีหลักในการเลือกห้าข้อ คือ ข้อแรก ลงทุนในธุรกิจที่มีกำไรเติบโตปีละ 15% ขึ้นไป ยกเว้น ในปี 2558 ที่หลากหลายธุรกิจเติบโตลดลง ฉะนั้นต้องปรับลดคุณสมบัติการขยายตัวลงบ้างพูดง่ายๆว่า วิเคราะห์ไปตามสถานการณ์

ข้อสอง องค์กรแห่งนั้นต้องมีผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น หรือ ROE เฉลี่ย 15% ตัวเลขดังกล่าวบ่งบอกว่า นักลงทุนใส่เงินไปแล้วจะได้คืนเท่าไหร่ ที่สำคัญนักลงทุนจะรู้ว่าบริษัทแห่งนั้นจะสร้างผลตอบแทนจากเงินลงทุนในอัตราเท่าไหร่ แต่ก็ต้องระวังเรื่องหนี้ด้วย หมายความว่า ถ้า ROE สูง แต่มาจากหนี้ ก็ถือว่าไม่ดี

ข้อสาม อัตราหนี้สินต่อทุน หรือ D/E ไม่ควรเกินระดับ 1.5 เท่า ดีที่สุดไม่ควรเกิน 1 เท่า ข้อสี่ เลือกบริษัทที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผลไม่ต่ำกว่า 40-50% สุดท้าย ข้อห้า บริษัทแห่งนั้นควรมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานอยู่ในระดับที่ดีและเป็นบวก

'ผมไม่ได้เป็นคนเก่ง บังเอิญโชคดีเข้ามาลงทุนในยุคทองตลาดหุ้น ทำให้เจอหุ้นเปลี่ยนชีวิต หากเปรียบชีวิตการลงทุนของตัวเองกับตัวละครสามก๊ก คงหนีไม่พ้น “โจโฉ” เขาไม่ใช่คนเก่ง แต่เป็นคนมีหลักการในการใช้ชีวิต' นักลงทุนวีไอ ยืนยันเช่นนั้น

วีไอที่ดีต้อง 'ใจเย็น' 

เจ้าของรางวัลสุดยอดแฟนพันธุ์แท้สามก๊กปี 2008 ชื่นชอบการอ่านวรรณกรรมจีนอิงประวัติศาสตร์มาตั้งแต่อายุ 10 ปี เรียกว่า เจริญรอยตามผู้เป็นพ่อ ในฐานะหนึ่งในผู้ถือหุ้นโรงเรียนสอนภาษาจีน ปัจจุบันมีทั้งหมด 5 สาขา

ชัชวนันท์ บอกว่า 'สามก๊ก' เปรียบเหมือน 'แผนที่ชีวิต' ไม่ว่าวันเวลาจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัย แต่พฤติกรรมของมุนษย์ไม่เคยเปลี่ยนแปลง บนโลกใบนี้ยังมีคนแบบ โจโฉ ,ตั๋งโต๊ะ, ลิโป้ ,เล่าปี่,กวนอู หรือ เตียวหุย เป็นต้น ที่สำคัญวรรณกรรมจีนอิงประวัติศาสตร์เล่มนี้ยังคอยเตือนตัวเองเสมอว่า หากคิดจะทำเรื่องใหญ่ต้องทบทวนและคิดให้รอบคอบ

เมื่อถามถึงตัวละครเอกที่ชื่นชอบ เขาตอบว่า ตัวละครเรื่องสามก๊กมีอยู่กว่า 1,000 ตัว แต่ตัวเด่นที่เป็น 'พระเอก' มีอยู่ประมาณ 100 ตัว ส่วนตัวชอบ 'โจโฉ' มากที่สุด ถือเป็นคนที่มีทั้งสติปัญญาและความทะเยอทะยาน

หลายคนอาจมองว่า โจโฉเป็นคนไม่ดี แต่แท้จริงแล้วมนุษย์ ก็มีทั้งด้านดีและไม่ดีผสมกันไป คล้ายกับ 'เล่าปี่' ที่ทุกคนมองว่า เป็นคนดี แต่ขึ้นชื่อว่ามุนษย์ย่อมมีครบทุกด้าน ตัวละครที่ชื่นชอบอีกตัว คือ 'จิวยี่' ถือเป็นคนที่มีความสามารถหลากหลายด้าน รบเก่ง เล่นดนตรีได้ แถมแฟนสวยอีกต่างหาก ที่สำคัญมีความเป็นสุภาพบุรุษ

'ชอบตัวละครลักษณะไหนจงนำวิธีคิดของตัวละครนั้นมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน และชีวิตของการลงทุน ถือเป็นการเขียนแผนชีวิต' 

ตัวละครเหล่านั้นยังสามารถนำมาเป็นต้นแบบในการลงทุนได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็น 'โจโฉ' ด้วยความที่เป็นคนทะเยอทะยานอยากเป็นใหญ่ ฉะนั้นเขาจะตั้งใจวางแผนให้ดีก่อนเริ่มงานทุกครั้ง ซึ่งข้อดีเหล่านี้สามารถนำมาปรับใช้ในการลงทุนแนววีไอได้อย่างดี

สุมาอี้ ตัวละครเอกตัวนี้ก็น่าสนใจ เพราะรู้จักรอจังหวะและเวลาที่เหมาะสม ยกตัวอย่าง ช่วงโจโฉเป็นใหญ่ ด้วยความที่ไม่ลงรอยกัน สุมาอี้จะอยู่เฉยๆ ไม่แสดงบทบาทอะไรมาก เพราะไม่ต้องการให้ภัยมาถึงตัว

'ตัวละครเหล่านี้ทำให้คิดได้ว่า การเป็นนักลงทุนวีไอที่ดีต้องใจเย็นๆ รอได้จงรอ อย่าทำตัวเหมือน 'เตียวหุย' หรือ 'ลิโป้' ที่มีแต่ความบ้าระห่ำ ไม่มีสติปัญญาใจร้อนไปหมดทุกเรื่อง หรืออย่าเป็นแบบ 'เล่าปี่' ที่ทุกคนมองว่าเป็นพระเอก แต่แท้จริงแล้วเป็นคนโหดร้าย'